ถามใจ GEN Y เปลี่ยนงานบ่อยจัง
ผมเพิ่งอ่านข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) ที่เผยผลสำรวจวิถีชีวิตมนุษย์เงินเดือน และคุณภาพชีวิต ในปี 2561 พบว่า มนุษย์เงินเดือนในกรุงเทพฯ 55.2% มีการเปลี่ยนงานเฉลี่ย 2 แห่ง โดยทำงานแต่เฉลี่ยแห่งละ 3 ปี 6 เดือน
ตามด้วยรายละเอียดของเจเนเรชันของกลุ่มคน Gen Y (อายุ 20 - 37 ปี) ซึ่งทำงานเฉลี่ยแห่งละ 2 ปี 5 เดือน สั้นกว่า Gen X ซึ่งทำเฉลี่ย 5 ปี 5 เดือน โดยมีสาเหตุของการเปลี่ยนงาน คือ
1. ต้องการค่าตอบแทนและสวัสดิการเพิ่มมากขึ้น
2. ร่วมงานในบริษัทที่มีความมั่นคงมากขึ้น ซึ่ง Gen Y ยังมีเหตุผลเรื่องความเบื่อ ต้องการทำอะไรใหม่ ๆ รวมถึงมีความอดทนต่ำด้วย
นี่เป็นข้อมูลรวม ๆ ที่ไม่ได้ลงรายละเอียดมากนัก แต่ก็สะท้อนอะไรได้หลายอย่างเลยทีเดียว โดยเฉพาะระยะเวลาค่าเฉลี่ยในการเปลี่ยนงานของคนเจนวาย ซึ่งผมก็จัดอยู่ในกลุ่มประเภทนั้น จึงอยากจะแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นของข้อมูลวิจัยเสียหน่อยครับว่า ในมุมมองของคนเจนวายคนหนึ่งมีความคิดเห็นอย่างไรต่อสิ่งเหล่านี้
ประเด็นแรกในเรื่องของระยะเวลาเฉลี่ยในการเปลี่ยนงาน 2 ปี 5 เดือน นั้นโดยส่วนตัวมองว่าเป็นระยะเวลาที่กำลังดีสำหรับคนที่กำลังเริ่มเติบโต บางบริษัทที่ไม่ใหญ่โตจนเกินไป เราสามารถเรียนรู้งานอย่างครบวงจรได้ภายในหนึ่งปีด้วยซ้ำ หากงานยังคงวนลูปต่อไปไม่มีอะไรแปลกใหม่หรือให้เก็บผลงานใส่เข้าพอร์ต แถมเงินเดือนก็มีแนวโน้มจะขึ้น ก็สามารถตัดสินใจไม่ยากที่จะลองก้าวไปทำงานในพื้นที่ใหม่ๆ
แต่ถ้าเป็นองค์กรขนาดกลางซึ่งมีพนักงานราว 150 – 300 คน มีหลายสัดส่วนให้เรียนรู้ต่อวัฒนธรรมองค์กรและระบบการบริหาร อาจใช้เวลาประมาณ 3 ปี ในการศึกษาเรียนรู้และสร้างฐานประสบการณ์ความรู้เพื่อต่อยอดให้เกิดความชำนาญมากขึ้นได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างในการตัดสินใจนะครับ ไม่ได้อยากมุ่งเน้นเรื่องระยะเวลาในการอยู่กับบริษัทหรือองค์กรอย่างเดียว ยังมีเหตุของรายได้กับสวัสดิการที่ได้รับอันเป็นที่น่าพอใจหรือเปล่า การเดินทางมาทำงาน สภาพแวดล้อม ค่าครองชีพ ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานรวมถึงหัวหน้าด้วย หลายครั้งบางคนเบื่องาน เงินโอเค แต่เพื่อนดีก็อยู่ต่อ แต่ถ้าเพื่อนแย่ หัวหน้าเลว ต่อให้เงินเดือนดี ก็ออกมาเพื่อรักษาสุขภาพจิตดีกว่าก็มีครับ ซึ่งทั้งหมดเป็นองค์กรประกอบยิบย่อยต่อระยะเวลาในการทำงานครับ
ประเด็นที่สองคือเรื่องค่าตอบแทนนั้นปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าการตัดสินใจลาออกเพื่อไปเริ่มต้นที่ใหม่นั้นเงินเดือนมักจะมากกว่าที่เดิมอยู่พอสมควรตามประสบการณ์และผลงานที่เคยทำมาก่อน ซึ่งจำเป็นต้องสอดคล้องต่อหน้าที่การงานใหม่ที่ทำด้วยเช่นกัน หลายคงหลงดีใจ แต่อย่าลืมว่าการเปลี่ยนแปลงก็ต้องแลกมาด้วยกับการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมใหม่ รวมถึงความกดดันจากความคาคหวังของเจ้านายและบริษัทที่ลงทุนกับการจ้างเรามาทำงานนะครับ มันก็ดีเสียคนละแบบ ซึ่งงานวิจัยก็ระบุเหมือนกันว่าคนที่ย้ายงานโดยเฉลี่ยจะมีรายได้มากกว่าคนที่อยู่กับองค์กรเดิมนานกว่าด้วยซ้ำ แต่สำหรับคนที่อยู่นานนั้นคือเหตุผลในการเขียนในข้อถัดไปครับ
ประเด็นสุดท้ายคือ เรื่องความมั่นคง แน่นอนว่าเจนวายทุกคนไม่จำเป็นต้องกระโดดออกมาบุกป่าฝ่าดงเพื่อเปิดร้านกาแฟหรือเป็นสตาร์ทอัพพันล้านเสมอไป เพราะเจนวายแบบ Conservative ก็มีเหมือนกัน ซึ่งก็ไม่แปลกแต่อย่างใดเพราะทุกคนล้วนต้องการมีชีวิตที่มั่นคงและปลอดภัยจากการมีรายได้ที่สม่ำเสมอ และไม่เสี่ยงต่อการโดนไล่ออกหากไม่มีผลงาน หรือปลดพนักงานตามพิษเศรษฐกิจแบบระบบเอกชน รวมถึงเจนวายบางคนก็ได้รับอิทธิพลมาจากครอบครัวที่อาจทำงานข้าราชการมาก่อน จึงส่งผลต่อการตัดสินใจในการเลือกเส้นทางการทำงานในระบบราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ ได้ไม่ยากเย็นนักที่มีระบบมั่นคง สวัสดิการดีเยี่ยมต่อตัวเองและครอบครัวด้วย แถมงานก็ไม่ได้หนักกว่าเอกชนอีกต่างหาก
เขียนมาแบบนี้ใช่ว่าคนทำงานเอกชน เหมือนตัวผมเองจะไม่ชอบความมั่นคงนะ ทุกคนชอบเหมือนกันหมดแหละ เพียงแต่จำต้องสร้างด้วยตัวเอง อย่าพึ่งพิงระบบอะไรมากนัก ความมั่นคงที่ดีที่สุดเริ่มจากความรู้และลงมือทำ เงินเดือนออกก็ต้องหัดออม และแบ่งสัดส่วนมาลงทุนบ้าง ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็มีเครื่องมือลงทุนมากมายกว่าแต่ก่อนเยอะมาก ที่สำคัญพยายามหาอาชีพที่สองที่เราชอบและสนใจ หาเจอจงทำไปเรื่อย ๆ ยิ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญได้ยิ่งดี ไม่ว่ายุคนี้จะกี่ G ก็ตาม แต่แนวคิดตนเป็นที่พึ่งแห่งตนยังคงสำคัญอยู่เสมอ
ส่วนประเด็นรองที่งานวิจัยมีแอบคิดมาว่าเจนวายไม่อดทนนั้นก็ลำบากที่จะอธิบายเหมือนกันครับ เพราะต้นทุนของเจนวายแต่ละคนมันไม่เท่ากัน ผมเองเป็นเจนวายคนหนึ่งที่เพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้าบางคนก็บอกว่าผมอึด แต่ความอึดของผมก็มีข้อจำกัด ถ้างานที่เราทำแล้วบางครั้งอ่านเกมแล้วมันไม่ใช่ ประเมินแล้วทนทำงานไปก็มีแต่เสียต้นทุนเรื่องเวลา วิธีคิดแบบนี้ทำให้ผมตัดสินใจออกโดยพลันเลยก็มีนะครับ
ดังนั้น การบอกว่าเจนวายอดทนหน่อยกว่าเจนก่อนก็อาจจะถูกแต่คงไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เสียทีเดียวเนอะ เพราะอย่าลืมว่าอาชีพทางเลือกเดี๋ยวนี้มันก็เยอะกว่าแต่ก่อน ลองคิดดูเล่น ๆ นะครับว่า ถ้าเมื่อสิบปีก่อนบอกว่า อาชีพในฝันผมอยากเป็นนักรีวิวอาหาร พ่อแม่ฟังแค่นี้นอกจากจะงงเป็นไก่ตาแตกแล้ว เผลอ ๆ จะโดนตบกบาลเรียกสติคืนมาด้วยซ้ำไป
ทั้งหมดเป็นเพียงมุมมองและความคิดเห็นสนุก ๆ โดยส่วนตัวจากตัวแทนของเจนวายคนหนึ่งจากผลสรุปต่องานวิจัยนะครับ ว่าแล้วก็เปิดหางานที่ใหม่ดูดีกว่า...แฮ่มล้อเล่นครับ