งานไหนที่เหมาะกับเรา? 5 ขั้นตอนหางานที่ใช่ยังไงให้ตรงกับ Skills
เคยเป็นไหม? รู้สึกเหมือนกำลังหลงทางอยู่ ไม่รู้ว่างานที่ทำอยู่นั้นจะดีกับตัวเองหรือไม่ ในขณะเดียวกันก็ไม่รู้ว่าจะไปทำงานใหม่อะไรดี นี่อาจเป็นสัญญาณให้คุณเริ่มกลับมาทบทวนอีกครั้งว่า “งานที่เหมาะกับฉันแท้จริงแล้วคืออะไร” วันนี้ WorkVenture ขอตบไหล่ให้กำลังใจและยืนหยัดอยู่เคียงข้างทุกคนที่กำลังสับสนในเส้นทางของตัวเอง พร้อมคุณมาสำรวจและหาคำตอบไปด้วยกันกับ 5 ขั้นตอนง่าย ๆ ที่ไม่ว่าคุณจะทำงานอะไร เลเวลไหน ก็สามารถใช้วิธีนี้ได้
1. ก่อนจะหางาน มาเริ่มหาตัวเองกัน
งานที่เหมาะสมคืองานที่สะท้อนความเป็นตัวเองออกมาอย่างแท้จริง นั่นหมายความว่าคุณจะต้องไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนถึงสิ่งที่ต้องการ โดยพยายามคัดกรองคำตอบของคุณให้เชื่อมโยงกับความต้องการของผู้อื่นน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ลองหยิบสมุดและปากกาขึ้นมาแล้วตอบคำถามเหล่านี้ดูสิ จะทำให้คุณรู้จักตัวเองมากขึ้น
-
คุณมีความรู้และทักษะด้านไหนบ้าง? คำถามข้อนี้จะทำให้รู้ว่าตัวเองมีความสามารถอะไรบ้าง ไปจนถึงจุดแข็งและจุดอ่อนทั้ง Hard Skills และ Soft Skills หากยังนึกคำตอบข้อนี้ไม่ออก การขอคำแนะนำจากคนที่คุณเคยร่วมงานด้วยไม่ว่าจะเป็นหัวหน้า เพื่อนร่วมงานในองค์กร รวมถึงเพื่อนที่เคยทำโปรเจกต์ด้วยกันในสมัยเรียนก็เป็นทางเลือกที่ดี เพราะพวกเขาอาจมองเห็นศักยภาพบางอย่างที่ซ่อนอยู่ ซึ่งคุณอาจไม่เคยสังเกตมันมาก่อนก็เป็นได้
-
ประสบการณ์ทำงานแบบไหนที่คุณชอบ? คำถามข้อนี้จะทำให้รู้ว่าคุณสนุกกับการใช้ทักษะในคำตอบข้อแรกในการทำงานจริงหรือไม่ เช่น คุณพบว่าตัวเองมีทักษะการวางแผนที่ดีจากการทำงานเป็น Project Manager แต่อาจจะไม่ได้สนุกกับการวางแผนอย่างที่คิด ในทางกลับกันคุณชอบที่จะสื่อสารกับผู้คนที่หลากหลายมากกว่าระหว่างทำงานอยู่ในตำแหน่งนั้น แม้ว่าคุณอาจจะสื่อสารไม่เก่งเท่ากับการวางแผน แต่นี่ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่ทำให้มีแรงบันดาลใจในการหางานที่เหมาะกับตัวเองเพื่อพัฒนาสิ่งที่คุณชอบ
-
คุณมีความสุขกับการทำงานแบบไหน? นอกจากจะนับรวมถึงการทำงานที่สำนักงาน การทำงานแบบ Hybrid และ Work From Home ก็ยังรวมไปถึงวัฒนธรรมองค์กรอีกด้วย เพราะทั้งสองอย่างในข้างต้นนี้จะส่งผลถึงสภาพแวดล้อมการทำงานโดยสมบูรณ์ หากคุณเป็นคนที่ชอบอยู่กับบ้านและถูกใจการทำงานกับชาวต่างชาติ คุณก็ควรจะเลือกสมัครงานในบริษัทต่างชาติที่อนุญาตให้ทำงานแบบ Hybrid หรือ Work From Home ได้ เพราะการมีสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนจะทำให้คุณรู้สึกอยากลุกขึ้นมาทำงานในทุกวัน
2. หาอุตสาหกรรมที่คุณสนใจ
นอกจากการทำความรู้จักตัวเอง คุณต้องทำความรู้จักอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่สนใจจะเข้าไปทำงานด้วย ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายระหว่างการหางาน เพราะบางตำแหน่งแม้มีชื่อเดียวกันแต่ลักษณะงานและความรู้ที่ต้องใช้จะมีบางส่วนที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมนั้น ๆ เช่น หากคุณสนใจตำแหน่งพนักงานขายและได้มีโอกาสทำงานในอุตสาหกรรม IT นอกจากเรื่องสินค้าและบริการของบริษัทที่ต้องขาย คุณต้องเพิ่มพูนความรู้พื้นฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดังกล่าวเช่นกัน เพื่อที่จะสามารถตอบคำถามลูกค้าที่อาจมีความเฉพาะเจาะจงได้
3. หาตำแหน่งที่ตรงกับคำตอบของคุณ
มาถึงขั้นตอนนี้คุณคงจะเริ่มมองภาพได้กว้างขึ้นแล้ว ถึงความเป็นไปได้อันไร้สิ้นสุดที่จะเติบโตในสายอาชีพที่ตรงกับความสามารถ ความชอบ รูปแบบการทำงาน และเป้าหมายในอนาคตของคุณ ขั้นตอนต่อไปที่ต้องทำคือการค้นหาข้อมูลตำแหน่งงานที่ตรงกับคำตอบของคุณในข้อแรกและข้อสอง
-
ตำแหน่งที่ตรงกับความสามารถและความชอบโดยตรง เช่น ถ้าคุณชอบการวิเคราะห์ ตัวเลข งานที่เหมาะกับคุณก็จะเป็นเจ้าหน้าที่การตลาด นักวิเคราะห์ข้อมูล หากจุดแข็งของคุณคือการเขียน คุณสามารถเป็นนักเขียนคอนเทนต์ นักเขียนคำโฆษณาได้ เป็นต้น
-
ตำแหน่งที่ความสามารถของคุณเป็น Transferable Skills หรือ ทักษะที่สามารถนำไปปรับใช้ในสายงานไหนก็ได้ เช่น หากคุณชอบหรือถนัดการสื่อสาร คุณสามารถเป็นพนักงานบริการลูกค้า เจ้าหน้าที่ประสานงาน พนักงานต้อนรับได้ เป็นต้น
4. หาองค์กรที่คุณต้องการร่วมงานด้วย
หลังจากมั่นใจแล้วว่าคุณสนใจที่จะสมัครงานในตำแหน่งและอุตสาหกรรมไหนก็ถึงเวลาเริ่มหางานกันแล้ว โดยปัจจัยในการเลือกองค์กรที่ต้องการจะร่วมงานด้วยจะขึ้นอยู่กับว่าคุณให้ความสำคัญกับเรื่องไหนเป็นพิเศษ เช่น เงินเดือน สวัสดิการ รูปแบบการทำงาน หรือที่ตั้งขององค์กร ซึ่งช่องทางที่จะสามารถหางานที่คุณสนใจและตรงกับความต้องการนั้นมีหลากหลาย
-
เว็บไซต์หางาน ช่องทางที่ได้รับความนิยมอันดับต้น ๆ ในหมู่ผู้สมัครงานซึ่งมีเปิดให้บริการอยู่มากมาย เช่น WorkVenture ที่รวบรวมตำแหน่งงานน่าสนใจจากบริษัทชั้นนำในประเทศไทยไว้มากมาย อีกทั้งในเว็บไซต์ยังประกอบไปด้วย Features ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้สมัครอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น รีวิวของบริษัทนั้น ๆ หรือ Salary Estimator ที่ช่วยคุณประเมินเงินเดือน เป็นต้น
-
Social Media อีกหนึ่งช่องทางการหางานที่ได้รับความนิยม เช่น บน Facebook หรือ Instagram โดยคุณสามารถติดตามประกาศรับสมัครงานได้ที่กลุ่ม Facebook ของสายงานที่คุณสนใจ หรือกดติดตามแอ็กเคานต์ขององค์กรที่คุณต้องการร่วมงานเอาไว้ จะทำให้ไม่พลาดประกาศรับสมัครงานจากองค์กรเหล่านั้น คุณยังสามารถกดติดตาม Facebook Fanpage ของ WorkVenture ที่จะพาไปรู้จักองค์กรชั้นนำของประเทศไทยมากมายในมุมมองที่คุณอาจไม่เคยสัมผัสมาก่อน ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการตัดสินใจสมัครงาน
-
การ Referral หรือการที่พนักงานภายในองค์กรนั้น ๆ แนะนำให้ครอบครัว เพื่อน หรือคนรู้จักของตัวเองได้เข้ามาร่วมงานในองค์กรเดียวกับพวกเขา โดยผู้สมัครจะต้องผ่านกระบวนการคัดเลือกไม่ต่างกับการสมัครงานผ่านช่องทางอื่น ๆ หากคุณมีคนรู้จักที่ทำงานอยู่ในองค์กรที่สนใจ การทักไปขอความช่วยเหลือจากเขาอาจทำให้คุณได้งานเร็วกว่าช่องทางอื่นก็เป็นได้
5. เริ่มสมัครงานกันเลย!
ขั้นตอนสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด เมื่อลิสต์ออกมาได้แล้วว่ามีองค์กรไหนบ้างที่เข้าตาและในขณะนั้นกำลังเปิดรับสมัครงานตำแหน่งที่สนใจอยู่ สิ่งที่คุณต้องให้ความสำคัญคือ Job Describtion และ Qualification เพราะสิ่งที่เขียนใน Resume ต้องสอดคล้องกับทักษะและประสบการณ์ที่ทางองค์กรได้กำหนดไว้ โดยสามารถใช้คำหรือวลีที่ปรากฎอยู่บน Job Describtion ในการเขียนได้เลย เพื่อที่ HR จะได้เล็งเห็นว่าคุณมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่องค์กรต้องการ ทั้งนี้ต้องคอยปรับ Resume ทุกครั้งเมื่อสมัครงานที่ใหม่เพราะแม้เป็นตำแหน่งเดียวกันแต่ Job Describtion อาจต่างกัน และต้องระมัดระวังเรื่องการใส่ ข้อมูลที่ไม่จำเป็นใน Resume ด้วย
การหางานที่เหมาะและถูกใจนั้นอาจต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งในการลองผิดลองถูกเพื่อค้นพบสิ่งที่จะทำให้รู้สึกพอใจมากที่สุด ไม่ว่าตอนนี้คุณกำลังเริ่มต้นเรียนรู้สิ่งใหม่หรือกำลังจบกับงานที่รู้สึกไม่ตอบโจทย์อีกแล้ว ก็ยังสามารถยึด 5 ขั้นตอนที่ WorkVenture แนะนำไว้ในข้างต้นนี้เป็นแนวทางในการสำรวจความต้องการของตัวเองในเรื่องงานได้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่คุณจะได้ไม่รู้สึกหลงทางอีกต่อไป