Career advice | 25 October 2016

หลากเหตุผลที่คุณควรจัดการกับความคิดสร้างสรรค์

 

แน่นอนว่าความคิดสร้างสรรค์คือสิ่งที่มีค่าในการทำงาน และไม่ใช่แค่ต่อตัวคุณเองเท่านั้น แต่ยังมีค่าสำหรับองค์กรด้วย เพราะความคิดสร้างสรรค์เป็นพลังด้านบวกในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับ ความเป็นผู้นำ ความพึงพอใจในอาชีพ และชีวิตความเป็นอยู่

แต่ถึงอย่างนั้น ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่จะสมบูรณ์แบบไปซะหมด แม้แต่คุณลักษณะที่แสนจะมีเสน่ห์อย่างความคิดสร้างสรรค์ก็มีข้อเสียของมันเองเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการทำงานบางอย่าง ซึ่งนี่ก็คือเหตุผลที่อธิบายว่า ทำไมการลดความคิดสร้างสรรค์ลงในบางที ถึงให้ประโยชน์มากกว่า

 

ผู้จัดการรักพนักงานในกรอบ

พูดกันตามจริง การบริหารพนักงานที่อยู่ในกรอบและทำตามกฎนั้นง่ายกว่า แม้เหล่าพนักงานที่มีความคิดสร้างสรรค์พร่ำบอกว่า พวกเขาคือนักสร้างสรรค์ที่มีค่าต่อโลกใบนี้ แต่ความจริงก็คือ ผู้จัดการหลายคนมักไม่เต็มใจที่จะทนกับความคิดประหลาดๆ จากนักสร้างสรรค์เหล่านี้

มากไปกว่านั้น ความคิดสร้างสรรค์ยังมีนัยแฝงถึงความเสี่ยงและความไม่แน่นอน และผู้จัดการส่วนใหญ่ก็มักจะระแวงกับเรื่องเหล่านี้ด้วยสิ จึงทำให้พวกเขามักจะจ้างและส่งเสริมคนที่ทำในสิ่งที่สามารถควบคุมได้ มากกว่าคนที่คาดเดาไม่ได้ และตัวผู้จัดการเองก็มีแนวโน้มที่จะได้รับรางวัล ถ้าพวกเขาทำงานตามที่มีการคาดการณ์เอาไว้ได้เช่นกัน ดังนั้น หากจะตำหนิผู้จัดการที่หลีกเลี่ยงการจ้างนักสร้างสรรค์ทั้งหลายก็ถือว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้องซะหมด

 

มันอาจจะดีกับบริษัทมากกว่า

บ่อยครั้งที่ความคิดสร้างสรรค์สร้างประโยชน์ให้กับองค์กร แต่ก็มีอีกหลายครั้ง ที่บริษัทได้รับผลประโยชน์จากการทำตามระเบียบปฏิบัติ แทนที่จะเฝ้าแสวงหาการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ในระยะแรกที่บริษัทเริ่มก่อตั้ง ความคิดสร้างสรรค์คือสิ่งที่ช่วยพยุงบริษัทให้อยู่ได้และทำให้บริษัทก้าวหน้า เพราะในขณะนั้น ความเสี่ยงถือเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่ง แต่เมื่อบริษัทเติบโตในระดับหนึ่งแล้ว บริษัทก็จะค่อยๆลดความเสี่ยงในด้านต่างๆลง และมองหาความมั่นคงและการทำงานอย่างเป็นระบบมากขึ้น

แม้จะเหมือนตัดโอกาสตัวเองโดยสิ้นเชิง แต่ความเป็นจริงก็คือ การจำกัดความคิดสร้างสรรค์ในระดับหนึ่ง ก็ไม่ได้ส่งผลต่อการเติบโตของบริษัทมากนัก เพราะบริษัทไม่ได้ต้องการความคิดที่ล้ำโลกอะไร และบ่อยครั้งก็พบว่าความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้ไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง

 

 

สร้างสรรค์ก็ดี แต่ใช่ว่าจะมีประโยชน์

ตามธรรมชาติความคิดสร้างสรรค์ถือเป็นคุณลักษณะที่ซับซ้อน แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่มักให้นิยามว่า มันคือความสามารถในการผลิตความคิดที่แปลกใหม่และมีประโยชน์ ทั้งนี้ไม่ได้มีใครตระหนักถึงคุณลักษณะที่ซับซ้อนของความคิดสร้างสรรค์และมีแนวโน้มที่จะมองว่าตัวเองมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าความเป็นจริง

ว่ากันตามจริงความคิดสร้างสรรค์ที่มีประโยชน์จริงๆนั้น หาได้น้อยมาก และส่วนใหญ่แล้ว วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดก็มักจะไม่ใช่วิธีการที่แปลกใหม่พิสดารอะไร แถมความคิดที่แปลกใหม่ส่วนใหญ่มักจะไร้ประโยชน์ในทางปฏิบัติ  และยังพบว่ามีคนจำนวนน้อยแค่ 5% - 10% ของคนทั่วไปเท่านั้นที่มีแนวโน้มที่จะสามารถสร้างสรรค์ความคิดที่แปลกใหม่และมีประโยชน์ออกมาได้อยู่เรื่อยๆ เพราะว่ามันไม่ได้ต้องการแค่ความเชี่ยวชาญทางเทคนิค (ความรู้ในสาขาที่กำหนด) เท่านั้น แต่ยังจำเป็นต้องมีความฉลาดในเรื่องทั่วไป และส่วนผสมของบุคลิกภาพที่เหมาะสมด้วย(ซึ่งก็คือ มีความทะเยอทะยานสูง มีบุคลิกภาพแบบเอ็กส์โทรเวิร์ตสูง และเป็นคนเปิดกว้างมาก)

แต่ถึงอย่างนั้น หากความคิดสร้างสรรค์เป็นตัวตนของคุณจริงๆ ถ้าคุณสามารถพัฒนาตัวเองได้ในสภาพแวดล้อมที่ปราศจากกฎเกณฑ์ มีความคิดที่ไม่เหมือนชาวบ้านหลั่งไหลออกมาอยู่เสมอ และมักจะเป็นพวกแหกคอกและแหวกแนวมากกว่าเพื่อนๆ  หากเป็นแบบนี้ละก็ นี่ก็คือ 5 วิธี ที่จะช่วยลดสัญชาตญาณในการผลิตความคิดสร้างสรรค์ของคุณลง

 

1. ลองทำโปรเจคที่น่าเบื่อบ้าง

แม้ว่าคุณจะเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์สูงมาก งานบางอย่างก็จำเจและน่าเบื่อสุดจะทน ซึ่งอันที่จริงแล้ว คนที่มีความคิดสร้างสรรค์มีแนวโน้มที่จะสนใจในเรื่องที่เฉพาะเจาะจงมากๆ จนความคิดของพวกเขาวนเวียนอยู่แต่กับเรื่องเหล่านั้น ถ้าความคิดสร้างสรรค์ของคุณคือสิ่งที่เหนี่ยวรั้งประสิทธิภาพในการทำงานและความสำเร็จทางอาชีพแล้วละก็ คุณก็อาจหันไปให้ความสนใจกับงานที่คุณไม่ได้หลงใหลเท่าไร งานแบบนี้จะดึงดูดคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ได้น้อยในตอนแรก (ซึ่งหมายความว่ามีการแข่งขันน้อยด้วย) และทำให้ความสามารถของคุณมีคุณค่ามากขึ้นได้

 

2. เลือกทำงานกับคนขยัน (ที่ดันมีความคิดสร้างสรรค์น้อย)

เราทุกคนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองไปตามสถานการณ์ รวมถึงการตอบสนองต่อคนอื่นด้วย ดังนั้น ถ้าคุณทำงานกับเพื่อนร่วมงานที่เป็นคนขยัน เป็นนักวางแผนแบบที่เน้นกระบวนการทำงาน เพื่อนร่วมงานที่คุณคิดว่าพวกเขาน่าเบื่อนั่นแหละ คนเหล่านี้ก็มีแนวโน้มที่จะยับยั้งความคิดสร้างสรรค์ของคุณได้ ผลงานนวัตกรรมส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการทำงานเป็นทีม ซึ่งบ่อยครั้งมักจะเป็นงานที่คนที่ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ทำงานร่วมกับคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ เมื่อคนกลุ่มแรกมีจำนวนมากว่าคนกลุ่มหลังในสัดส่วนประมาณ 4-1

 

 

3. อยู่ในกรอบซะบ้าง

หนึ่งในสิ่งที่ยากที่สุดและเจ็บปวดมากที่สุด สำหรับคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ก็คือ การใช้ชีวิตอยู่ในกรอบ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะใช้ชีวิตแบบนี้ไม่ได้เลย และบางครั้งมันก็คุ้มค่าแก่ความพยายาม แค่ใช้การวางแผนเวลาเพียงเล็กน้อย และบอกเพื่อนร่วมงานและผู้จัดการของคุณว่า พวกเขาสามารถคาดหวังอะไรจากคุณได้ เช่น ส่งอีเมล์กำหนดการสำหรับงานชิ้นต่อไปของคุณอย่างละเอียด จากนั้นก็พยายามทำให้ได้ตามนั้น คุณอาจจะไม่สนุกกับมันเท่าไร แต่มันก็อาจทำให้ภาพลักษณ์ของคุณต่อเพื่อนร่วมทีมดีขึ้นได้บ้าง

 

4. พูดคำว่า “ไม่” ให้เป็น

คนที่มีความคิดสร้างสรรค์มักจะทำงานได้มากขึ้น เมื่อพวกเขาบอกปฏิเสธมากขึ้น และเมื่อคุณได้รับโอกาสทำสิ่งที่น่าตื่นเต้น คุณก็จะสามารถจดจ่อกับสิ่งที่ทำได้จริงได้ดีขึ้น คนที่มีความคิดสร้างสรรค์มีแนวโน้มที่จะกระโดดจากงานหนึ่งไปอีกงานหนึ่งเรื่อยๆ และเรียนรู้ว่า การพูดว่า "ไม่" เป็นยาแก้พิษสำหรับการทำงานแบบไร้จุดหมายได้ดีที่สุด คุณเห็นด้วยมั้ยล่ะ ?

 

5. ปลดปล่อยความสร้างสรรค์ในรูปแบบอื่นๆ

แม้ว่าคุณจะทำตามข้อแนะนำทุกข้อที่ผ่านมาได้สำเร็จ แต่ก็ยังกลัวว่าแรงกระตุ้นจากความคิดสร้างสรรค์จะทะลักจนทำให้เกิดปัญหา  คุณก็สามารถแสดงความคิดสร้างสรรค์ออกไปในรูปแบบอื่นๆนอกชีวิตการทำงานได้ ไม่ว่าจะเป็นงานอดิเรก การหาความรู้ในด้านศิลปะและวิทยาศาสตร์ และการรับงานฟรีแลนซ์ เพื่อปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ออกมา ดังนั้น แม้ว่างานหลักของคุณจะไม่อนุญาตให้คุณสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้มากเท่าที่ต้องการ แต่คุณก็ยังสามารถแสดงฝีมือออกมาในด้านอื่นๆ ได้

 

แค่เอาข้อดีของความคิดสร้างสรรค์มาวางให้ถูกที่ถูกทาง เพียงเท่านี้ เจ้าความคิดสร้างสรรค์ตัวดี ก็จะมีประโยชน์แล้ว

 
เขียนโดย เม้าท์สลาตัน