What's new | 21 June 2024

Early Bird vs. Night Owl: ทำงานร่วมกันยังไงให้ลงตัว ผลลัพธ์ปัง!

เคยเจอแบบนี้ไหม เพื่อนร่วมงานบางคนตื่นมาแต่เช้าสดใส เคาะแป้นพิมพ์รัวๆ เสร็จงานตั้งแต่ยังไม่เที่ยง ในขณะที่คุณเพิ่งจะมาถึงออฟฟิศ ตาปรือๆพกแก้วกาแฟคู่ใจ นี่แหละคือลักษณะของคนสองแบบที่มักถูกเรียกว่า "นกตื่นเช้า (Early Bird)" และ "นกฮูก (Night Owl)" 

 

นกตื่นเช้า หรือ Early Bird คือคนที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและสมองปลอดโปร่ง ในตอนเช้า

นกฮูก หรือ Night Owl คือคนที่ทำงานได้อย่างเต็มที่ในช่วงบ่ายๆไปจนดึก

ด้วยความแตกต่างเช่นนี้ทำให้คน 2 กลุ่มนี้มักจะร่วมมือกันทำงานได้ไม่ค่อยราบรื่น และมักจะมีปัญหากันบ่อยครั้ง ถึงเวลามีโปรเจคร่วมกันทีต้องปวดหัวแน่นอน

แต่ปัญหาเหล่านี้จะคลี่คลาย เพราะว่าวันนี้ WorkVenture จะมานำเสนอความแตกต่างระหว่างคน 2 ประเภทนี้ว่าทำงานต่างกันยังไง? แล้วคุณจะปรับตัวให้ทำงานร่วมกันได้อย่างลงตัวได้ยังไง? มาดูกันเลย!

 

Early Bird VS Night Owl

 

Early Bird: สามารถลุยงานได้ตั้งแต่เช้า เป็นคนตรงต่อเวลา และชอบวางแผนล่วงหน้า  แต่มักจะง่วงเพลียในตอนบ่าย ถ้าเป็นงานเร่งด่วนที่ต้องทำทั้งคืนก็ไม่ค่อยถนัดนัก

Night Owl: มักจะปิ๊งไอเดียเจ๋งๆตอนค่ำๆ รับมือกับเดดไลน์กระชั้นชิดได้ดี และปรับตัวเก่งมีความยืดหยุ่นสูงซึ่งได้เปรียบมากในการทำงานที่มีตารางเวลาไม่แน่นอน แต่ก็มักจะเป็นคนไม่ตรงเวลาเท่าไหร่ด้วยเช่นกัน แถมเป็นนักเลื่อนงานตัวยง อะไรไม่สำคัญก็ไว้ก่อน

    

กลยุทธ์การทำงานร่วมกัน

 

1. ทำความรู้จักสมาชิกในทีม:

ทำความเข้าใจและคุยกันไว้ตั้งแต่เนิ่นๆว่าสไตล์การทำงานของแต่ละคนเป็นแบบไหน ไม่เพียงช่วยป้องกันความขัดแย้งกันในภายหลัง แต่ยังช่วยกันเสริมจุดแข็งจุดอ่อนให้งาน ออกมาดีที่สุดอีกด้วย เพราะสองหัวย่อมดีกว่าหัวเดียวอยู่แล้ว  

 

2. กำหนดช่วงเวลาและช่องทางติดต่อที่สะดวกใจ:  

การกำหนดช่วงเวลาติดต่อสื่อสารเพื่อเคารพระยะเวลาส่วนตัวเป็นสิ่งสำคัญ เพราะลองนึกตามนะว่าถ้านกฮูกเล่นทักนกตื่นเช้าไปตอนตี 2 นกตื่นเช้าก็คงไม่ค่อยประทับใจเท่าไหร่ และอย่าลืมตกลงกันด้วยว่าวิธีการสื่อสารและช่องทางการติดต่อแบบไหนที่แต่ละคนสะดวกใจ

 

3. แบ่งช่วงทำงานตามจุดแข็ง:

ช่วงเช้า: เหมาะกับงานที่ต้องการสมาธิ และความละเอียด เช่น งานวิเคราะห์ข้อมูล งานเขียนรายงาน (เหมาะกับนกตื่นเช้า)

ช่วงบ่าย - เย็น: เหมาะกับงานที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์และงานไม่มีตารางเวลาชัดเจน เช่น งานออกแบบ งานแก้ปัญหาเฉพาะหน้า (เหมาะกับนกฮูก)

 

​4. กำหนดช่วง Core Hour:   

จากที่อ่านมาคุณคงเริ่มจะเข้าใจแล้วว่า นกฮูกกับนกตื่นเช้ามีช่วงเวลาทำงานที่มีประสิทธิภาพ แตกต่างกัน แต่มีงานไม่น้อยเลยที่ยังคงต้องมีประสานงาน แก้ไขปัญหา หรือประชุมอัปเดตผลงาน ร่วมกัน ดังนั้นกำหนดช่วงเวลาที่ ทุกคนต้องพร้อมทำงานร่วมกัน แนะนำว่าให้ดูว่าเวลาช่วงที่ทับซ้อนกันของนกตื่นเช้าและนกฮูกว่าคือช่วงไหน เช่น  นกตื่นเช้าพร้อมทำงานตอน 8:00-12:00 น. และนกฮูกพร้อมทำตอน 11:00 น. เป็นต้นไป ดังนั้นเวลาประชุมก็อาจจะเป็นช่วง 11:00 น. รับรองว่าหากเลือกเวลาได้ดีการหารือกันจะต้องมีประสิทธิภาพมากแน่นอน

 

5.วัฒนธรรมองค์กรที่ยืดหยุ่น: 

ยืดหยุ่นเวลาทำงาน: นกตื่นเช้าสามารถเข้าทำงานเร็ว และเลิกงานเร็ว ส่วนนกฮูกสามารถเริ่มงานสายหน่อยแต่ทำงานดึกได้ แต่ต้องทำให้แน่ใจว่างานเสร็จตามเป้าหมายตามที่ตกลงกันไว้

ส่งเสริมการทำงานทางไกล (Work From Home): ให้นกตื่นเช้าและนกฮูก สามารถเลือกทำงานจากสถานที่ที่เหมาะสมกับตัวเอง สิ่งนี้จะช่วยให้งานมีประสิทธิภาพและมีสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานกับชีวิตส่วนตัวอีกด้วย  

 

 

การทำงานร่วมกันระหว่าง นกตื่นเช้า (Early Bird) กับ นกฮูก (Night Owl) อาจจะเป็นโจทย์ที่ท้าทาย แต่ถ้าคุณเข้าใจจุดแข็ง จุดอ่อน และปรับกลยุทธ์การทำงานได้ถูกจุด ก็สามารถสร้างทีมที่ทรงพลังและงานที่ยอดเยี่ยมได้อย่างแน่นอน สามารถตามหาทีมที่ดีและเหมาะกับคุณได้ที่https://www.workventure.com