4 เรื่องที่ควรรู้เมื่อทำงานจริง
สำหรับนักศึกษาจบใหม่หลาย ๆ คน หลังจากที่ก้าวออกจากรั้วมหาวิทยาลัย เป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงจากโลกของการเรียนสู่โลกของการทำงานเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก และมักจะมีหลาย ๆ เรื่องที่แตกต่างกัน วันนี้ Workventure จึงอยากจะมาแนะนำ 4 เรื่องที่ควรรู้ ที่แม้แต่คนที่เริ่มทำงานบางคนนั้น ก็ยังคงเข้าใจผิด
1.การเรียนรู้ยังไม่สิ้นสุด
หลังจากที่จบการศึกษาแล้ว ก็ใช่ว่าการเรียนรู้จะจบลงแค่นั้น ชีวิตมักจะมีบทเรียนใหม่ ๆ มาสอนเราเสมอ ลำพัง จะอาศัยองค์ความรู้ ข้อมูล หรือ ประสบการณ์เก่าๆ มาใช้ในการทำงานในยุคนี้คงไม่เพียงพอแล้ว เพราะโลกแห่งความเป็นจริงและโลกแห่งการทำงาน มันหมุนเร็วกว่าความรู้ที่ได้จากระบบการศึกษา
เฮนรี่ ฟอร์ด เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทฟอร์ดมอเตอร์ เชื่อว่า “ใครก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ อายุมากหรือน้อย เมื่อไหร่ก็ตามที่หยุดการเรียนรู้ก็จะกลายเป็นคนแก่ไปทันที เพราะเรื่องของการเรียนรู้ ทำให้เราเป็นหนุ่มเสมอ” ในมุมมองของ เฮนรี่ ฟอร์ด คนแก่ หมายถึง ถ้าเราหยุดเรียนรู้ ก็จะกลายเป็นคนที่ไม่เปิดรับสิ่งใหม่ นานวันเข้าก็จะตามสิ่งใหม่ ไม่ทัน และในทางกลับกัน การเรียนรู้ ช่วยให้เราก้าวทันการเปลี่ยนแปลง เหมือนกับว่าเราเป็นหนุ่มอยู่เสมอ นั่นเอง
2. ไม่มีอะไรที่เหมาะกับเรา 100%
เมื่อเราเริ่มทำงาน ปัญหาที่เราจะพบเจอ นั่นก็คือ การไม่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ รู้สึกว่ามันยาก หรือไม่เหมาะกับเรา จนทำให้เราเกิดความรู้สึกไม่มั่นคงในใจ ท้อแท้ สิ่งนี้เกิดขึ้นกับทุกคน ขึ้นอยู่กับว่าเรา จะผ่านไปได้ยังไง ให้คิดซะว่ามันคือโอกาส ที่ทำให้เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ และเก็บเกี่ยวประสบการณ์
3. ความฝัน และความสำเร็จไม่สามารถลอกกันได้
เราอาจจะเคยถูกปลูกฝังมาว่าการประสบความสำเร็จในชีวิตต้องมีงานที่มั่นคง ครอบครัว รถ หรือ บ้าน แต่ในชีวิตจริงเราไม่สามารถลอกเลียนแบบความสำเร็จของใครได้อย่างสมบูรณ์ ไม่ใช่ทุกคนที่จะค้นพบสิ่งที่ตัวเองชอบ และไม่ใช่ทุกคนที่จะได้ทำตามความฝันจนสำเร็จ เพราะโลกแห่งความจริงนั้นกลับไม่ง่ายอย่างนั้น บางคนรู้ช้าไปว่าตัวเองอยากทำอะไร ในขณะที่บางคนก็ลังเลว่าควรเดินต่อไปรึเปล่า หรือบางคนอาจเจออุปสรรคมากมายทำให้ไปไม่ถึงฝัน ดังนั้นอย่าพยายามเหมือนใคร แต่จงมีเป้าหมายเป็นของตัวเอง
4. เปลี่ยนงานบ่อยไม่ใช่เรื่องผิด
Job hopper คือ การเปลี่ยนงานบ่อยครั้งในระยะเวลาอันสั้น ไม่สามารถอยู่ที่ไหนได้นานๆ อาจดูเหมือนว่าเราขาดความมุ่งมั่น หรือเพื่อเงินเดือนที่มากขึ้น แต่ในบางกรณี ก็มีความตั้งใจที่จะหางานที่ใช่สำหรับตัวเองจริงๆ เพียงแต่ยังหาไม่เจอ แน่นอนว่าการเป็น Job Hopper ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย
ข้อดี
-
ได้รับเงินเดือนที่สูงขึ้น การเปลี่ยนตำแหน่งที่มีความรับผิดชอบมากขึ้นซึ่งมักจะมาพร้อมกับเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น 10% หรือมากกว่านั้น
-
ความก้าวหน้าในอาชีพ การเปลี่ยนงานทำให้พนักงานมีโอกาสได้งานระดับสูงในบริษัทอื่น นอกจากนี้ยังถือเป็นโอกาสในการเรียนรู้ทักษะใหม่ หรือได้รับหน้าที่ความรับผิดชอบมากขึ้น
-
สภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น มีโอกาสได้ลองสัมผัสวัฒนธรรมองค์กรที่หลากหลาย ช่วยให้เราตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าสภาพแวดล้อมของบริษัทประเภทใดที่จะเหมาะสมที่สุดสำหรับตัวเราเอง
ข้อเสีย
-
หางานยาก เหล่า HR อาจไม่ถามว่าทำไมเราถึงเลือกออกจากงานล่าสุด แต่พวกเขาอาจเชื่อว่าเราไม่มีความอดทนในการทำงานที่เดิมนานๆ และอาจปฏิเสธที่จะสัมภาษณ์เราในทันที
-
ความเครียดและความไม่แน่นอน การหางานอาจนำไปสู่ความเครียดและความไม่แน่นอนในชีวิตของเราโดยไม่จำเป็น เพราะการเปลี่ยนงานมักเกี่ยวข้องกับการเจรจาสัญญาใหม่ การพบปะผู้คนใหม่ๆ และการปรับตารางเวลาใหม่
นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ก็ยังมีอีกหลาย ๆ สิ่งที่ไม่มีสอนในรั้วมหาลัย แต่กลับเป็นสิ่งที่จำเป็นในโลกของการทำงาน ไม่ว่าจะเป็น ทักษะในการทำงานต่าง ๆ การจัดการด้านการเงิน แต่แม้จะไม่มีสอน ก็ควรจะพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ