HR & employers | 1 June 2022

HR ไม่ควรนิ่งเฉย! วิธีจัดการ"พฤติกรรมเป็นพิษ"ในที่ทำงาน

 

ว่าด้วยเรื่องการสร้างความสุขในที่ทำงานเนี้ย คงไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ทุกคนในบริษัทหรือองค์กรต้องช่วย กันสร้างบรรยากาศที่ดีขึ้นมา แต่การจะให้ทุกคนในองค์กรมีนิสัยที่ดีต่อการทำงานก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เรื่องนี้ก็เลยต้องมีแผนกที่เข้ามาจัดการจริง ๆ จัง ๆ ซึ่งจะเป็นใครไม่ได้นอกจาก HR นั่นเอง

พนักงานที่ชอบสร้างมลพิษในการทำงานนั้น ทำให้องค์กรเสียหายได้ทั้งในเรื่องเม็ดเงิน การสร้างสรรค์ผลงาน และยังทำร้ายภาพลักษณ์ของบริษัทด้วย เพราะว่าหากพนักงานทำตัวไม่ดี ก็จะสร้างภาพลักษณ์อย่างนั้นให้คนจดจำไปอย่างนั้น ทีนี้พอตอนหลังอยากจะหาคนมาร่วมทำงานด้วยก็ยากละ

 

 

Highlight

  • พนักงานที่ต้องเจอกับสภาพการทำงานที่เป็นมลพิษหรือเพื่อนร่วมงานแย่ ๆ จะมีประสิทธิภาพการทำงานลดลงถึง 38%
  • หากว่าพฤติกรรมไหนมีแนวโน้มที่จะทำให้เพื่อนร่วมงานทำงานได้น้อยลง หรือทำให้ไม่อยากมาทำงานนั่นก็ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่สร้างมลพิษทั้งนั้น
  • HR จะต้องระบุให้ได้ก่อนว่าอะไรบ้างที่ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่มีปัญหา
  • “การพูดคุย” เป็นสิ่งสำคัญ เพราะช่วยให้เข้าใจว่าปัญหาเกิดขึ้นเพราะอะไร และจะช่วยกันแก้ไขได้อย่างไรบ้าง

 

พฤติกรรมอะไรบ้างที่ทำให้คนอื่นไม่อยากมาทำงาน?

จากการศึกษาของสถาบัน HBS พบว่าพนักงานที่ต้องเจอกับสภาพการทำงานที่เป็นมลพิษหรือเพื่อนร่วมงานแย่ ๆ จะมีประสิทธิภาพการทำงานลดลงถึง 38% ดังนั้น HR จึงควรปกป้องพนักงานที่ทำงานดีจากคนเหล่านี้ แต่พฤติกรรมใดบ้างล่ะที่ HR ต้องเฝ้าระวังก่อนที่ปัญหาต่าง ๆ จะเกิดขึ้น

Sarah Jenner ตำแหน่ง Executive Director ของ Mindful Employer บอกว่า “พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์นั้นมีหลายอย่าง ที่เห็นได้ชัด ๆ เลยก็คือชอบสั่งหรือชอบประชดประชัน ซึ่งจะทำให้เพื่อนร่วมงานรู้สึกอึดอัดหรือถูกจู่โจม นอกจากนี้ในรายที่หนัก ๆ ยังมีเรื่องการถ่ายรูปแบล็คเมล์ โทรศัพท์ข่มขู่ ส่งอีเมลกลั่นแกล้งและที่หนักสุดก็คือการคุกคามทางเพศด้วย

 

พฤติกรรมที่ยกตัวอย่างมานั้นเห็นได้ชัดว่าส่งผลต่อการทำงานของเพื่อนร่วมงาน แต่พฤติกรรมอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มที่จะทำให้พนักงานคนอื่นในบริษัททำงานได้น้อยลง หรือไม่อยากมาทำงานนั้นก็ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่สร้างมลพิษได้เช่น หัวหน้างานที่ดุด่าลูกน้องในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับงาน หรือพูดเรื่องงานแบบไม่มีความเป็นมืออาชีพ โดยการพูดตำหนิต่อหน้าหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงานหรือลูกค้า ซึ่งทำให้เกิดความอับอายได้ ยิ่งเป็นการพูดในที่สาธารณะด้วยแล้วย่อมส่งผลทางลบต่อการทำงาน พนักงานอาจเกิดความเครียด กดดัน หรือหมดใจกับงานได้ 

คนทำงานส่วนใหญ่บอกว่าถ้าทำงานในสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ ส่งผลให้ความรู้สึกอยากทำงานลดลง ซึ่งกว่า 63% อยากโดดงาน กลับบ้านเร็วขึ้นหรือมาทำงานสายเพียงเพราะไม่ต้องการที่จะพบเจอกับเพื่อนร่วมงานเหล่านั้น 

เมื่อเกิดปัญหาส่วนนี้เข้าแล้ว สิ่งที่ต้องจับตามองต่อมาก็คือ พวกเขามีวิธีรับมือกับสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบอย่างไร แต่ถ้าหากพวกเขาเลือกที่จะพูด ก็เป็นหน้าที่ของ HR ที่จะต้องให้ความช่วยเหลือและสื่อสารกันอย่างมีประสิทธิภาพ


 

แล้ว HR จะเริ่มจัดการได้อย่างไรบ้าง?

ต้องบอกเลยว่าเรื่องนี้ HR ไม่ควรนิ่งเฉย เพราะไม่งั้นแล้วพนักงานที่ดีจะทนไม่ได้แล้วเริ่มลาออกกันไปหมด ทำให้เกิดปัญหาอีกมากมายตามมา เช่น การหยุดชะงักของงาน การขาดแคลนพนักงาน และ อาจส่งผลต่อภาพลักษณ์บริษัทด้วย 

โดยในขั้นแรกจะต้องระบุให้ได้ก่อนว่าอะไรบ้างที่ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่มีปัญหา โดยเฉพาะสิ่งที่จะทำให้เพื่อนร่วมงานไม่พอใจ หรือไม่ตรงกับวัฒนธรรมองค์กรของเรา 

จากนั้นก็จัดทำแผนกลยุทธ์เพื่อจัดการกับพฤติกรรมเหล่านั้น ซึ่งจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจน ที่จะทำให้พนักงานเข้าใจและไม่สามารถโต้แย้งได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดเลยก็คือ “การพูดคุย” การพูดคุยจะทำให้สามารถเข้าใจกันได้ว่าเพราะอะไรถึงเกิดปัญหาขึ้นมา และจะช่วยกันแก้ไขได้อย่างไรบ้าง โดยในแต่ละกรณีก็จะมีปัญหาและสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป การพูดคุยจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด

 

รู้หรือไม่ว่าเราสามารถทำให้พนักงานเกิดความเป็นหนึ่งเดียวกันและภาคภูมิใจในองค์กรที่ทำงานอยู่ได้ ด้วยการมีภาพลักษณ์องค์กรที่ชัดเจน ผ่านการสร้าง Employer Branding ถ้าสนใจเรียนรู้เพิ่มเติมหรือสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กรของคุณ WorkVenture สามารถให้คำแนะนำและช่วยเหลือคุณได้ ด้วยประสบการณ์การทำงานร่วมกับบริษัทชั้นนำ คลิก