
เทคนิคพื้นฐานที่ควรรู้ อยากฝึกงานต้องเริ่มยังไง
เคยเป็นกันไหม? ที่ต้องหาที่ฝึกงาน แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นจากตรงไหน หรือไม่แน่ใจว่าควรทำอะไรเป็นลำดับแรก พูดตรงๆ เลยว่าการหาที่ฝึกงานคือภารกิจยิ่งใหญ่ของนักศึกษาสุดๆ แถมยังต้องแข่งขันกับคนอื่นอีกด้วย แต่เดี๋ยว! ทุกคนมีจุดเริ่มต้นของตัวเอง เพราะงั้นอย่าเพิ่งคิดลบ แล้วตั้งสติก่อนนะ
การหาที่ฝึกงานสำหรับนักศึกษาในยุคนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องพิจารณาหลาย ๆ ปัจจัย เช่น ระยะเวลาของการฝึกงาน วิธีการเดินทาง หรือที่อยู่อาศัย และการฝึกงานก็เหมือนเป็นการทดลองว่าตัวเราจะสามารถทำงานนี้ในอนาคตได้มั้ย งานนี้เหมาะกับเราจริงๆหรือไม่ และสำหรับคนที่รู้ว่าอยากทำอะไรแล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะเลือกบริษัทยังไง เตรียมตัวสัมภาษณ์แบบไหน และต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง วันนี้ WorkVenture จะมาแนะนำวิธีเตรียมตัวฝึกงานให้ชาวนักศึกษาแบบเข้าใจง่าย! ตั้งแต่วิธีการหาที่ฝึกงานอย่างไรให้ได้ที่ที่ใช่ เตรียมตัวยังไงให้พร้อมที่สุด รวมถึงเคล็ดลับให้สัมภาษณ์ได้ปังๆ ว่าแล้ว ก็ไปอ่านกันเลย!
1. ทำความเข้าใจตัวเองและเป้าหมายในการฝึกงาน
ก่อนที่นักศึกษาอย่างเราจะเริ่มฝึกงาน สิ่งแรกที่สำคัญคือการทำความเข้าใจตัวเองและเป้าหมายที่ต้องการจากการฝึกงาน ลองถามตัวเองดูว่า “อยากเรียนรู้อะไรจากการฝึกงานครั้งนี้?” หรือ “อยากพัฒนาในด้านไหน?” เช่น เราอยากพัฒนาทักษะทางเทคนิค หรืออยากเรียนรู้การทำงานเป็นทีม คำตอบจากคำถามพวกนี้จะช่วยให้เราตัดสินใจเลือกบริษัทและตำแหน่งที่เหมาะกับตัวเองได้
เคล็ดลับ!
-
ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน: ในการฝึกงานครั้งนี้อยากเรียนรู้อะไร หรือมีความตั้งใจที่จะพัฒนาทักษะอะไรบ้าง เพราะถ้าตั้งเป้าหมายไว้แล้ว จะช่วยให้เห็นภาพรวมได้มากขึ้น
-
เปิดใจเรียนรู้จากทุกโอกาส: ไม่ว่าจะเป็นงานใหญ่หรืองานเล็กๆ ก็ควรเปิดใจเรียนรู้จากทุกด้าน เพราะทุกประสบการณ์สามารถช่วยให้เราเติบโตได้
2. เลือกบริษัทที่ใช่
การเลือกบริษัทที่จะฝึกงานถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะมันไม่ใช่แค่การเลือกที่ทำงาน แต่คือการเลือกสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้เราเรียนรู้และเติบโตได้ดีที่สุด เมื่อเลือกบริษัทที่เหมาะสมกับตัวเองจะทำให้การฝึกงานไม่รู้สึกเป็นภาระ แต่กลายเป็นประสบการณ์ที่สนุกและเต็มไปด้วยการพัฒนา แต่อย่าลืมว่า ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้น เราต้องเริ่มจาก
-
ถามจากคนที่มีประสบการณ์: ถามจากเพื่อนหรืออาจารย์ ที่เคยฝึกงานหรือทำงานในบริษัทที่สนใจ เพราะการถามคนใกล้ตัวอย่างอาจารย์ ก็สามารถทำให้เรารู้ข้อมูล พร้อมปรึกษาเพิ่มเติมได้ด้วย และการได้รับคำแนะนำจากคนที่มีประสบการณ์จะช่วยให้ตัดสินใจได้ดีขึ้น
-
หาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทที่ใช่: ปัจจุบันก็มีหลายบริษัทที่มักประกาศรับสมัครนักศึกษาฝึกงานผ่านเว็บไซต์หรือเพจของบริษัทเอง ถ้าเราอยากร่วมงานกับบริษัทไหน ก็สามารถหาข้อมูลตำแหน่งที่เปิดรับสมัครและข้อมูลของบริษัทผ่านช่องทางเหล่านี้ และแพลตฟอร์มอีกหลากหลาย อย่าง LinkedIn, Facebook Page หรือแม้กระทั่ง TikTok ซึ่งเป็นช่องทางที่นักศึกษาหลายคนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี การหาข้อมูลจากช่องทางเหล่านี้ช่วยให้เรารู้ว่าวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทนั้น ๆ เป็นอย่างไร และเราสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในที่ทำงานได้ไหม รวมทั้งรู้ว่าเราควรวางตัวยังไงเมื่อได้ฝึกงานที่นี่
-
ใช้เว็บไซต์หางาน: ในยุคนี้การหาตำแหน่งฝึกงานสำหรับนักศึกษาไม่ใช่แค่เข้าไปดูที่เว็บไซต์ของบริษัทเพียงอย่างเดียวแล้วนะ เพราะหลายบริษัทอาจไม่ได้โพสต์รายละเอียดการฝึกงานบนเว็บไซต์ของตัวเอง หรือถึงมี ก็ไม่ได้อัปเดตข้อมูลอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นการหาข้อมูลจากเว็บไซต์หางาน ที่เชื่อถือได้ จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่สำคัญและไม่ควรมองข้าม การหาข้อมูลผ่านเว็บไซต์หางานจะช่วยให้เราทราบข้อมูลตำแหน่งฝึกงานที่เปิดรับอย่างละเอียดและชัดเจน รวมทั้งยังสามารถอ่านรีวิวจากผู้ที่มีประสบการณ์มาก่อน แถมวิธีนี้ช่วยให้เข้าถึงข้อมูลได้สะดวก สบาย ไม่ต้องเดินทางไปที่บริษัทหรือรอประกาศงานที่อาจเกิดความล่าช้า ทำให้เราไม่พลาดโอกาสดี ๆ ในการฝึกงานที่เราอยากได้ด้วย
3. เตรียมเอกสารและPortfolio
การเตรียมเอกสารให้พร้อมสำหรับการสัมภาษณ์ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สะท้อนถึงความตั้งใจและความใส่ใจของเรามีต่อบริษัท โดยเอกสารที่เรานำไปในวันสัมภาษณ์นั้น ควรพร้อมและครบถ้วน เพื่อแสดงถึงความเป็นมืออาชีพและการเตรียมตัวมาอย่างดี และสิ่งที่นักศึกษาแบบเราห้ามลืมอีกอย่างก็คือ Portfolio หรือแฟ้มสะสมผลงาน เพราะสิ่งนี้เป็นเหมือนเครื่องมือที่ช่วยเล่าเรื่องราวของเราตั้งแต่ รายละเอียดส่วนตัว กิจกรรมที่เคยเข้าร่วม หรือผลงานที่เคยทำมา โดยเฉพาะผลงานที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งฝึกงานที่เราสมัคร หากเรามีผลงานที่มีคุณภาพและตรงกับความต้องการของบริษัท มันจะยิ่งช่วยเพิ่มโอกาสให้เราโดดเด่นและได้รับความสนใจจากผู้สัมภาษณ์มากขึ้น และนี่คือตัวอย่างของ เรซูเม่ ที่ดี และเรซูเม่ที่ไม่ควรทำ
ที่มา : https://zety.com/blog/personal-details-in-resume
4. เตรียมตัวสัมภาษณ์ให้พร้อม
ขั้นตอนถัดไปคือการการสัมภาษณ์ ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญสำหรับนักศึกษาฝึกงาน เพราะสามารถตัดสินว่าจะได้เข้าฝึกงานในบริษัทนั้นหรือไม่ การตอบคำถามแต่ละข้อเป็นการแสดงทัศนคติของเรา ทั้งในด้านการทำงานและชีวิตส่วนตัว ซึ่งจะช่วยให้ผู้สัมภาษณ์ประเมินว่าเรามีคุณสมบัติเหมาะสมกับวัฒนธรรมของบริษัทหรือเปล่า และยังเป็นโอกาสที่บริษัทจะได้เห็นทั้งความสามารถและความตั้งใจของเรา ดังนั้น การเตรียมตัวให้ดีไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มความมั่นใจในการตอบคำถาม แต่ยังเพิ่มโอกาสที่เราจะได้ตำแหน่งฝึกงานที่ต้องการด้วย!
-
ศึกษาข้อมูลของบริษัทและแผนกที่ลงสมัครไป
การศึกษาข้อมูลเบื้องต้นของบริษัทไม่เพียงแค่เรื่องวิสัยทัศน์และพันธกิจ แต่ยังรวมถึงการทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมองค์กร, ผลิตภัณฑ์หรือบริการหลักของบริษัท, โครงสร้างองค์กร, และข่าวสารหรือกิจกรรมล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับบริษัท รวมถึงสายงาน และตำแหน่งงานที่สมัครไป เพื่อแสดงให้เห็นว่าเรามีความเข้าใจตำแหน่งนี้มากแค่ไหน และลักษณะการทำงานของบริษัทเป็นอย่างไร เช่น เมื่อเราลงสมัครแผนกการตลาด เราต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับแบบทดสอบที่ผู้สัมภาษณ์ จะถาม ซึ่งอาจเป็นการทดสอบไหวพริบและความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญสำหรับการสัมภาษณ์ก็คือ ภาษาที่ใช้ควรเป็นภาษาที่สุภาพ หากว่าคุณสมัครกับบริษัทต่างชาติ คุณจำเป็นต้องเตรียมการแนะนำตัว และการตอบคำถามเป็นภาษาอังกฤษไปด้วย -
ฝึกตอบคำถามสัมภาษณ์ที่อาจเกิดขึ้น
การเตรียมตัวโดยการฝึกตอบคำถามที่อาจถูกถามในการสัมภาษณ์เป็นสิ่งสำคัญ เช่น “ทำไมถึงอยากฝึกงานที่นี่?” ,“จุดแข็งของตัวเองคืออะไร?” หรือ “คิดว่าจะได้เรียนรู้อะไรจากการฝึกงานครั้งนี้?” การฝึกตอบคำถามเหล่านี้ล่วงหน้า ช่วยให้เราคิดคำตอบได้เร็วและไม่รู้สึกประหม่าในตอนสัมภาษณ์ เพราะถ้าไม่ฝึกเตียมคำตอบไว้ก่อน เราจะรู้สึกเครียดและอาจตอบออกมาไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้นการฝึกจะช่วยให้เราตอบคำถามได้อย่างมั่นใจและเป็นธรรมชาติ
ตัวอย่างคำถาม “ทำไมถึงอยากฝึกงานที่นี่”
คำตอบ “จอยอยากฝึกงานที่นี่ เพราะจอยชื่นชอบที่บริษัทเน้นการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี และจอยก็อยากมีโอกาสเรียนรู้ และพัฒนาทักษะการทำงานในสภาพแวดล้อมที่ท้าทาย จอยเชื่อว่าการฝึกงานจะช่วยให้จอยได้เข้าใจการทำงานในโลกจริง แล้วนำความรู้ที่ได้จากการเรียนมาใช้ได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้จอยยังอยากพัฒนาทักษะ เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการทำงานในอนาคตค่ะ”
ตัวอย่างคำถาม “อะไรคือจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเอง”
คำตอบ “จอยมีจุดแข็งในการทำงานเป็นทีมดีค่ะ แล้วก็ชอบช่วยเหลือเพื่อนๆ จอยสื่อสารได้ชัดเจนและเข้าใจง่าย ทำให้การทำงานร่วมกันราบรื่น ส่วนจุดอ่อนคือบางครั้งจอยทำงานหลายอย่างพร้อมกันแล้วรู้สึกกดดัน เลยพยายามปรับปรุงเรื่องการจัดการเวลา และใช้เครื่องมือช่วยในการจัดลำดับความสำคัญของงานต่างๆ ค่ะ”
ไม่ควรใช้คำว่า “หนู" แทนตัวเองในตอนที่สัมภาษณ์ เพราะฟังดูแล้วไม่เป็นทางการเท่าไหร่ การใช้ชื่อเล่นจะทำให้ดูเป็นกันเองและเข้าใจง่าย แต่ควรบอกกับผู้สัมภาษณ์ก่อนนะ ว่าเราจะแทนตัวเองด้วยชื่อเล่น
-
เตรียมคำถามที่อยากถามผู้สัมภาษณ์
การถามคำถามจะช่วยแสดงให้เห็นถึงความสนใจในโปรเจกต์ต่าง ๆ ของบริษัท เช่น “สามารถบอกได้ไหมว่าอะไรคือคุณสมบัติที่บริษัทมองหาจากนักศึกษาฝึกงาน?” หรือ “อยากรู้ว่าการทำงานที่นี่มีบรรยากาศเป็นยังไงบ้างครับ/คะ?” คำถามเหล่านี้จะทำให้นักศึกษาแบบเราดูเป็นคนที่เตรียมตัวมาอย่างดีและมีความตั้งใจจริงในการฝึกงานที่นี่
-
การรักษาเวลาคือเรื่องใหญ่ อย่าปล่อยผ่าน
แน่นอนว่าในปัจจุบันหลายบริษัทสัมภาษณ์ผ่านทางออนไลน์ แต่ก็ยังมีบางที่ที่ต้องเดินทางไปสัมภาษณ์ที่บริษัทเอง ดังนั้นควรวางแผนเวลาเดินทางให้ดี และพยายามไปถึงก่อนเวลานัด 10-15 นาที การไปถึงก่อนจะช่วยให้เรามีเวลาเตรียมตัวให้พร้อมก่อนสัมภาษณ์ และยังทำให้ผู้สัมภาษณ์เห็นว่าเราคือนักศึกษาที่มีความรับผิดชอบและตรงต่อเวลา ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ดีมากในการทำงาน
-
แต่งตัวให้ดูมืออาชีพ
แม้ว่าจะเป็นการสัมภาษณ์ฝึกงาน แต่การแต่งตัวให้ดูดียังสำคัญมาก เพราะมันช่วยสร้างความประทับใจแรกที่ดีได้ ในยุคนี้หลายบริษัทไม่บังคับใส่ชุดนักศึกษาสำหรับสัมภาษณ์แล้ว เราจึงควรแต่งตัวแบบมืออาชีพ เลือกเสื้อผ้าที่เรียบร้อย ไม่ต้องหรูหราเกินไป แค่ให้ดูพร้อมทำงาน เช่น เสื้อเชิ้ต กางเกงหรือกระโปรงที่ดูสุภาพ ไม่ต้องมีลวดลายหรือรายละเอียดมาก เครื่องประดับก็เลือกแบบที่เรียบง่าย เช่น นาฬิกาหรือสร้อยที่ไม่เยอะเกินไป
ตัวอย่างการแต่งตัว ที่ไม่ควรใส่ไปสัมภาษณ์งาน
ตัวอย่างการแต่งตัวที่เหมาะสมสำหรับสัมภาษณ์งาน
-
รักษาความมั่นใจและท่าทางที่ดี
ท่าทางและการแสดงออกในระหว่างสัมภาษณ์ก็สำคัญไม่น้อย ถึงจะเป็นนักศึกษาก็ควรแสดงความมั่นใจในการตอบคำถาม ไม่จำเป็นต้องพูดเร็วหรือรีบร้อน ค่อย ๆ พูดอย่างชัดเจน และไม่ลืมยิ้มบ้างเพื่อให้บรรยากาศของการสัมภาษณ์เป็นไปอย่างเป็นกันเอง แต่ยังคงดูมืออาชีพ -
เคล็ดลับ! วางตัวแบบนี้แหละ มีชัยไปกว่าครึ่ง!
ตอนสัมภาษณ์ การแสดงออกทางท่าทางและบุคลิกเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้คำตอบที่เราพูด เพราะงั้นการวางตัวให้ดูดีจะช่วยเสริมความมั่นใจ และทำให้ดูมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น ซึ่งวิธีง่ายๆ ที่จะช่วยให้เหล่านักศึกษาดูดีในระหว่างสัมภาษณ์ นั่นก็คือ
-
นั่งหลังตรง: การนั่งหลังตรงจะทำให้ดูมั่นใจ แต่อย่าลืมว่า posture ที่ดีจะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและลดความเครียดในตัวได้ด้วย
-
สบตาผู้สัมภาษณ์เป็นระยะๆ : การสบตาผู้สัมภาษณ์จะทำให้เราดูเป็นคนที่มีความมั่นใจ และแสดงถึงความจริงใจในการตอบคำถาม แต่ถึงอย่างนั้น ก็อย่าสบตานานเกินไป เพราะจะทำให้ดูไม่เป็นธรรมชาติ
-
เก็บสีหน้าให้ดี: อย่าลืมควบคุมสีหน้าของตัวเองให้เหมาะสมกับสถานการณ์ การทำสีหน้าที่เป็นกลางหรือยิ้มเล็กน้อยจะทำให้บรรยากาศการสัมภาษณ์ราบรื่นมากขึ้น ไม่ควรทำสีหน้าที่ดูเครียดหรือไม่สบอารมณ์ เพราะอาจทำให้ผู้สัมภาษณ์รู้สึกไม่ค่อยดี
-
ไม่ขยับตัวบ่อย: อย่าทำท่าทางที่ดูลุกลี้ลุกลน เช่น การโยกตัวไปมาหรือการเล่นมือ เพราะมันทำให้คุณดูวิตกกังวลและไม่สุภาพ ควรรักษาท่าทางที่สงบเป็นธรรมชาติ เพื่อให้ผู้สัมภาษณ์รู้สึกว่าคุณมีความพร้อม
และนี่ก็เป็นการเตรียมตัวสำหรับฝึกงาน ที่ได้รวมมาให้แล้วว่าต้องทำอะไรบ้าง และหวังว่าเคล็ดลับที่ WorkVenture แนะนำในวันนี้ จะเป็นประโยชน์กับน้องๆ นักศึกษาทั้งหลาย อย่าลืมว่าการเตรียมตัวให้ดี จะทำให้เราดูมีความพร้อมในการทำงานมากขึ้น และการฝึกงานคือก้าวแรกสู่โลกของผู้ใหญ่ ถึงแม้จะทำงานผิดพลาดไปบ้าง ก็ไม่ต้องท้อใจ เพราะทุกความผิดพลาดคือบทเรียนที่ทำให้เราดีขึ้น ขอให้นักศึกษาทุกคนโชคดีในการฝึกงาน และขอให้พบกับโอกาสที่ใช่ พร้อมก้าวสู่ความสำเร็จในเส้นทางอาชีพที่ฝันไว้นะ!