Gamification เทคนิคจูงใจ ให้การทำงานสนุกเหมือนเล่นเกม
จะเป็นยังไงถ้าชีวิตการทำงานในบริษัทไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป? บอกลาการเอาแต่นั่งทำงานอยู่หน้าจอหลายชั่วโมงติดต่อกัน หรือกระทั่งการต้องเข้าฟังสัมมนาสุดน่าเบื่อเหล่านั้นไปได้เลย เพราะวันนี้ WorkVenture ขอพามาสำรวจ Gamification สไตล์การทำงานสุดล้ำที่เปิดโลกการทำงานยุคใหม่ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้การทำงานนั้นสนุกเหมือนกำลังเล่นเกมอยู่ แต่ยังทำให้พนักงานพัฒนาตัวเองไปพร้อมกับทีมได้อีกด้วย ถ้าหากพร้อมแล้วก็กดปุ่ม START และมาเริ่มทำความรู้จักสไตล์การทำงานนี้กันได้เลย!
Gamification คืออะไร
Gamification คือการนำกลยุทธ์ของเกมมาปรับใช้ในบริบทที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเกม เช่น การศึกษา หรือวงการธุรกิจ เพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้คนให้เกิดการเรียนรู้และเพิ่มการมีส่วนร่วมผ่านประสบการณ์แสนสนุก ไม่ว่าจะเป็นการตอบคำถามแลกรางวัลหรือการสะสมแต้ม
ในแง่ของการพัฒนาองค์กร เทคนิคนี้จะหมายถึงการ “สร้างบรรยากาศ” การแข่งขันและความท้าทายให้เกิดขึ้นภายในองค์กร ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการทำงาน พัฒนาตัวเอง และสร้างการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมภายในต่าง ๆ ซึ่งจะมีผลต่อการสร้างประสบการณ์ที่ดีในการทำงานรวมถึงเป็นการรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรได้นานอีกด้วย โดยผลสำรวจในปี 2019 เกี่ยวกับเรื่องการปรับใช้เกมในองค์กรของ TalentLMS เผยว่า 89% ของผู้ตอบแบบสำรวจรู้สึกทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อมีเกมเข้ามาเกี่ยวข้อง
ดังนั้น Gamification จึงไม่ใช่การสนับสนุนให้พนักงานหันมาเล่นเกมจนละเลยหน้าที่ความรับผิดชอบ แต่เป็นการนำเกมเข้ามาเปลี่ยนแปลงความน่าเบื่อของการทำงานให้พนักงานรู้สึกมีความสุขและสนุกไปกับมัน ลดโอกาสการเกิดความเครียด สภาวะหมดไฟ และการลาออกนั่นเอง
ประโยชน์ของ Gamification
นอกเหนือจากการสร้างแรงบันดาลใจ กระตุ้นการทำงาน และสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงาน การนำเกมเข้ามาพัฒนาองค์กรยังส่งผลดีในอีกหลายแง่ เช่น
-
พัฒนาทักษะของพนักงาน เพราะเกมทำให้พนักงานจะมีเป้าหมายในการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอย่างชัดเจน ก่อให้เกิดบรรยากาศการเรียนรู้ที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง พนักงานเริ่มมีความกระตือรือร้นที่อยากจะก้าวหน้าเพื่อพิชิตเป้าหมายที่วางไว้ไปเรื่อย ๆ ผ่านการลงมือทำจริงในสภาพแวดล้อมที่ให้การสนับสนุน
-
เสริมสร้างการทำงานเป็นทีม เพราะพนักงานจะได้ฝึกทั้งการสื่อสาร การทำงานร่วมกับผู้อื่น สร้างความเชื่อใจระหว่างกัน และแบ่งปันความรู้หรือความสามารถที่เป็นจุดแข็งของแต่ละคน เพื่อทำให้เป้าหมายที่ทุกคนมีร่วมกันสำเร็จไปได้ด้วยดี
-
ได้รับคำแนะนำที่รวดเร็ว ทำให้พนักงานได้รับรู้ว่าทักษะใดที่เป็นจุดเด่นของตัวเอง และมีอะไรบ้างที่สามารถพัฒนาหรือปรับปรุงได้ การใช้เกมเข้ามาเกี่ยวข้องจึงมีส่วนช่วยสะท้อนการทำงานของพนักงานในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้ทันท่วงที ซึ่งจะเหมาะอย่างยิ่งกับองค์กรที่เน้นการทำงานด้วยความรวดเร็ว
-
ดึงดูดคนรุ่นใหม่ เพราะเกมจะทำให้บรรยากาศการทำงานแตกต่างไปจากรูปแบบการทำงานเก่า ๆ ที่เน้นอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือเอกสารจนหมดวัน แต่จะสอดแทรกกิจกรรมที่ทำให้เกิดการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์ผ่านความสนุกสนาน ซึ่งตรงกับลักษณะการทำงานที่คนรุ่นใหม่สนใจ หากองค์กรใดมีการใช้เกมเพื่อการทำงานอาจทำให้ทาเลนต์รุ่นใหม่หลายคนอยากร่วมงานด้วยก็เป็นได้
อยากนำ Gamification มาใช้ จะทำยังไงได้บ้าง
-
จัดอบรมผ่านการเล่นเกม แทนการสัมมนาที่กินระยะเวลาทั้งวันแถมยังน่าเบื่อและเป็นทางการจนเกินไป องค์กรสามารถจัดกิจกรรมพัฒนาทั้ง Hard Skills และ Soft Skills ได้ผ่านการทำกิจกรรมกลุ่มที่พนักงานจะได้ตั้งใจเก็บเกี่ยวความรู้ เกิดความช่วยเหลือ แลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันเพื่อนำไปแข่งขันกับผู้อื่น ทำให้การเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
-
ส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านการแบ่งเลเวล แม้จะมีการจัดคอร์สเรียนออนไลน์ให้พนักงานได้ศึกษาฟรีตามความสนใจ แต่หลายองค์กรอาจพบเจอปัญหาที่ว่าจำนวนพนักงานที่เรียนคอร์สเหล่านั้นจนจบมีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น การแบ่งเลเวลของใบประกาศนียบัตรที่จะได้รับหลังจบคอร์สเรียนนั้นจะช่วยกระตุ้นให้พนักงานตื่นตัวกับการเรียนรู้มากขึ้น เพื่อผลักดันตัวเองให้เลื่อนขั้นไปสู่อีกเลเวลให้ได้
-
มอบรางวัลเป็นกำลังใจให้พนักงาน ซึ่งรางวัลอาจอยู่ในรูปแบบอะไรก็ได้ เช่น สิ่งของหรือเหรียญตราเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าพวกเขาได้ก้าวหน้าไปอีกขั้นแล้ว ไม่ว่าความสำเร็จนั้นจะเล็กหรือใหญ่ก็ตาม เพื่อให้พนักงานได้ตระหนักถึงความพยายามที่ได้ลงแรงไปอย่างต่อเนื่อง เกิดความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง นำไปสู่การมุ่งมั่นทำงานที่มากขึ้นกว่าเดิมเพื่อสร้างผลลัพธ์ใหม่ ๆ ในอนาคต
-
ประกาศพนักงานดีเด่นประจำเดือน ให้กับคนที่สามารถทำตามเป้าหมายที่องค์กรตั้งเอาไว้แต่ละเดือนได้สำเร็จ ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้เกิดความภาคภูมิใจต่อผลงาน ความสามารถ และการพยายามอย่างหนักของพนักงานแต่ละคน อีกทั้งยังทำให้เพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ รู้สึกมีแรงบันดาลใจที่จะพัฒนาตัวเองและทำให้เป้าหมายสำเร็จตามที่องค์กรตั้งเกณฑ์เอาไว้ เพื่อก้าวขึ้นไปเป็นพนักงานดีเด่นในเดือนถัดไป วิธีนี้จึงเป็นการส่งเสริมคุณภาพของงานในองค์รวมได้เป็นอย่างดี
-
ทำตารางจัดอันดับที่จะช่วยให้พนักงานได้เห็นตำแหน่งที่ตัวเองอยู่เทียบกับคนอื่น ๆ ซึ่งสามารถปรับใช้ได้ทั้งกับการสนับสนุนให้พนักลงเรียนคอร์สออนไลน์ให้ได้จำนวนมาก หรือในสายงานที่ยอดขายเป็นสิ่งจำเป็น เช่น ตำแหน่งเซลล์ เป็นต้น เพราะเมื่อพนักงานได้อยู่ในอันดับที่สูงเท่าไหร่ก็จะยิ่งมีแรงจูงใจให้อยากทำยอดได้เยอะยิ่งขึ้นเท่านั้นเพื่อไม่ให้ตกอันดับ ในขณะเดียวกันพนักงานที่อยู่ในอันดับต่ำกว่าก็จะรู้สึกท้าทายเพื่อเอาชนะคนที่อยู่ในตำแหน่งสูงกว่าตน สร้างบรรยากาศของการแข่งขันนำไปสู่ความสำเร็จขององค์กรในอนาคต
สิ่งที่ควรระมัดระวังเมื่อนำ Gamification มาปรับใช้
แม้ว่าการนำเกมมาปรับใช้ในการทำงานจะสร้างผลดีต่อการพัฒนาองค์กรหรือมีความดึงดูดใจพนักงานมากแค่ไหน แต่หากใช้ไม่ถูกวิธีและไม่ระมัดระวังอาจทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี โดยเฉพาะกับเรื่องการแข่งขันที่งานวิจัยปี 2020 พบว่า การทำงานในรูปแบบนี้ทำให้พนักงานบางคนรู้สึกกดดันและเครียดมากกว่าที่จะมีแรงบันดาลใจในการพัฒนาตนเอง จนส่งผลกระทบถึงชีวิตส่วนตัวและความเป็นอยู่ องค์กรจึงควรเน้นย้ำเรื่อง Work-Life Balance และสุขภาพใจของพนักงานอย่างสม่ำเสมอ
นอกจากนี้ยังต้องคอยประเมินเกมที่นำมาปรับใช้ให้แปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา ป้องกันความรู้สึกเบื่อหน่ายของพนักงานและคำนึงถึงสิ่งที่พวกเขาจะได้รับจากเกมเหล่านั้น อย่างการโฟกัสทักษะหรือความรู้ใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่ออนาคตพนักงานอย่างแท้จริง มากกว่าสินค้าหรือวัตถุต่างที่นำมาเป็นรางวัล
Gamification ถือเป็นหนึ่งในสไตล์การทำงานที่หลายองค์กรเริ่มนำมาปรับใช้กับวัฒนธรรมของตัวเองเพื่อสร้างบรรยากาศความสนุกสนาน พลิกโฉมการทำงานและพัฒนาองค์กรแบบเดิมให้ไม่จำเจอีกต่อไป แต่แม้จะมีข้อดีมากมาย Gamification ก็ไม่ต่างกับดาบสองคมเพราะองค์กรยังจำเป็นที่จะต้องใส่ใจพนักงานบางส่วนที่มีโอกาสเกิดความเครียดจากระบบการทำงานแบบนี้ด้วยเช่นกัน เพื่อให้การผสมผสานระหว่างการทำงานและเกมออกมาอย่างลงตัวและมีประสิทธิภาพมากที่สุดนั่นเอง