รอเรียกสัมภาษณ์งานนานเกินไปรับมือกับช่วงเวลานี้อย่างไรดี
วันนี้เราขอพาคุณมารู้จักศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาอย่าง Art Markman จะมาช่วยมาแนะแนวการรับมือกับช่วงเวลาที่กำลังหางานใหม่ โดยเนื้อหาที่ศาสตราจารย์จะมาแนะนำนี้มาจากส่วนหนึ่งของหนังสือของเขาที่ชื่อว่า ‘Bring Your Brain to Work’ นั่นเอง ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันดีกว่าว่าศาสตราจารย์เขามีอะไรมาฝากเรากัน
1) ตั้งสมมติฐานกับปัญหา
ข้อแรกศาสตราจารย์แนะนำว่า การที่เราไม่ถูกเรียกไปสัมภาษณ์งานใหม่สักทีนั้น อาจเกิดจากหลายสาเหตุ ดังนั้นเราควรลองตั้งสมมติฐานขึ้นมาก่อน เช่น บริษัทนั้นอาจได้พนักงานใหม่ไปแล้ว หรือตำแหน่งที่เราสมัครไปนั้นมีคู่แข่งเยอะ หรือมองโลกในแง่ดีสุดๆ คือกำลังพิจารณาเราอยู่
แต่ถึงที่สุดแล้ว ก่อนที่จะสมัครงานบริษัทใหม่ใดๆ ทั้งสิ้น เราควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่าไม่ได้ทำอะไรผิดพลาดไปใช่ไหม หรือถ้าไม่แน่ใจก็หาเพื่อนเก่งๆ สักคนหนึ่งแล้วให้เขาช่วยดูเรื่องใบสมัครงานของเราจะดีกว่า เพราะบางทีเราอาจจะพลาดที่ไม่ได้แสดงผลงานเด่นๆ ออกไปให้บริษัทที่จะสมัครเห็นก็ได้ เช่น ทักษะพิเศษเฉพาะด้าน ภาษาที่สาม เป็นต้น
หากเราโดนเรียกสัมภาษณ์ แต่ทะลึ่งไม่ตรงกับตำแหน่งที่สมัครไป ก็ให้ลองใช้ทักษะที่มีไปสัมภาษณ์ก่อนด้วยการเก็งคำถามไปว่าถ้าโดนถามแบบนี้แล้วเราจะตอบว่าอะไร ถ้าไม่โดนใจก็หาคนที่มีประสบการณ์มาช่วยซักซ้อม ถาม-ตอบ เพื่อเติมประสบการณ์ในการสัมภาษณ์ให้ลดอาการตื่นเต้นหน่อยก็ดี
2) ตำแหน่งงานมันกว้างไปรึเปล่า
อย่างที่เกริ่นไปในช่วงแรกว่า หากเราส่งใบสมัครงานไปแล้ว แต่บริษัทยังไม่เรียกสัมภาษณ์เสียที ให้เราสันนิษฐานไปเลยว่า ตำแหน่งงานที่เราสมัครไปอาจมีคนแย่งชิงกันเยอะ และทางบริษัทอาจเจอตัวเลือกที่ดีกว่าเราไปแล้วก็ได้ (โคตรเศร้า)
ดังนั้น ศาสตราจารย์อาร์ทแมน เลยแนะนำให้เราสังเกตตำแหน่งที่สมัครไปว่า มันเปิดกว้างมากพอหรือไม่ เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสและความหวังในการรอ
ทว่าบางครั้งเราอาจกังวลต่อการสมัครงานมากเกินไป จนเกิดอาการเกลียดการสมัครงานไปเลย แต่ใจเย็นๆ ก่อน เมื่อเราเดือดร้อนจนต้องหางานใหม่แบบนี้ อย่าใช้อารมณ์นำจนเกินไป เพราะศาสตราจารย์แนะว่าเราสามารถที่จะเรียนรู้ในบทบาทหน้าที่ของงานงานใหม่ๆ ได้เสมอ ที่สำคัญกว่านั้นคือ ไม่มีใครมาบังคับเราอยู่แล้ว ถ้าเราชอบกับงานที่สมัครไปแล้วบริษัทตอบรับก็ถือเป็นข่าวดี แต่ถ้าไม่ชอบก็ไม่มีใครมาบังคับเราให้เข้าไปทำงานอยู่ดี นอกเหนือจากตัวเราเอง
3) มีพลังในการค้นหาต่อไป
สืบเนื่องจากข้อที่แล้ว คือ หากยังหางานใหม่ไม่ได้สักที แล้วเราดันทะลึ่งลาออกจากที่เก่ามาแล้ว ศาสตราจารย์แนะนำว่าอย่าใช้ชีวิตห่อเหี่ยวแบบไม่มีอนาคตเชียวเกินไป เช่น อยู่บ้านแล้วนั่งเล่นเกมทั้งวัน เพราะมันจะส่งผลต่อสภาพจิตใจแน่นอน
ทางที่ดีศาสตราจารย์แนะนำว่าให้ใช้ชีวิตแอคทีฟเหมือนเดิม คือ ตั้งหน้าตั้งตาหางานด้วยการเสิร์ช หรือไม่ก็ออกไปเจอผู้คนที่คิดว่าจะช่วยเหลือเราได้ก็ยังดี หรือการไปเป็นอาสาสมัครในงานต่างๆ โดยใช้ทักษะที่เราเชี่ยวชาญหรือมีอยู่นั้นไปแสดงฝีมือให้คนอื่นๆ ได้ประโยชน์ ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนทางหนึ่งในการสมัครงานทางอ้อมได้เช่นกัน และที่สำคัญกว่านั้นคือ อย่าทิ้งความสัมพันธ์จากพ้องเพื่อนที่ทำงานเก่าจนไม่เหลือเยื้อใยเลยจะดีกว่า เพราะนั่นถือว่าเป็นคอนเนกชั่นที่เราควรรักษาเอาไว้
4) คนข้างๆ
สุดท้ายอย่าจมกับความเครียดจากการหางานจนเกินไป ด้วยการเอาตัวเองไปเทียบกับคนอื่นๆ ทางที่ดีหาเพื่อนสนิทหรือคนที่รู้ใจสักคนมาเป็นที่ปรึกษาเพื่อระบายและให้รู้สถานการณ์ความรู้สึกของเราก็ยังดี อย่างน้อยก็ยังมีคนได้รับรู้เป้าหมายของเรา และทำให้เรารู้ว่ายังมีคนที่เป็นกำลังใจให้เราไปสู่เป้าหมายที่วางไว้อยู่นั่นเอง และอย่าคิดว่าตัวเราเองเป็นภาระแก่คนรอบๆ ตัว แต่จงคิดว่าตัวเราเองมีคุณค่ามากพอที่ยังช่วยเหลือคนอื่นๆ ได้อยู่เสมอ
ที่สำคัญกว่านั้นในวันที่เราได้งานใหม่ตามที่ใจปรารถนาแล้ว อย่าลืมกลับไปขอบคุณคนที่ให้กำลังใจในวันที่เราท้อแท้และเกือบสิ้นหวังด้วยนะครับ เพราะการมีคนเหล่านี้อยู่ในชีวิตก็นับเป็นสมบัติอันล้ำค่าที่เราควรจะดูแลและรักษาพวกเขาเอาไว้ไม่แพ้งานที่เราชื่นชอบเหมือนกัน และขอให้ทุกคนที่กำลังมองหางานใหม่ โชคดีกับสิ่งที่ตัวเองหวังไว้ครับ
เพิ่มเติม: จริงๆ มีประโยคหนึ่งที่ศาสตราจารย์เขียนไว้ทำนองว่า การสมัครจะทำให้เรามีความมั่นใจมากขึ้น ในกรณีที่ได้บรรจุเป็นพนักงาน แต่คิดมุมตลกอีกด้านก็คือ เราคงไม่อยากเติมความมั่นใจด้วยวิธีนี้บ่อยๆ นักหรอกจริงป่าววว
ที่มา: https://www.fastcompany.com/90354990/how-to-cope-with-a-long-job-search