What's new | 27 February 2023

5 เทรนด์ใหม่ของโลกการทำงานในปี 2023 และในอนาคต


ในปัจจุบันนี้โลกการทำงานกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งเทรนด์ที่คาดว่าจะเปลี่ยนโลกของการทำงานในปี 2023 ก็มีผลมาจาก 1-2 ปีที่ผ่านมา นั่นก็คือ เทรนด์การลาออกครั้งใหญ่ (The Great Resignation) เทรนด์การทำงานแบบหมดใจ (Quiet Quitting) รวมไปถึงการทำงานในรูปแบบ Remote Working ทำให้คนทำงานมีความต้องการที่เปลี่ยนไป

ซึ่งในปี 2023 นี้ จะมีอะไรมาเปลี่ยนโลกการทำงานบ้างล่ะ? สิ่งไหนที่เหล่าคนทำงานต้องการจริง ๆ หรือมีอะไรที่ต้องพัฒนาให้ทันเทรนด์ของโลกการทำงานบ้างนั้น WorkVenture ได้รวบรวม 5 เทรนด์ที่น่าสนใจในปี 2023 ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของอะไรบ้างนั้น ไปดูกันเลย!


 

1. การจ้างงานแบบ “Quiet Hiring” ที่มากขึ้น

การจ้างงานแบบชั่วคราวจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นหลังเคยมีกระแสข่าว การลาออกครั้งใหญ่ หรือ Quiet Quitting ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่พนักงานหมดใจที่จะทำงาน ทำให้พวกเขาไม่เต็มที่กับการทำงาน ซึ่งเป็นที่พูดถึงกันอย่างมากในปี 2022 ที่ผ่านมา ทำให้หลายองค์กรได้รับผลกระทบอย่างหนัก การจ้างงานแบบ Quiet Hiring กลายเป็นกลยุทธ์ที่แก้ปัญหาได้ตรงจุดมากทั้งเรื่องการสูญเสียทักษะ ความสามารถ และผลงานระดับดีเยี่ยม เปลี่ยนเป็นการทวงคืนทักษะ และความสามารถเหล่านั้น โดยไม่ต้องจ้างพนักงานประจำเพิ่ม ซึ่งทำได้หลายรูปแบบ

  • การโยกย้ายตำแหน่งภายในองค์กร เพื่อให้คนที่มีความสามารถได้ทำตำแหน่งสำคัญที่ต้องใช้ทักษะเฉพาะของพวกเขา โดยบริษัทจะตอบแทนด้วยการให้โบนัส ขึ้นเงินเดือน หรือเพิ่มวันลาพักร้อน
  • การมอบโอกาสให้พนักงานได้ Upskill เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้น
  • การจ้างฟรีแลนซ์เพื่อเข้ามาทำงานในตำแหน่างที่ต้องการทักษะนั้นๆ โดยเฉพาะ


 

2. การทำงานแบบ "ยืดหยุ่น" กลายเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์พนักงาน

ปัจจุบันพนักงานหลายคนยังคงคุ้นชินกับการทำงานแบบ Remote Working และหลายบริษัทก็กำลังหาทางออกเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงานให้พนักงานแถวหน้ามากขึ้น โดยการสำรวจของ Gartner ที่สอบถาม Maneger แถวหน้ากว่า 405 คน พบว่า 58% ขององค์กรหันมาลงทุนด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาประสบการณ์การทำงานของพนักงานแถวหน้าให้ดีขึ้น ซึ่งสิ่งที่พนักงานแถวหน้าต้องการ คือ ความยืดหยุ่นที่เพิ่มมากขึ้น เช่น การทำงานในรูปแบบ Hybrid การที่พวกเขาสามารถตัดสินใจได้อย่างอิสระว่าจะทำงานวันไหน ทำกะไหนบ้าง หรือทำกับใครบ้าง เป็นต้น

 

3. เรียนจบที่ไหนอาจไม่สำคัญเท่า “ทักษะ” ที่มีอีกต่อไป

ปัจจัยในการเลือกพนักงานในอดีตส่วนใหญ่แล้วจะดูจากการศึกษา และประสบการณ์ที่ผ่านมา แต่ในปี 2023 หลายองค์กรจะพิจารณาการเลือกคนจากทักษะเป็นหลัก เพราะนั่นคือสิ่งที่พวกเขาตามหา เพื่อค้นหาคนเก่งอย่างกว้างขวางมากขึ้น และยิ่งเป็นองค์ความรู้ที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอนแต่สามารถเรียนรู้จนสามารถเชี่ยวชาญด้วยตนเองแล้วหล่ะก็ แน่นอนว่าน่าสนใจกว่าชื่อมหาวิทยาลัยดัง ๆ แน่นอน 
 

4. องค์กรมองลูกจ้าง "เป็นมนุษย์มากขึ้น"

ด้วยกระแสการต่อต้านการทำงานมากมาย ในช่วง 1-2 ที่ผ่านมา ทำให้พนักงานเกิดความเครียดในที่ทำงาน จนเกิดภาวะหมดไฟหรือ Burnout Syndrome จากรายงานการสำรวจของ Gallup เรื่อง State of the Global Workplace 2022 พบว่ากว่า 60% ของคนทำงานบอกว่าพวกเขาเครียดเรื่องงานทุกวัน และประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของปีที่ผ่านมาเข้าไป จึงทำให้พนักงานจำนวนมากหมดไฟในการทำงาน ดังนั้นหลาย ๆ องค์กรจึงหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพกาย สุขภาพใจ และ Work-Life Balance ของพนักงาน เพื่อรักษาพนักงานที่มีความสามารถเอาไว้ ทั้งการสนับสนุนให้ลาพักร้อน การมีผู้เชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษาปัญหาต่าง ๆ จัดสรรเวลาให้พนักงานได้ดูแลสุขภาพ รวมไปถึงการงดประชุมในวันศุกร์ เป็นต้น


 

5. มีการส่งเสริม “ทักษะการเข้าสังคม” ที่หายไป

การทำงานในรูปแบบของ Remote Working ทำให้พนักงานขาดทักษะในการเข้าสังคม และเมื่อพวกเขาไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ในองค์กร นั่นก็ทำให้พวกเขารู้สึกว่าตนเองไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในองค์กร ทำให้การเพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างพนักงานกลายเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งมีความท้าทายคือจะทำได้อย่างไรโดยที่ไม่ต้องบังคับพนักงานเข้าออฟฟิศทุกวันแต่ยังสามารถสัมผัสได้ถึงความเป็นทีมเวิร์ค

งานวิจัยจาก Gartner ในปี 2022 ที่สอบถามคนทำงานกว่า 3,500 พบว่า การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานให้ประสบความสำเร็จนั้น จะต้องประกอบไปด้วย 3 ปัจจัย ได้แก่

  • พนักงานต้องรู้สึกว่ามีอิสระในการเลือกกิจกรรม
  • โครงสร้างและเป้าหมายของกิจกรรมต้องชัดเจน
  • ต้องสนุกและไม่เครียด


 

การเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อให้ทันเทรนด์ต่าง ๆ ในโลกการทำงานในอนาคตเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ เพราะไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นแต่ถ้าคุณเรียนรู้มันอย่างรวดเร็ว และรู้ว่าควรโฟกัสอะไร จะทำให้คุณรู้ว่าคุณควรรับมืออย่างไร