HR & employers | 14 March 2022

Employer Branding สำคัญแค่ไหน? ชาว HR วางกลยุทธ์ยังไงดีนะ?


สุภาษิตบอกไว้ว่า "สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น" แต่ถ้าไม่เห็นละ จะทำยังไงดีน้าให้คนรู้ว่าบริษัทของเรามันเจ๋งแค่ไหน

ทุกวันนี้ Employer Branding คงไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาพูดกันว่าจะทำดีไหม แต่กลายเป็นเรื่องที่ต้องมานั่งคิดกันเลยว่าจะทำอย่างไรให้ออกมาดี บางบริษัทอาจจะมีการตั้งแผนก Employer Branding ขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของแผนก HR เพื่อวางแผนและปฏิบัติอย่างจริงจัง เพราะการทำ Employer Branding จะช่วยให้การดึงดูดและการรักษาพนักงานเก่ง ๆ ให้อยู่กับองค์กรเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายและประหยัดงบประมาณได้มากเลยทีเดียว ยิ่งการแข่งขันในโลกธุรกิจที่สูงมากขึ้น ทำให้ Talent ถือเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้ธุรกิจโดดเด่นเหนือคู่แข่งได้ มาดูกันว่ามีเทรนด์อะไรที่ควรติดตามเกี่ยวกับ Employer Branding กันบ้าง

 

Highlight

  • การดึงดูดพนักงานที่เก่งต้องสร้างความแตกต่าง มี Job Experience ที่ดีและหาช่องทางในเผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ
  • ลองให้พนักงานในบริษัทบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตการทำงานในบริษัท หรือสิ่งที่พนักงานชื่นชอบ รับรองว่าผู้คนจะสนใจมากขึ้น
  • หากต้องการจะสื่อสารให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ก็สามารถให้พนักงานช่วยแชร์ทั้งวิดีโอและบทความที่เกี่ยวข้องกับบริษัท
  • ลองให้ผู้บริหารออกมาให้สัมภาษณ์หรือเขียนอะไรเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจะดึงดูดให้พนักงานที่ชื่นชอบในวิสัยทัศน์เข้ามาติดตาม

 

 

 

1. Job Experience จะกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดคนมากกว่า Job Description

ก่อนหน้านี้หากต้องการดึงดูดผู้สมัครเก่ง ๆ จะต้องเขียน Job Descriptionให้น่าสนใจ เพื่อให้คนเห็นว่าการทำงานที่นี่นั้นน่าสนุกและมีความท้าทายอย่างไรบ้าง แต่ในเมื่อเดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็เขียน Job Description กัน ทำให้ผู้สมัครต้องอ่านสิ่งเหล่านี้มากมายจนหลายครั้งก็แยกความแตกต่างของงานแต่ละที่ไม่ออก

ดังนั้นหากต้องการดึงดูดพนักงานเก่ง ๆ ก็ต้องสร้างความแตกต่าง ยิ่งทุกวันนี้มีช่องทางในอินเทอร์เน็ตมากมายไม่ว่าจะเป็น Facebook Youtube LinkedIn หรือหน้าเว็บไซต์ของบริษัท ที่สามารถลงวิดีโอเพื่อโปรโมตให้คนเห็นชีวิตการทำงานในหนึ่งวันว่า หากทำงานที่นี่จะเป็นอย่างไรบ้าง การลงวิดีโอเพียงแค่สั้น ๆ แต่จะทำให้คนเห็นรายละเอียดหลายอย่าง ไม่เพียงแต่จะได้รู้ว่างานที่ทำต้องทำอะไรบ้าง แต่ยังทำให้เห็นว่าถ้าอยากทำงานที่นี่จริง ๆ จะต้องเจอกับอะไรบ้าง วัฒนธรรมองค์กรและการทำงานเป็นอย่างไร ที่ทำงานเหมาะสมกับตัวเองหรือไม่

 

2. องค์กรต้องหันมาใส่ใจสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายต้องการ

พลังแห่งการบอกต่อนั้นกลายเป็นเรื่องสำคัญที่นักการตลาดทั้งหลายต่างหันมาให้ความสนใจ เพราะเดี๋ยวนี้จะซื้อของแต่ละที คนก็มักจะหาข้อมูลหรือรีวิวจาก Blogger ต่างๆ เพื่อช่วยในการตัดสินใจ

ซึ่งหลักการนี้ก็สามารถนำมาปรับใช้กับการทำ Employer Branding ได้เป็นอย่างดี ผู้คนจะเชื่อและให้ความสนใจกับสิ่งที่เราต้องการสื่อมากขึ้น ถ้าข้อความนั้นมาจากประสบการณ์ของคนที่อยู่ในบริษัทนั้นจริง ๆ ดังนั้นการลองให้พนักงานในบริษัทบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตการทำงาน หรือสิ่งที่พวกเขาชื่นชอบในบริษัท รับรองว่าจะได้รับสนใจมากขึ้นอย่างแน่นอน

 

 

3. แรงสนับสนุนจากพนักงานจะช่วยสร้าง Employer Branding

อยากสื่อสารแบรนด์นายจ้างให้คนอื่นรับรู้ ก็ต้องใช้พลังจากพนักงานของบริษัทให้ช่วยแชร์ เพราะการที่ผู้คนจะมาติดตามข่าวสารของบริษัทใดบริษัทหนึ่งอยู่เสมอนั้นเป็นเรื่องยาก ถ้าหากบริษัทนั้นไม่ได้โดดเด่นจริง ๆ  อีกทั้งคนที่ติดตามช่องทางโซเชียลมีเดียของบริษัทก็อาจจะอยากรับรู้แค่เรื่องราวของผลิตภัณฑ์ แต่ไม่ได้อยากรู้เรื่องเกี่ยวกับตัวบริษัทเลยก็ได้

ดังนั้นหากต้องการจะสื่อสารออกไปให้ได้ประสิทธิภาพ ต้องอาศัยการร่วมมือจากพนักงานให้ช่วยแชร์ทั้งวิดีโอและบทความที่เกี่ยวข้องกับบริษัท โดยมีเทคนิคก็คือสร้างแฮชแท็กที่จะช่วยทำให้คนจดจำเกี่ยวกับแบรนด์ได้ดีมากขึ้น และจะยิ่งเป็นการเพิ่ม Reach และ Engagement ได้มากขึ้นอีกด้วย


4.  ผู้บริหารไม่เพียงแต่บริหารคนต้องส่งต่อความคิดได้

ผู้คนต่างก็ต้องการทำงานกับผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ ยิ่งถ้าผู้บริหารมีอิทธิพลทางความคิดจะยิ่งทำให้พนักงานอยากแบ่งปันเรื่องราวนี้ ออกไปให้กับเพื่อนและคนรู้จักได้รับรู้ วิธีการง่าย ๆ นี้ก็คือลองให้ผู้บริหารออกมาให้สัมภาษณ์หรือเขียนอะไรเกี่ยวกับแนวทางการบริหารงาน เป็นรายเดือนหรือครั้งคราว เมื่อผู้คนศรัทธาในตัวผู้นำ พนักงานก็จะเต็มใจทำงานและยังดึงดูดให้คนอื่นๆที่ชื่นชอบในวิสัยทัศน์ เข้ามาติดตามและมีส่วนร่วมกับองค์กรมากยิ่งขึ้น

 

 

5. Employer Branding เป็นกลยุทธ์สำคัญในการหาคน

ในช่วงแรก แนวคิดเรื่อง Employer Branding นั้นเป็นเพียงกลยุทธ์ในการสร้างแบรนด์หรือภาพลักษณ์ขององค์กรให้เป็นที่รู้จักเท่านั้น แต่ในทุกวันนี้จะเห็นความแตกต่างขององค์กรที่ทำ Employer Branding ได้อย่างชัดเจน เพราะเมื่อผู้สมัครงานรู้จักกับบริษัทมากขึ้น เข้าใจการทำงานขององค์กรอย่างแท้จริง ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสให้คนเก่ง ๆ ได้เข้ามาทำงานมากขึ้น ดังนั้น Employer Branding จึงเป็นช่องทางสำคัญที่จะช่วยให้การสรรหาบุคคลากรกลายเป็นเรื่องง่าย


 

หากมองดูผิวเผินอาจจะเข้าใจว่า Employer Branding เป็นเหมือนการสื่อสารแบรนด์หรือภาพลักษณ์ของบริษัทให้เป็นที่รับรู้เพียงอย่างเดียว แต่ผลลัพธ์ที่ได้จากการทำ Employer Branding นั้นมีมากกว่าที่คิด เพียงแต่ต้องอาศัยการทำอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง