HR & employers | 1 June 2022

ไขข้อสงสัย! ทำไมพนักงานเก่งๆ ถึงลาออกกันหมด

 

" ความสัมพันธ์ที่ดี ซื้อใจมากกว่ากำไรของบริษัท "

 

คนส่วนใหญ่อยู่กับบริษัทได้นาน เพราะเขาชื่นชอบในตัวเพื่อนร่วมงานและเจ้านาย ไม่มีพนักงานคนไหน ทำงานเพราะใส่ใจผลกำไรของบริษัทหรอก… ซื้อใจพวกเขาด้วยมิตรไมตรีที่ดีสิ

หลายบริษัททุ่มเงินมหาศาลไปกับการอบรมพนักงาน เพิ่มศักยภาพให้พวกเขา ด้วยการจัดครอสอบรมนี่นั่นมากมาย ส่งไปฟังสัมมนาดีๆ หลายรอบ แต่สุดท้าย.. พนักงานของพวกเขาก็เดินจากไป หากจะโทษว่าฝ่าย HR รับคนมาไม่ดี ก็คงไม่ใช่เสียทีเดียวเพราะหลายครั้ง พนักงานส่วนใหญ่ตัดสินใจลาออก เพราะการบริหารงานภายในองค์กรของหลายๆ ฝ่ายต่างหาก

มาทบทวนกันดีกว่า ว่าบริษัทของคุณ ได้พลาดพลั้งทำบางข้อข้างล่างนี้ลงไปบ้างหรือเปล่า?

 

 

 

10 เหตุผลที่ทำให้พนักงานเก่งๆลาออก


 

1.ทำงานหนักเกินไป

ได้ยินกันบ่อยๆ กับประโยค “ไม่มีใครตายเพราะทำงานหนัก” แต่หลายคนก็เป็นโรคซึมเศร้า สูญเสียเวลาของชีวิตในการอยู่กับคนรัก หรือครอบครัว หรือได้ทำตามความฝันในสิ่งที่ชอบเพราะเขาใช้เวลาทั้งชีวิตทุ่มเทกับการทำงาน อย่าแปลกใจที่คุณจะพบว่า มีพนักงานในองค์กรของคุณหลายคนที่ทยอยเดินไปหา HR เพื่อยื่นใบลาออก

ทั้งๆ ที่เขาไม่ใช่พวกไม่มีความอดทนไม่สู้งานแต่อย่างไร ถ้าคุณมองเขาด้วยความเห็นใจ ลองค้นลงไปลึกๆ และเขาเปิดปากออกมาว่า “เขาเหนื่อย” นั่นแหละคือเหตุผล หลายบริษัทเคี่ยวเข็ญให้พนักงานเอาแต่ทำงาน ทำงาน และทำงาน! แต่นั่นก็ไม่หนักหนา หากเขามีใจรักที่จะทำงานจริงๆ แต่หลายครั้งบริษัทสตาร์ทอัพที่ให้พนักงานทำงานแบบไร้แผน ไร้ระบบ และต้องทำทุกอย่างให้เสร็จในเวลาอันน้อยนิด และทุกงานคืองานด่วน! แบบนี้แหละ ใครเข้าไปก็ต้องออกทุกราย

 

2.คำชมไม่เคยมี ความดีไม่เคยปรากฎ

จะมีอะไรน่าน้อยใจกว่าการทำดีแต่ไม่เคยได้รับคำชมอีกหล่ะ  ลองสำรวจว่าผู้บริหารในองค์กรของคุณ เป็นพวกปากหนัก ไม่ค่อยชมพนักงานรึเปล่า หรือว่าเขาแค่เห็นว่าพนักงานมีความสามารถอยู่แล้วจนละเลยคำชม แต่อย่าลืมว่า มันสำคัญมาก!!! เพราะมันเป็นยาใจชั้นดี ที่จะเชื่อมให้พวกเขาอยากทำงานล่ะ

อย่างน้อย คำว่า “ขอบคุณ” ก็มีค่าต่อใจแล้ว อ่านเทคนิคชื่นชมพนักงานให้ภาคภูมิใจได้ ที่นี่ 

 

3.โปรโมทคนอย่างไม่เหมาะสม

บ่อยครั้งที่บริษัทจ้างคนที่ไม่เหมาะกับตำแหน่งเข้ามาทำงาน ทำให้พวกเขาดิ้นรนทนกับงานที่ไม่ใช่ ได้ไม่นาน แน่นอนว่าการฝืนตัวเองเป็นเรื่องที่ยากอยู่แล้ว เช่นเดียวกัน ที่บางครั้งบริษัทก็เลื่อนขั้นพนักงานอย่างไม่เหมาะสม ทำให้เกิดการเปรียบเทียบของพนักงานด้วยกัน ว่าเขาไม่สมควรได้รับการเลื่อนขั้นขนาดนั้น แต่ก็ดันได้ ในขณะที่หลายๆ คนมีความสามารถ และขยันแทบตาย แต่กลับถูกมองข้ามไปเฉยๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนจริงๆ

 

4.ไม่ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติม

ความกระตือรือร้นและทะเยอทะยาน คือนิสัยอย่างหนึ่งของพนักงานเก่งๆ หากบริษัทของคุณไม่มีอะไรที่จะท้าทายความสามารถของพวกเขา หรือทำให้เขาได้เรียนรู้ต่อไปอีก พนักงานเหล่านี้จะรู้สึกเบื่อ และไม่มีแรงจูงใจใดๆ ในการทำงานอีกต่อไป

 

5.ไม่ใส่ใจพนักงาน

หัวหน้าที่ไม่ใส่ใจความเป็นไปของพนักงาน ไม่ว่าจะเป็น ความลำบากของชีวิตเขา การจัดสรรเวลาส่วนตัวและเวลาการทำงาน สิ่งเหล่านี้ทำให้พนักงานอยากที่จะลาออกทั้งสิ้น ที่แย่กว่านั้นคือหัวหน้าหลายคนถามสารทุกข์สุขดิบของพนักงานเมื่อเขาต้องการมอบหมายงานให้ทำเท่านั้น แต่ไม่เคยใส่ใจพวกเขาจริงๆ  และเรื่องเหล่านี้เป็นเซ้นที่มนุษย์ทุกคนสัมผัสได้ หากคุณไม่ได้ทำมันด้วยความจริงใจ ทางออกที่ดีที่สุดคือ ใส่ใจในชีวิตความเป็นไปของพนักงานจริงๆ และห่วงใยเขาเหมือนเขาคือคนในครอบครัวของคุณ

 

6.ไม่สร้างแรงกระตุ้นในการทำงาน

หัวหน้าหลายคนไม่รู้วิธีที่จะกระตุ้นการทำงานของพนักงาน ทำให้องค์กรเต็มไปด้วยความเฉื่อยแฉะและเบื่อหน่าย งานเดิมๆ ซ้ำๆ ทุกวัน ไม่มีอะไรแปลกใหม่มาท้าทายชีวิตการทำงานนี่แหละ คือสาเหตุหลักที่ทำให้พนักงานหนีเลย

 

7.มอบหมายงานง่ายๆ ให้คนเก่ง

คนเก่งหลายคนต้องการความท้าทายในการทำงาน เหมือนการก้าวขึ้นบันไดไปเรื่อยๆ หากคุณให้พวกเขาย่ำอยู่ที่เดิม ด้วยงานง่ายๆ ซ้ำๆ พวกเขาจะทนมันไม่ไหว จนต้องดิ้นรนหาองค์กรอื่น

 

8.หัวหน้าไม่เป็นตัวอย่างที่ดี

พนักงานหลายคนทนไม่ไหว กับหัวหน้าที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม  หัวหน้าที่เคี่ยวเข็ญให้พนักงานทำงานอย่างหนัก แต่ตนกลับไม่ทำเป็นแบบอย่าง หรือชี้แนะในสิ่งที่เหมาะสม เรียกได้ว่า การกระทำสวนทางกับคำพูด ทางออกที่ง่ายที่สุด คือ คุณต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี เพื่อให้ลูกน้องของคุณทำตามด้วย

อ่านเทคนิคการบริหารพนักงานของ Facebook ที่นี่

 

9.ละเลยความสำคัญของ “Passion”

หลายบริษัทละเลยการสร้างความตระหนักถึง “Passion” ของพนักงาน พวกเขาให้พนักงานทำงานเดิมซ้ำๆ โดยปราศจาก Passion  ลองจินตนาการถึงหุ่นยนต์สิ ทำงานเดิมซ้ำๆ ทุกวัน อย่างไม่มีจิตวิญญาณ อย่าปล่อยให้พนักงานของคุณเป็นแบบนั้น ให้เวลาพวกเขาได้ตามหา Passion และพวกเขาจะมีพลังในการทำงานอย่างมหาศาลเลยทีเดียว
 

 

10. Employer Branding ของบริษัทไม่แข็งแรง

Employer Branding หรือ แบรนด์นายจ้างนั้นส่วนใหญ่คนจะคิดว่าเป็นการสื่อสารเพียงให้ภายนอกได้รับรู้ และเพื่อการสรรหาบุคลากรใหม่เข้ามา แต่ความจริงแล้วการสร้างแบรนด์นั้นยังช่วยรักษาพนักงานปัจจุบันให้ไม่ลาออกไปได้ อีกทั้งยังทำให้พนักงานผูกพันธ์กับบริษัทมากขึ้น เกิดความภูมิใจกับบริษัทที่ตนเองทำงานอยู่ แต่ในทางกลับกัน ถ้าบริษัทของคุณมีแบรนด์นายจ้างที่ไม่แข็งแรง หรือบริษัทคู่แข่งของเรามีแบรนด์นายจ้างแข็งแกร่งกว่า ก็อาจจะดึงดูดพนักงานเก่งๆของเราให้อยากไปทำงานด้วยก็เป็นไปได้ ดั้งนั้นบริษัทควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน คนเก่งๆจะได้อยู่กับบริษัทไปนานๆ 

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการสร้างและประโยชน์ Employer Branding ได้ที่นี้ ทำ Employer Branding แล้วดียังไง?


 

“เพราะทุกครั้งที่มีพนักงานลาออก มันได้สะท้อนถึงหลายๆ อย่างในบริษัทของคุณ”

 


 

เป็นอย่างไรกันบ้าง มีข้อไหนที่บริษัทของคุณได้พลาดพลั้งทำลงไปหรือไม่และถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่คุณจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง และหากคุณเป็นพนักงานที่กำลังอ่านบทความนี้ ลองเช็คดูสิ ว่าบริษัทที่คุณกำลังตัดสินใจจะลาออก คือ บริษัท 7 แบบ ที่คุณไม่ควรทำงานด้วย หรือเปล่า