Company tours | 28 December 2015

เคล็ดลับการสมัครงานจากบริษัทเมืองผู้ดี ‘RB’ (Reckitt Benckiser)

Reckitt Benckiser บริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด และผลิตภัณฑ์ด้านสุขอนามัยชื่อดัง ต้นกำเนิดจากประเทศอังกฤษ ถึงแม้จะเปลี่ยนชื่อเป็น “RB” เมื่อต้นปีที่ผ่านมา บริษัทยังคงดำเนินงานภายใต้แนวคิดเดิมของแบรนด์ที่จะสร้างความสุขและสุขภาพที่ดีให้แก่ผู้คน ด้วยผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ด้านการดูแลสุขภาพอนามัยและที่อยู่อาศัย ภายใต้ชื่อที่คุ้นหูอย่าง Dettol, Strepsils, Veet, และ Durex เป็นต้น

 

 

ความโดดเด่นของ RB ที่แตกต่างจากคู่แข่ง คือ การให้ความสำคัญกับคุณภาพ และแนวคิดผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจน ผู้บริโภคมักจะจดจำผลิตภัณฑ์จาก RB ได้ อย่างแม่นยำ เช่น เมื่อพูดถึงครีมอาบน้ำ Dettol ก็จะนึกถึง ครีมอาบน้ำที่ช่วยในเรื่องของการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ผลิตภัณฑ์ขจัดคราบ Vanish แตกต่างจากผงซักฟอกยี่ห้ออื่นๆ ตรงที่สามารถขจัดคราบสกปรกที่ซักออกยากได้หมดจด

 

WorkVenture มีโอกาสได้เข้าไปเยี่ยมชมออฟฟิศ RB ย่านดินแดง และได้เข้าไปพูดคุยกับ คุณไมเคิล ศิริกุล HR Business Partner ฝ่ายการตลาด คุณไมเคิลเล่าให้เราฟังว่า การทำงานของ RB แบ่งได้เป็น 2 ฝ่ายหลักๆ คือ ฝ่ายการตลาด และ ฝ่ายผลิต บริษัทมีออฟฟิศ 1 แห่ง และ มีโรงงาน 2 แห่งที่บางนา ในส่วนของออฟฟิศ มีพนักงาน 270 คน ดูแลด้านการขาย, การตลาด, และการเงิน

 

 

คุณไมเคิลกล่าวว่า บริษัท RB เปรียบเสมือนนกอินทรี ที่มีความคล่องแคล่วปราดเปรียว ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้ และมุ่งเน้นผลสำเร็จ บรรยากาศการทำงานยืดหยุ่น มีทั้งความผ่อนคลายสบายๆ และความท้าทายใหม่ๆเข้ามาตลอด เหมาะสำหรับคน Gen-Y ที่เบื่อบรรยากาศการทำงานแบบเดิมๆ ในบริษัทที่เคร่งครัดกฎระเบียบ หรือบริษัทที่เชื่อมั่นใน ‘traditions’ มากกว่า ‘innovations’ แต่สำหรับ RB ไม่ว่าคุณจะอยู่ในตำแหน่งไหน Senior, Executive, หรือ Director คุณมีสิทธิ์มีเสียงในการแสดงความคิดเห็นเท่ากัน “ที่นี่คือความผสมผสานอย่างลงตัวระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออก”

 

เราได้สอบถามคุณไมเคิลเพิ่มเติมเกี่ยวกับตำแหน่ง  HR Business Partner ทุกๆวันคุณไมเคิลจะเข้าออฟฟิศตอน 9 โมง เช็คตารางสิ่งที่ต้องทำ แล้วดำเนินงานตามแผนที่วางไว้ ตำแหน่ง HR Business Partner ไม่ได้มีหน้าที่แค่รับพนักงานเข้าทำงาน แต่ต้องดูแลพวกเขาหลังจากนั้นด้วย ต้องคิดว่าจะทำยังไงให้พวกเขารู้สึกมีส่วนร่วมกับบริษัทมากที่สุด แล้วยังต้องเป็นคนพูดคุยเจรจากับผู้ถือหุ้น ว่ามีปัญหากับบริษัทหรือกับงานที่รับผิดชอบอยู่หรือเปล่า  HR ต้องพยายามเข้าใจทุกคน ต้องสามารถตีความสิ่งที่เป็นนามธรรมอย่างเรื่องอารมณ์ความรู้สึกได้เป็นอย่างดี

 

 

เมื่อพูดถึงงาน HR หลายคนจะนึกถึงงานที่ค่อนข้างน่าเบื่อ เช่น การทำตารางเวลา งานแอดมิน งานเอกสาร แต่คุณไมเคิลมีมุมมองที่น่าสนใจว่า จริงๆแล้ว HR เป็นงานที่ซับซ้อน ทักษะที่ต้องใช้คล้ายๆกับงานด้านการตลาด “ผลิตภัณฑ์ของเราก็คือ บริษัท ลูกค้าของเรา คือ Hiring Manager ผู้บริโภคของเราคือ ผู้สมัครงาน ผมมีหน้าที่ต้องคิดว่าจะสื่อสารออกไปยังไง ให้คนอยากมาทำงานกับเรา สำหรับฝ่าย Hiring Management พวกเขาก็ต้องการจะรู้ว่าผู้สมัครคนนั้นๆจะทำงานได้ดีแค่ไหน จะเข้ากับองค์กรได้หรือเปล่า เวลาเราเจอผู้สมัครที่เหมาะสม เราก็ต้องทำให้บริษัทเห็น potential ในตัวผู้สมัครคนดังกล่าวด้วย”

 

 

เวลารับสมัครพนักงาน คุณไมเคิลให้ข้อมูลว่า เขาจะพิจารณาใน 3 ด้าน ด้านแรกคือ ดูว่าคนๆนั้นจะทำงานได้หรือไม่ โดยอาศัยข้อมูลจาก resume เช่น ประวัติการศึกษา ประสบการณ์การทำงาน เป็นต้น ด้านที่ 2 คือ ดูความตั้งใจที่จะทำงาน ดูเรื่องแรงจูงใจเป็นหลัก เหตุผลว่าทำไมถึงลาออกจากที่เก่าก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะปัญหาที่มักจะเกิด คือ บางคนมีความสามารถแต่ไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความก้าวหน้าและความสำเร็จของบริษัท ด้านที่ 3 คือดูเรื่องความเหมาะสม ดูว่าผู้สมัครดังกล่าวจะเข้ากับเพื่อนร่วมงาน และวัฒนธรรมภายในองค์กรได้หรือไม่

 

 

“เราไม่ได้จ้างคนที่จบจากมหาลัยชื่อดัง ไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็นจุฬาฯ หรือเอแบค  การรับสมัครคนเข้าทำงานก็เหมือนกับการไปร้านหนังสือ  เวลาที่คุณต้องการหนังสือท่องเที่ยวสักเล่ม คุณก็จะมองหาไปเรื่อยๆ บางทีคุณอาจจะตัดสินใจสุ่มสักเล่มขึ้นมาดูก็เพราะหน้าปกมันสวยดีก็ได้ หรือบางทีอาจจะเพราะคนแต่งมีชื่อเสียง package หนังสือก็เหมือน CV นั่นแหละ”

 

 

คุณไมเคิลยังทิ้งท้ายถึงผู้สมัครงานทุกคนอีกว่า “การที่คุณจะโดดเด่นกว่าคนอื่น มันขึ้นอยู่กับอะไรหลายๆอย่าง คุณต้องโฟกัสว่า คุณจะสร้างภาพพจน์ตัวเองออกมาแบบไหน สำหรับคนที่เพิ่งจบใหม่ คุณอาจจะยังไม่รู้ว่าจุดแข็งของคุณคืออะไร เพราะคุณไม่เคยทำงานมาก่อน คุณก็ต้องพยายามอธิบายตัวเองออกมาให้ได้ว่าคุณเป็นคนยังไงยังไง ทำไมบริษัทควรจ้างคุณ  คุณควรจะรู้ว่าคุณต้องการอะไร กำลังมองหาอะไรอยู่ คุณควรแสดงออกว่าคุณมีความอยากรู้อยากเห็น เพราะถ้าคุณไม่สงสัย คุณก็จะไม่ได้เรียนรู้ และก็จะไม่ได้พัฒนาตัวเอง”  สำหรับใครที่กำลังมองหางานอยู่ เราหวังว่าบทความนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนได้พัฒนาตัวเอง  และประสบความสำเร็จในการทำงานต่อไปนะคะ