What's new | 31 May 2024

Multitasking ดีจริงหรือ? ทำไมบางคนยิ่งทำยิ่งพัง?

เคยรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นโปรด้านการทำงานหลายอย่างพร้อมกันไหม?   ทานอาหารกลางวันไปตอบอีเมลไป หรือนั่งพิมพ์เอกสารไปโทรหาลูกค้าไป สิ่งเหล่านี้คือตัวอย่างของ "Multitasking"  หรือการทำหลายอย่างพร้อมกันที่สังคมมักยกย่องคนที่ทำได้ เพราะดูเหมือน เป็นคนที่ใช้เวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพเหลือเกิน 

แต่เดี๋ยวก่อน... Multitasking ที่หลายคนยกย่องว่าดีเนี่ย  จริง ๆ แล้วมันดีจริงหรือเปล่านะ? วันนี้ Workventure จะมาไขข้อสงสัยนี้กันว่าความเข้าใจผิดที่มีต่อ Multitasking มีอะไรบ้าง

หลายคนเชื่อว่า Multitasking มีข้อดีมากมาย เช่น ช่วยให้จัดการเวลาได้ดีขึ้น เพราะทำหลายอย่างพร้อมกัน ทำงานเสร็จเร็วขึ้น แถมยังฝึกสมาธิและความยืดหยุ่นในการสลับงาน ไปมาได้อีก ฟังดูดีสุดๆเลยใช่ไหม อย่างไรก็ตามการทำงานหลายอย่างพร้อมกันอาจได้ผลในบางสถานการณ์เท่านั้น ซึ่งผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้บ่งชี้ไว้ดังนี้:

 

1. สมองของเราโฟกัสหลายสิ่งพร้อมกันไม่เก่งเอาซะเลย 

ถ้าจะเทียบให้เห็นภาพ สมองของคุณก็มีลิมิตเหมือนแรมในคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์นั่นแหละ  การที่คุณพยายามโฟกัสหลายอย่างพร้อมกัน มันก็เหมือนการเปิดโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันทิ้งไว้เยอะๆ ทำให้เครื่องรวน ทำงานช้า แถมยังเสี่ยงค้างอีก ในทางเดียวกัน สมองของคุณก็คิดได้ช้าลงเพราะ ต้องแบ่งสมาธิไปทำหลายอย่าง เสี่ยงต่อการโดนรบกวนได้ง่าย ทำให้สุดท้ายก็อาจจะทำได้ไม่ดีเท่าที่ ควรสักอย่าง ก็เหมือนที่โบราณเขาว่าไว้ล่ะนะว่า จับปลาสองมือ 

 

2. แค่ Multitasking ก็ส่งผลต่อสุขภาพได้

ทุกคนคงเคยเจอเหตุการณ์ที่กำลังทำงานหนึ่งอยู่ แต่พอสลับมาอีกงานก็เกิดความสับสนว่า เอ้ะ เมื่อกี้เราทำอะไรไปแล้วนะ นี่แหละคือผลจากการโดนรบกวนจากหลายสิ่ง ทำให้สมองยาก ที่จะจดจ่ออยู่กับงานใดงานหนึ่ง เพราะว่าต้องสับเปลี่ยนไปมาระหว่างงานต่างๆ จนสมองเริ่มสับสนในข้อมูลที่แตกต่างกัน แถมทำมันปนกันไปหมด การที่คุณทำแบบนี้บ่อยๆ ไม่เพียงส่งผลต่อสมาธิ การจดจำ แต่ยังทำให้เครียด และเสี่ยงต่อ Burnout syndrome หรือภาวะหมดไฟอีกด้วย  

 

3. แทนที่งานจะเสร็จเร็วขึ้นกลับใช้เวลามากกว่าเดิมอีก?!

แทนที่ Multitasking จะทำให้งานเสร็จเร็ว แต่จริงๆมันแล้วมันทำเราเสียเวลามากกว่าเดิมต่างหาก  นอกจากเวลาที่ใช้จะมากขึ้นแล้ว คุณภาพของงานก็ต่ำลงด้วยเช่นกัน เนื่องจากสมาธิของมนุษย์เรามีอยู่จำกัด พอคุณแบ่งมันไปทำหลายอย่างทำให้แต่ละงานถูกจดจ่อน้อยลงจนโอกาสผิดพลาดเพิ่มขึ้น ในท้ายที่สุดคุณก็อาจจะต้องมานั่งทำใหม่อีกรอบอยู่ดี   

 

แม้ Multitasking จะดูเหมือนเป็นทักษะที่จำเป็นในโลกยุคปัจจุบันที่เร่งรีบ ทำให้หลายคนพยายามสวมหมวกหลายใบ ทำหลายอย่างพร้อมกัน แต่ว่าวิธีนี้ไม่ได้เหมาะกับทุกคนและไม่ได้มีคำตอบตายตัวว่าใครควรทำแบบไหน เพราะบางคนก็สามารถใช้ Multitasking ได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน ดังนั้นที่สำคัญคือ ไม่ต้องกดดันให้ตัวเองทำในสิ่งไม่ถนัด และลองสำรวจดูว่าสไตล์การทำงาน ประเภทของงาน และเป้าหมายของงานเหมาะกับวิธีไหน  แล้วคุณจะทำงานได้อย่างยืดหยุ่น รับมือได้ทุกสถานการณ์ และและปลดปล่อยศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่

 

จำไว้ว่า: ไม่มีวิธีไหนที่ถูกต้องที่สุด  วิธีที่ดีที่สุดคือวิธีที่เหมาะกับคุณ