HR & employers | 8 June 2017

สวัสดิการ เพื่อนร่วมงาน เจ้านาย | 3 ปัจจัยหลัก ที่ทำให้พนักงานลาออก

เพราะการทำงานคือสัดส่วนเวลาหลักของชีวิต (70-80 เปอร์เซ็นต์เลยนะคุณ) บริบทและปัจจัยต่างๆในโลกการทำงานที่เราต้องเผชิญอยู่ทุกวี่วัน จึงมีอิทธิพลต่อการ “อยู่” หรือ “ไป” รวมทั้งสั่นคลอนความรู้สึกและอาจทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกอยู่ลึกๆในใจว่า “หางานใหม่ (ดีกว่าไหม? รออะไรล่ะ?)”

นอกจากปัญหาการลาออก จะส่งผลเสียต่อตัวพนักงานเองแล้ว (คงไม่มีใครอยากเปลี่ยนงานเพื่อไปเริ่มต้นใหม่ ปรับตัวใหม่กันบ่อยๆ) ยังเป็นปัญหาที่ส่งผลเสียต่อตัวองค์กรเอง ทำให้องค์กรสูญเสียทรัพยากรต่างๆ จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนของการสรรหาพนักงาน ไปถึงค่าฝึกอบรม และรายได้รวมรายปีขององค์กรเหมือนประโยคที่เปรยๆ กันว่า

“อบรมมาตั้งนาน 2-3 ปีก็ลาออกแล้ว”

การลาออกของพนักงาน ยังสะท้อนให้เห็นถึงจุดบกพร่องของวัฒนธรรมองค์กรด้วย และการจะแก้จุดบกพร่องขององค์กร ดูจะเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ในระยะเวลาอันสั้น เพราะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่ายในองค์กร แต่สิ่งที่จะสามารถทำได้ในขั้นต้น คือการศึกษาการบริหารองค์กรขององค์กรอื่นๆ เพื่อวิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย ในการบริหารหลายๆ รูปแบบในเบื้องต้น เพื่อนำมาพัฒนาและปรับใช้เพื่อเป็นจุดดึงดูดให้พนักงานเก่งๆอยากร่วมงานกับองค์กรของคุณ รวมทั้งยังเป็นการป้องกันไม่ให้พนักงานดีๆเก่งๆที่ทำงานให้บริษัทของคุณคิดปันใจไปมองหาโอกาสอื่นอีกด้วย

ในปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีอัตราการลาออกอยู่ที่ 13% ซึ่งเหตุผล 3 อันดับแรกมาจาก

  1. สวัสดิการและผลประโยชน์
  2. สภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยเฉพาะเพื่อนร่วมงาน
  3. ผู้บริหาร

 

สวัสดิการและผลประโยชน์

ผลสำรวจในปี 2015 เผยว่า พนักงานร้อยละ 60 คิดว่าสวัสดิการเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณารับข้อเสนอขององค์กร ดังนั้นเราจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า สวัสดิการเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้พนักงานตัดสินใจในการเลือกเข้าทำงานในที่หนึ่งๆ หากคุณรู้ว่าเทรนด์ที่หางานปัจจุบันต้องการสวัสดิการใดบ้าง ย่อมทำให้องค์กรของคุณสามารถพัฒนาสวัสดิการเพื่อสร้างความน่าสนใจให้กับผู้สมัครงานได้

 

สภาพแวดล้อมการทำงาน

จากหนังสือ Creteria for Quality of Working life ของ Richard E. Walton ได้เสนอแนวคิดว่า การมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ถูกลักษณะและปลอดภัย สะดวกสบาย มีการเปิดโอกาสให้พนักงานได้พัฒนาความรู้ความสามารถและเป็นที่ยอมรับ ทั้งของเพื่อนร่วมงานและสมาชิกในครอบครัวของตน รวมถึงการเปิดโอกาสให้พนักงานได้มีโอกาสสร้างสัมพันธภาพกับบุคคลอื่นๆ ในองค์กร ย่อมทำให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตการทำงานที่ดีขึ้น

"บรรยากาศการทำงานที่ดีหรือเหมาะสมกับพนักงาน

จึงทำให้พนักงานมีความสุขที่จะร่วมงานกับองค์กรนั้นๆ"

 

เจ้านาย (ผู้บริหาร)

แน่นอนว่าบุคคลผู้ทรงอิทธิพลและมีผลต่อชีวิตในโลกการทำงาน จะเป็นใครไปไม่ได้ถ้าไม่ใช่ “เจ้านาย” หากจะพูดว่า “เจ้านายดีมีชัยไปกว่าครึ่งก็ไม่ผิด” เพราะถ้าองค์กรไหนได้ผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ชัดเจน รับฟังความคิดเห็น มอบหมายงานที่ทำให้ลูกน้องได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่ มีความยุติธรรม รวมไปถึงการเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกน้อง เห็นใจใส่ใจลูกน้องคงเป็นเจ้านายในฝันที่ไม่มีลูกน้องคนไหนอยากปันใจไปที่อื่นแน่นอน (ถ้าเกิดไปเจอเจ้านายถืออภิสิทธิ์เข้างานสาย เริ่มประชุมบ่ายเสร็จประชุมค่ำ คงไม่มีลูกน้องคนไหนแฮปปี้แน่ๆ) ก็นั่นล่ะค่ะท่านผู้ชม เจ้านายที่เวิร์ค ก็จะทำให้เวิร์คทั้งกับตัวองค์กรในแง่ของการสร้างงานที่ดี และเป็นการรักษาไม่ให้ลูกน้องดีๆหนีไปไหนอีกด้วย

 

สมดุลชีวิตการทำงาน

การแบ่งชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวเป็นเรื่องสำคัญ หากองค์กรของคุณไม่สามารถแยกชีวิตการทำงาน และชีวิตส่วนตัวออกจากกันให้พนักงานได้ จะทำให้พวกเขาขาดสมดุลในชีวิต พวกเขาจะรู้สึกกดดันจากการปฏิบัติงานมากเกินไป ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าชั่วโมงการทำงานขององค์กรคุณไม่เหมาะสม องค์กรที่ดีจึงควรจัดระยะชั่วโมงการทำงานอย่างเหมาะสมด้วย

การที่พนักงานไม่สามารถมีเวลาให้ครอบครัว หรือพัฒนาทักษะอื่นๆ ได้ เพราะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงานนั้น เป็นการทำให้พนักงานมีความเครียดสูง ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง ดังนั้นการที่องค์กรเอื้ออำนวยให้พนักงานได้ใช้ชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวอย่างเหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

 

ความก้าวหน้า

การทราบความก้าวหน้าของการทำงาน จะทำให้ผู้สมัครงานทราบว่าสายงานของเขาในองค์กรของคุณ มีความก้าวหน้าหรือไม่ เพราะหลายครั้งที่พนักงานเข้าไปทำงานในองค์กรหนึ่งๆ แล้วพบว่า สายงานของเขาในองค์กรนั้น ไม่ตรงกับความคาดหวังและความต้องการของเขา ในท้ายที่สุด จึงจบลงที่การลาออกจากงานนั้นๆ

หากผู้สมัครได้ทราบถึงความก้าวหน้าในสายงานของเขาก่อนที่จะเข้าร่วมงาน จะทำให้เขาสามารถตั้งวัตถุประสงค์การทำงาน และความคาดหวังที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับองค์กรของคุณ ส่งผลให้เขาสามารถร่วมงานกับองค์กรของคุณได้นาน โดยไม่มีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องความก้าวหน้าเกิดขึ้นเลย

และ WorkVenture เองได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ในส่วนของการศึกษาปัจจัยหลักต่างๆเหล่านี้  จึงได้นำฟีเจอร์ Company Reviews มาใช้ในเว็บไซต์ เพื่อให้พนักงานในองค์กรต่างๆ ได้มีพื้นที่ในการแสดงความคิดเกี่ยวกับองค์กรของตน โดยผู้เขียนรีวิวสามารถนำเสนอข้อมูลได้อย่างรอบด้าน และสามารถให้คะแนนประเมินในแต่ละด้านได้ด้วย โดยเกณฑ์การประเมินแบ่งเป็น สมดุลชีวิตการทำงาน สวัสดิการและผลประโยชน์ ความก้าวหน้า บรรยากาศที่ทำงาน และการบริหารจัดการองค์กร

 

ทุกความคิดเห็นของคุณ จะกลายเป็นเป็นข้อมูลอันมีค่าที่ฝ่าย HR และองค์กรต่างๆจะได้นำไปพัฒนาเพื่อสร้างโลกการทำงานที่มีความสุขให้กับพนักงานต่อไป