Career advice | 5 March 2015

How to เริ่มงานที่ใหม่ แบบไร้ที่ติ

มีใครคนไหนที่เพิ่งได้งาน แล้วกำลังจะเริ่มงานในเร็วๆนี้มั้ยครับ? ถ้ามีละก็ อย่าเพิ่งละสายตาไปไหนเชียว นั่นก็เพราะทีมงาน WorkVenture ได้รวบรวม 9 ข้อแนะนำดีๆเกี่ยวกับสิ่งที่ควรทำ/ไม่ควรทำในการเริ่มงานวันแรกมาให้อ่านกันในบทความนี้แล้ว

1. ทดสอบเดินทางไปยังที่ทำงานก่อนวันทำงานจริง

ก่อนการเริ่มงานในวันแรก คุณควรระวังเรื่องการเดินทางของคุณให้ดี ไม่ว่าจะเดินทางด้วยการขับรถ ขี่จักรยาน ขึ้นรถเมล์ หรือ การเดินทางแบบใดก็ตาม แล้วสิ่งที่คุณควรทำมากที่สุดก็คือลองเดินทางไปยังที่ทำงานก่อนวันจริงอย่างน้อยหนึ่งวัน  เพราะการเดินทางในเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งบนท้องถนนนั้นมีความไม่แน่นอนสูงมาก หากลองเดินทางด้วยตนเองแบบล่วงหน้าเช่นนี้แล้วยังสามารถไปถึงที่หมายก่อนเวลาเข้างานจริงได้อย่างน้อย 10 นาทีแล้วละก็ มันจะช่วยสร้างความมั่นใจได้ว่าคุณไม่ไปสายในการทำงานวันแรกแน่ๆ

 

2. ระวังเรื่องเวลามื้อเที่ยงในวันแรกของคุณไว้

ออฟฟิศในทุกๆที่ย่อมมีเวลาพักเที่ยงให้ทานข้าวกันเป็นปกติอยู่แล้ว ซึ่งเจ้านายของใครหลายคนอาจคาดหมายว่าพนักงานของตนควรจะรีบกินให้เสร็จไวๆ แล้วไปทำงานต่อ แต่เจ้านายบางคนก็ไม่ได้ถือสาอะไรถ้าบรรดาพนักงานของตนต้องการใช้เวลาในการกินแบบนานๆหน่อย  อย่างไรก็ตาม ถ้ามันเป็นวันแรกของคุณแล้วล่ะก็ เราขอแนะนำให้คุณกินแบบเร็วๆไว้ก่อน เพราะถ้าเอ้อระเหยจนหมดเวลาพักเที่ยงแล้วละก็ เจ้านายคุณอาจจะเดินมาสะกิดไหล่เตือนคุณแบบไม่ทันคาดหมายก็เป็นได้

 

3. ทำการบ้านให้เยอะไว้ก่อน

วิธีหนึ่งที่จะทำให้เจ้านายของคุณประทับใจตั้งแต่วันแรกของการทำงาน คือการทำให้เขาเห็นว่าคุณมีความรู้ ความเข้าใจในตัวบริษัทที่คุณกำลังทำอยู่เป็นอย่างดี ซึ่งคุณสามารถทำได้จากการอ่านข้อมูลในเว็บไซต์ของบริษัทและลูกค้าของบริษัท หรือบทความอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

 

และเพื่อให้ดีกว่านั้น เราขอแนะนำคุณให้ลองทำสัญญาณแจ้งเตือนไว้ที่อีเมล์ของคุณผ่านฟังก์ชัน Google News ยามที่มีข้อมูลใดๆก็ตามที่เกี่ยวข้องกับบริษัทของคุณปรากฏขึ้นบนอินเตอร์เน็ต แน่นอนว่าคุณไม่จำเป็นต้องอ่านเอกสารทุกชิ้น หรือรู้ทุกเรื่องที่เกิดขึ้นก็ได้ แต่อย่างน้อยที่สุด การสนใจข้อมูลพวกนี้บ้างจะทำให้คุณไม่ประหม่ายามที่ต้องพูดคุยกับคนตำแหน่งสูงๆของบริษัทซึ่งบางทีคุณอาจจะได้เจอแบบไม่คาดคิดตั้งแต่วันแรก

 

4. จงถามในทุกๆสิ่งที่คุณไม่รู้หรือไม่เข้าใจ

ถ้าคุณสงสัยเรื่องใดเกี่ยวกับงานที่ได้รับมอบหมายตั้งแต่วันแรกแล้วไม่ชัวร์ว่าควรถามดีหรือไม่นั้น ก็ขอให้คิดไว้อยู่เสมอว่าว่ามันไม่มีคำถามหรือข้อสงสัยใดๆเลยที่ถือเป็นคำถามโง่เง่า ในทางกลับกัน สิ่งที่โง่เง่าที่สุดสำหรับวันแรกของคุณก็คือการลุยทำตามงานที่ได้รับมอบหมายโดยที่ไม่เข้าใจจริงๆว่าทำไปทำไม หรือควรจะทำยังไงเสียมากกว่า

 

หากมีการประชุมแล้วเจ้านายเขามอบหมายงานทำตั้งแต่ตอนนั้นละก็ ลองตั้งใจเก็บรายละเอียดทุกอย่างให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ภายในการประชุมนั้นเลย และหากคุณทำงานกับทีมมาได้ครึ่งทางแล้วพบว่ามันมีบางอย่างที่ดูเหลวไหลเกิดขึ้น ก็จงรีบบอกทีมของคุณ หาทางแก้ไข และเคลียร์ให้จบโดยไว  เพราะการบอกทีมถึงความผิดพลาดทีเกิดขึ้นบ่งบอกว่าคุณมีความเอาใจใส่งาน แต่ถ้าการทักท้วงของคุณกินเวลานานมันจะทำให้คุณกลายเป็นพวกเรื่องมากไปในทันที

 

5. ลองเงียบและจงตั้งใจฟัง

มันเป็นไปได้ว่าเจ้านายอาจจ้างคุณมาเพื่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่บริษัท แต่ก็เป็นไปได้อีกเช่นกันว่าเจ้านายของคุณเป็นพวกไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลง และไม่ค่อยรับฟังความเห็นจากคนอื่นมากเท่าใดนัก ดังนั้น ถึงแม้ว่าคุณจะมีความคิดที่ดีแค่ไหน และอยู่ในสถานะที่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ทันที เราแนะนำว่าอย่าเพิ่งรีบร้อนนำเสนออกไป ขอให้ใจเย็นๆ ลองอยู่อย่างเงียบๆในวันแรกเสียก่อน

 

เพราะอะไรน่ะหรือ?  คำตอบก็คือ ต่อให้คุณมีความคิดที่ดีแค่ไหน คุณก็ต้องทำให้คนที่สามารถนำความคิดของคุณไปปฏิบัติจริงได้ยอมฟังคุณเสียก่อน  ดังนั้นลองใช้เวลาช่วงแรกๆของการทำงาน สร้างความสนิทสนมกับพวกเขา ฟังสิ่งที่เขาพูดคุยบ่อยๆ และเคารพความคิดเห็นของพวกเขา หลังจากนั้นคุณจึงค่อยปล่อยไอเดียดีๆของคุณออกไป ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาย่อมต้องเปิดใจ รับฟังคุณมากขึ้นแน่ๆเมื่อเทียบกับการที่คุณจะพูดออกไปเลยตั้งแต่วันแรก

 

6. เข้าใจให้ตรงกับเจ้านายของคุณ

การสื่อสารที่ชัดเจนระหว่างคุณกับเจ้านายมีความสำคัญต่อการร่วมงานกันเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น เราขอแนะนำให้คุณแบ่งเวลาบางส่วนในวันแรกของการทำงาน เพื่อไปพูดคุยกับเจ้านายเป็นการส่วนตัวเกี่ยวกับสไตล์การทำงานและการสื่อสารของเขา นั่นก็เพราะเจ้านายบางคนอาจชอบที่จะให้คุณอธิบายทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อกับลูกค้า, โปรเจคท์ที่กำลังเดินหน้าอยู่, ปัญหาของบริษัทที่เกิดขึ้น แต่เจ้านายบางคนจะมีสไตล์ที่รอฟังเฉพาะประเด็นที่สำคัญมากๆเท่านั้น ดังนั้นการเข้าใจสไตล์การสื่อสารและการทำงานของเจ้านายเป็นอย่างดี ย่อมทำให้คุณสามารถปรับตัว และทำงานได้อย่างราบรื่นไม่ว่าจะเป็นวันแรกหรือวันต่อๆไปก็ตาม

 

7. อย่าเพิ่งรีบเป็นตัวของตัวเอง

สำหรับวันแรกของการเริ่มงาน จงเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ที่เงียบๆไว้ก่อน เก็บข้อมูลทุกอย่างที่อยู่รอบตัวของคุณให้ดี ใจเย็นๆ เข้าไว้ เพราะเมื่อวันเวลาที่จังหวะของคุณมาถึง คุณจะสามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่เอง แล้วจะเป็นการเต็มที่ที่อยู่บนพื้นฐานของการรู้ข้อมูลทุกอย่างแล้วด้วย

 

8. แต่งกายให้กลมกลืน

เมื่อเข้าเมืองตาหลิ่ว เราก็ต้องหลิ่วตาตามบ้าง สิ่งที่คุณควรทำในวันแรกของการทำงานก็คือลองสังเกตว่าเพื่อนร่วมงานส่วนใหญ่ของคุณแต่งตัวแบบไหน จากนั้นจำไว้ แล้วลองแต่งตัวให้กลมกลืนกับพวกเขาในวันต่อๆไป ที่ต้องทำเช่นนี้เพราะมันสามารถสื่อได้ว่าคุณเลือกที่จะปรับตัวให้ใกล้ชิดกับพวกเขาแม้กระทั่งเรื่องเล็กๆอย่างเครื่องแต่งกาย และมันจะดียิ่งกว่านั้นหากคุณทราบข้อมูลเหล่านี้ก่อนหน้าวันทำงานจริง และสามารถแต่งตัวคล้ายๆเพื่อนร่วมงานของคุณได้ตั้งแต่วันแรกเลย

 

9. นอนให้พอ

จงเข้านอนให้ไวในคืนก่อนการเริ่มงานวันแรก เพราะหากคุณรู้สึกตื่นเต้นจนหลับไม่ลงแล้วละก็ คุณก็ยังมีเวลาเหลือเพียงพอที่จะทำใจให้เย็นๆบนเตียงจนเคลิ้มหลับลงไปได้ในที่สุด ซึ่งมันดีกว่าการที่คุณเข้านอนดึก ทว่าตื่นเต้นนานกระทั่งกว่าจะเคลิ้มหลับก็เข้าสู่เช้าวันใหม่ของการทำงานวันแรกไปซะแล้ว

 

หวังว่าข้อแนะนำทั้ง 9 ข้อนี้ จะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านไม่มากก็น้อย...

 

และทีมงาน WorkVenture ขออวยพรให้การเริ่มทำงานในวันแรกของพวกคุณทุกคนเป็นไปได้ด้วยดีนะครับ