Career advice | 5 October 2018

5 วิธีสู่การเป็นสุดยอดคนทำงาน : ถอดบทเรียนจาก ‘ไบค์แมน ศักรินทร์ตูดหมึก’

บางครั้งภาพยนตร์ตลกเรียกเสียงหัวเราะ อาจพาเราให้เจอกับข้อคิดดีๆ ที่ซ่อนอยู่

ครั้งแรกที่ได้ยินชื่อของ ไบค์แมน ศักรินทร์ตูดหมึก อาจทำให้หลายคนขมวดคิ้วว่าหน้าหนังที่มีตัวเอกเป็นเด็กอยุธยาเพิ่งเรียนจบใหม่ๆ ใช้ชีวิตด้วยอาชีพคนขับวินมอเตอร์ไซค์ แต่บอกที่บ้านว่าตัวเองทำงานธนาคารในกรุงเทพฯ จะมาเกี่ยวอะไรกับคำว่าตูดหมึก

แต่ถ้าลองได้ไปตีตั๋วชมจริงๆ และลองตั้งใจดูสิ่งที่เนื้อเรื่องต้องการจะบอก จะพบว่าภาพยนตร์ชื่อแปลกเรื่องนี้สอนอะไรเราได้หลายอย่างเกี่ยวกับการทำงานเลยล่ะ!

วันนี้ WorkVenture อยากชวนทุกคนมาเรียนรู้บทเรียนสู่การเป็นสุดยอดคนทำงาน ผ่านเรื่องราวของวินมอเตอร์ไซค์อย่างน้องศักรินทร์และผองเพื่อนชาววินฯ จะอ่านก่อนแล้วไปดู หรือดูแล้วค่อยมาอ่าน ก็ไม่ว่ากัน!

 

รู้จริงในงานที่ทำ

bikeman_01

“เสียงอย่างนี้นะ ฮอนด้าเวฟ 2018!”

ถึงเราจะได้ยินเสียงจากศักรินทร์ที่เล่าเรื่องราวว่าเขาต้องโกหกแม่ว่านั่งรถไฟเข้ากรุงเทพฯ มาตอนเช้าเพื่อไปทำงานธนาคาร ทั้งที่ความจริงต้องแอบเปลี่ยนชุดเป็นวินมอเตอร์ไซค์ อาจทำให้คนดูคิดว่าเขาน่าจะจำใจมาขับ แต่ฉากหนึ่งที่เล่าความเป็นคนที่ ‘รู้จริง’ เกี่ยวกับงานที่ทำ นั่นคือการปิดตา ฟังเสียงเครื่องมอเตอร์ไซค์ และทายว่านี่คือรุ่นอะไร ซึ่งเขาทายได้ถูกหมดจนเพื่อนๆ ถึงกับยกให้เป็นตัวจริงของวิน

การรู้จริงในสิ่งที่ทำ ตำแหน่งที่เรารับผิดชอบ ไม่ได้มาจากทักษะการทำงานเป็นเวลานานๆ เพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัย Passion ที่เรามีต่อสิ่งนั้นด้วย ถ้าเรามีความรักและชอบในเนื้องานที่ทำจริงๆ ไม่ว่างานที่โยนมาจะยาก จะเยอะแค่ไหน เราจะมองมันเป็นความท้าทายที่ผลักตัวเองให้เก่งขึ้นไปอีกขั้น มากกว่าจะมองเป็นโจทย์หินที่พาให้เราเหนื่อยกับการทำงาน

ถ้าอินกับอะไรซักอย่าง ไม่มีอะไรที่ยากเกินไปแน่ๆ!

 

เคารพกฎบริษัท

bikeman_02

“เนี่ย โดนไล่ออก ดันไปมีอะไรกับเด็กฝึกงาน”

ในตอนท้าย คู่ปรับของศักรินทร์อย่างพี่เอ ผู้จัดการสาขาแบงค์ดันต้องเก็บของออกจากที่ทำงานเพราะดันไปเผลอมีความสัมพันธ์กับเด็กฝึกงาน (ทั้งที่ตัวเองก็มีแฟนอยู่แล้ว) จนทำให้ลูกน้องที่ตัวเองเคยด่า ได้เลื่อนขั้นขึ้นมาแทนอย่างสวยๆ

ในแต่ละบริษัทย่อมมีกฎของการอยู่ร่วมกันอย่างชัดเจน ทั้งสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมองค์กร และกฎตามตัวอักษรที่เราได้รับจาก HR ในวันแรกของการทำงาน การศึกษาทั้งสองอย่างมีความสำคัญกับชีวิตทำงานในออฟฟิศ เพราะอย่าลืมว่าเราไม่ได้ทำงานอยู่ตัวคนเดียว แต่ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ ยังมีเพื่อนร่วมงานอีกหลายสิบชีวิตที่ต้องพบเจอ พูดคุย ดังนั้นการอยู่ร่วมกันจึงต้องเคารพกฎที่มีอยู่ เพื่อการทำงานที่มีความสุขในทุกชั่วโมงของแต่ละสัปดาห์

เพราะฉะนั้น อย่าลืมศึกษากฎให้ดีล่ะ

 

ค้นหาข้อดีของงานที่เราอาจมองไม่เห็น

bikeman_03

“งานนายโคตรดีเลย ได้ส่งหมูกะทะ ลมก็เย็น ฉันอยากทำบ้างจัง”

งานที่ศักรินทร์ทำอาจไม่ได้ทำให้เขาภูมิใจ วินมอเตอร์ไซค์คงไม่ได้เป็นอาชีพที่ดูคูลเท่านั่งในธนาคารสำหรับเขา แต่ในฉากหนึ่งที่ศักรินทร์รับเพื่อนเก่าที่เขาแอบชอบไปทำงานวิ่งส่งหมูกะทะ ตากลมเย็นยามค่ำคืน ก็สอนให้เรารู้ว่า ในมุมหนึ่ง งานของเราอาจดูเจ๋งในสายตาของคนที่ไม่ได้ทำมันก็ได้

ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร ตัวเราเองที่ต้องอยู่กับมันทุกวันอาจมองไม่เห็นข้อดี (เพราะอาจจะเครียดกับมันจนเห็นแต่ข้อเสีย) แต่เชื่อสิว่าในสายตาของคนนอก แต่ละอาชีพล้วนมีสิ่งที่ทำให้หลายคนที่ไม่ได้ทำอิจฉาแน่ๆ

พนักงานออฟฟิศอาจจะเบื่อกับชีวิต 8 ชั่วโมงในห้องสี่เหลี่ยม แต่ฟรีแลนซ์อาจจะอิจฉาในสวัสดิการที่ได้

หมออาจบ่นว่าคนไข้เยอะจนไม่ได้พัก แต่เพื่อนหมอหลายคนอาจมองเป็นความท้าทายที่ได้ช่วยชีวิตคน

วินมอเตอร์ไซค์อาจบ่นว่าไม่คูลไม่เท่ แต่พนักงานแบงค์อาจอิจฉาที่ชีวิตได้มีอิสระ ได้ออกเดินทางไปไหนต่อไหนทุกๆ วันมากกว่าจะนั่งหน้าเคาน์เตอร์อย่างเดียว

ทุกอย่างขึ้นอยู่กับมุมมอง แค่ปรับ ความรู้สึกที่มีต่องานของเราก็เปลี่ยนแล้วล่ะ

 

ความพยายามไม่เคยทำร้ายคนที่ตั้งใจ

bikeman_04

“สมัครมา 21 ที่ แล้วรู้ได้ยังไงว่าครั้งที่ 22 มันจะไม่ได้?

ไม่ใช่ว่าศักรินทร์ไม่เคยพยายามสมัครงานเพื่ออาชีพที่เขาฝัน แต่การชวดงานถึง 21 ครั้งติดต่อกันก็ทำให้ใจของคนรอคอยฝ่อไปไม่น้อย

คำพูดของจ๋าย คนที่พระเอกของเราแอบชอบตอนที่เธอจะมาช่วยศักรินทร์ติวสอบสมัครงานใหม่เป็นครั้งที่ 22 บอกกับเราว่าความพยายาม อาจไม่จำเป็นต้องมานั่งนับเป็นครั้ง เพราะนั่นคือการกดดันตัวเอง ตัวเลขที่มากขึ้นเรื่อยๆ มักบอกให้เรารู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่อาจไม่ใช่อีกต่อไป ทั้งที่ความจริงแล้วถ้าลองอีกซักครั้ง ความสำเร็จอาจจะรออยู่ก็ได้

อย่าลืมว่าระหว่างทางที่เราล้มเหลว สิ่งที่เราได้มาคือความสามารถที่เพิ่มขึ้นจากการทำซ้ำๆ เมื่อทักษะเพิ่มขึ้นจนไปถึงจุดที่ใกล้ถึงความสำเร็จ อย่ารีบถอดใจ ลองอีกครั้ง ลองไปเรื่อยๆ มันอาจรอเราอยู่ในครั้งที่ 22 ก็ได้!

 

เปลี่ยนมุมมองเพื่อออกจากเซฟโซน

bikeman_05

“ชั้นนะ ฝันอยากเป็นนักบิน บางทีก็เบื่องาน อยากลาออก

แต่ก็ไม่กล้าออกจากเซฟโซนแล้วเดินออกไปบอกหัวหน้าซักที”

 

ไม่ผิดหรอกที่เราจะรู้สึกว่างานที่ทำอาจไม่เหมาะกับตัวเองอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเนื้องานที่ไม่ท้าทาย เพื่อนร่วมงานที่กดดันเราทุกทาง หรือแม้แต่ความฝันที่เราอยากจะเป็นไม่ได้อยู่ในเส้นทางเดียวกันกับงานที่ทำอยู่

ตัวจ๋ายเอง ถึงเธอจะทำงานเป็นพนักงานแบงก์ แต่บนโต๊ะทำงานก็ติดรูปที่ตัวเองใส่ชุดนักบินเอาไว้ทุกวัน เมื่อความฝันกับงานที่ทำเป็นเส้นขนานที่ไม่มีทางบรรจบ งานนั่งหน้าเคาน์เตอร์กลายเป็นเซฟโซนที่กันเธอไว้ให้ไม่กล้าเดินออกไปตามหาความฝัน สิ่งที่จะพาหลุดออกมาได้คือการเปลี่ยนความคิด

ไม่ใช่ว่าเรา ‘ทำไม่ได้’ แต่เรายัง ‘ไม่ได้ทำ’

การลาออกก็เช่นกัน หลายคนกลัวว่าการเดินไปบอกหัวหน้าอาจเป็นความลำบากใจ แต่เชื่อเถอะว่าถ้าเรามีความฝันที่อยากไปให้ถึง และเราตั้งใจจะทำมันจริงๆ การเดินออกไปจากเซฟโซนที่เราอยู่ มันไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิดหรอก!

 

แต่อย่าลืมว่าก่อนจะลาออก ต้องมองหางานที่เรารักเสียก่อน ค้นหาตัวเองว่าเราชอบอะไร อยากทำงานแบบไหน และปลายทางอาชีพที่ฝันคืออะไร

ถ้ารู้จักตัวเองแล้ว ลองมาหางานที่ใช่ใน WorkVenture ก็ได้นะ นอกจากเราจะพางานที่ใช่มาเจอกับทักษะที่ทุกคนมี ยังได้อ่านรีวิวของแต่ละบริษัทจากคนทำงานจริงด้วย

ได้เจอทั้งงานที่ฝัน และที่ทำงานที่ดี รับรองว่าออกจากเซฟโซนรอบนี้ ไม่ใช่ทางเลือกที่ผิดแน่นอน!