ภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout Syndrome
อาการเหนื่อย หมดแรง ท้อแท้ เบื่องาน หมดไฟในตัวเอง หรือภาวะหมดไฟในการทำงาน บางคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ เมื่อได้ทำงานมาสักระยะ
แต่รู้ไหมคะ? ว่าอาการเหล่านี้หากยิ่งเป็นไปนาน ๆ แล้วไม่รีบจัดการกับมัน อาจจะส่งผลให้คุณกลายเป็นโรคซึมเศร้า และแน่นอน เป็นที่รู้ดีว่า เมื่อเป็นโรคนี้ ความสุขในการใช้ชีวิตของคุณจะหายไปทันที ซึ่งอาจถึงขั้นร้ายแรงจนถึงการไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อบนโลก นำไปสู่การฆ่าตัวตายได้
ภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout Syndrome
ภาวะหมดไฟในการทำงาน ยังไม่ได้มีการให้คำจำกัดความต่ออาการนี้อย่างชัดเจน เนื่องจากผู้ที่มีอาการนี้มักจะมีอาการที่คล้ายกลุ่มคนที่เป็นโรคซึมเศร้า และมักมีความวิตกกังวลสูง จึงอาจจะทำให้เกิดความสับสนเข้าใจผิด
สำหรับผู้ที่อยู่ในภาวะหมดไฟในการทำงาน จะเกิดจากการทำงานเป็นหลัก ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่อยู่ในภาวะหมดไฟในการทำงานจะต้องเป็นโรคซึมเศร้าเสมอไป เพียงแต่มีความเสี่ยงมากกว่าปกติเท่านั้นเอง
ภาวะหมดไฟในการทำงาน กับ โรคซึมเศร้า
คนที่มีภาวะหมดไฟในการทำงาน และคนที่มี ภาวะโรคซึมเศร้า จะมีลักษณะที่คล้ายๆกัน คือ รู้สึกหดหู่ เหนื่อย หมดแรง ปรถสิทธิภาพในการทำงานลดลง แต่คนที่มีภาวะของโรคซึมเศร้าจะมีอาการที่รุนแรงกว่ามาก เพราะเป็นความผิดปกติในทางด้านความคิด อารมณ์ ความรู้สึกที่จะเป็นไปในทางลบอันมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดการจบชีวิตตนเอง
ภาวะหมดไฟในการทำงาน เกิดขึ้นได้จากปัจจัยใดบ้าง
1. ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน
● อยู่ในสภาวะเครียดและกดดันในการทำงานเป็นเวลานานเกินไป
● งานที่รับผิดชอบไม่ได้เป็นงานที่ชอบ รัก หรือถนัดที่จะทำ หรืองานมีลักษณะที่น่าเบื่อ ขาดความท้าทาย
● ไม่ได้รับความใส่ใจ การยอมรับ หรือได้รับค่าตอบแทนน้อย ไม่เหมาะสมกับงานที่ทำ
● งานมีปริมาณมาก แต่คนที่ทำหรืออุปกรณ์ในการทำงานมีน้อย
2. ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิต
● ทำงานหนักจนไม่มีเวลาพักผ่อน
● นอกเหนือจากการทำงานแล้ว ยังมีภาระหน้าที่อื่นๆที่ต้องรับผิดชอบเช่นกัน แต่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจนนำมาสู่ความเครียด วิตกกังวล
● อยู่ในสภาพครอบครัวไม่มีความสุข คู่สมรสมีปัญหาขัดแย้งกัน
3. ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพ
● เป็นคนที่ยึดติดความสมบูรณ์แบบ มาตฐานในการทำงานสูงจนเกินไป
● ไม่มีความยืดหยุ่น ต้องการควบคุมทุกอย่างให้เป็นไปตามความต้องการของตัวเอง
● มีความคาดหวังที่มากเกินความเป็นจริง
รักษาอาการของภาวะหมดไฟในการทำงาน
หากอาการภาวะหมดไฟในการทำงานยังไม่รุนแรงมากนัก สามารถที่จะรักษาได้ด้วยตนเองได้ ดังนี้
1. สมดุลการใช้ชีวิต
พักผ่อนให้เพียงพอ รับแต่อาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหาร หรือสิ่งของที่เป็นผลเสียต่อสุขภาพร่างกาย
2. จัดระเบียบการใช้ชีวิต
จัดลำดับความสำคัญของการทำงาน อันไหนสำคัญมา อันไหนด่วนกว่า จัดระเบียบการทำให้เหมาะสมกัน
3. ผ่อนคลายความเครียด
ทำในกิจกรรมที่คุณชอบ เพิ่มความผ่อนคลายให้ตัวเอง เมื่อมีเวลาว่างก็ออกไปเติมพลังให้ชีวิตไม่ว่าจะเป็นการดูหนัง ฟังเพลง หรืออกไปท่องเที่ยว
4. ลดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
รู้จักกำหนดเวลาในการใช้โซเชียลมีเดีย อันเป็นต้นเหตุของการทำงาน
5. ปรับทัศนคติในการทำงานของตัวเอง
รู้จักจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้น แม้ในการทำงานอาจจะเกิดความเครียดบางเป็นเรื่องปกติ แต่ควรให้มีอยู่ในระดับที่เหมาะสม
วิธีจุดไฟในการทำงานให้ตัวเอง
เมื่อรู้ตัวว่าเริ่มหมดไฟในการทำงาน จะรออะไรละคะ ก็รีบจุดไฟเสียสิ อย่าให้ไฟในตัวมอดลงไปเสียก่อน เรามาดูกันว่าจะจุดไฟในตัวคุณเองได้ด้วยวิธีไหนกันบ้าง
1. ให้เวลาตัวเองกับสิ่งที่ชอบ
หากเหนื่อยนักก็พักสักหน่อย ถือว่าเป็นการเติมพลังชีวิตให้ตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการทำกิจกรรม หรือออกไปท่องเที่ยว ถือว่าเป็นการออกไปค้นหาตัวเองอีกแบบ
2. ถอดปลั๊กให้ตัวเอง
ความเครียด ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งมาจากการที่คุณเสพติดโซเชียลมากเกินไป ดังนั้น ปล่อยวางเสียบ้างและจะทำให้ชีวิตคุณมีความสุขมากขึ้น
3. เริ่มต้นใหม่ เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ เสียบ้าง
บางครั้งการจมอยู่กับอะไรเดิม ๆ ซ้ำซากจำเจ อาจจะทำให้ร่างกายเหนื่อยล้าได้ง่ายมากขึ้น ดังนั้นควรเริ่มมองหาสิ่งใหม่ ๆ เพื่อที่จะช่วยให้คุณคลายความจำเจขึ้นมาได้
4. ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน
การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนจะช่วยให้คุณเห็นภาพ และสามารถเรียงลำดับได้ว่าต้องทำอะไรอย่างไหนก่อน ซึ่งจะช่วยลดความกังวลและความเบื่อหน่ายลงไปได้
5. นึกถึงผลลัพธ์มากกว่าอุปสรรค
หยุดความคิดไนแง่ลบของคุณ หากต้องเจอกับอุปสรรคหรือปัญหาใดๆ ควรคำนึงถึงผลลัพธ์ที่คุณจะได้มากกว่าอุปสรรคที่กำลังเจออยู่
สาเหตุการเกิดปัญหาสุขภาพที่สำคัญส่วนใหญ่แล้ว มักเริ่มมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตัวคุณเองทั้งสิ้น การหมดไฟในการทำงานก็เช่นกันที่นำมาซึ่งโรคซึมเศร้า
ดังนั้น คุณควรมี ภูมิคุ้มกันในเรื่องสุขภาพ ให้มากเพียงพอ เพราะคุณไม่สามารถจะรู้ได้เลยว่าพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เป็นอยู่ของคุณจะนำมาซึ่งโรคร้ายอะไรบ้างหรือไม่