What's new | 7 December 2018

งานหนักแบบนี้ไปพักที่ “เดนมาร์ก” กันไหม?

วลีเด็ดจาก แฮมเล็ต บทละครชื่อดังของวิลเลียม เชกสเปียร์ในช่วงปี ค.ศ. 1600 ที่กล่าวว่า “บางอย่างในเดนมาร์กกำลังเสื่อมโทรม” เป็นสิ่งที่เราได้พิสูจน์แล้วว่ามันไม่จริงเลยซักนิด (แม้ว่าต้นฉบับจะเป็นการเล่นสำนวนเปรียบเทียบเฉย ๆ ไม่เกี่ยวกับประเทศซะทีเดียว) เพราะจากการรายงานของเว็บไซต์ OECD Better Life ที่นำเสนอข้อมูลด้านวิถีชีวิตในด้านต่าง ๆ เราพบว่า ชาวเดนิชเขามีชีวิตดี๊ดีติดอันดับ 1 ของโลกเลยแหละ

ในขณะที่หลาย ๆ ประเทศมีชาวออฟฟิศที่ “เข้าเช้า ออกค่ำ” ถึง 13% จากประชากรทั้งหมด แต่ที่เดนมาร์กกลับมีคนทำงานหามรุ่งหามค่ำเพียงแค่ 2% เท่านั้น แล้วนอกจากนั้นล่ะ? พวกเขาใช้เวลากว่า 16 ชั่วโมงต่อวันในการใช้ชีวิตส่วนตัวสบาย ๆ สไตล์เดนมาร์ก ที่เหลือคือเวลางานตามระเบียบ ... ซึ่งนั่นก็เพียง 8 ชั่วโมงต่อวันเอง 

แล้วด้านอื่นนอกจากงานล่ะ? ตัวชี้วัดทุกด้านของประเทศเดนมาร์กพุ่งทะลุค่ามาตรฐานทุกด้านไม่ว่าจะเป็นด้านคุณภาพของสิ่งแวดล้อม การเข้าถึงสาธารณูปโภค การศึกษา รายได้ สวัสดิการ ความปลอดภัย และด้านอื่น ๆ อีกมากมาย 

ทำไงดีวันนี้ลืมเอากระเป๋าตังค์มา คิดว่าเพื่อน ๆ จะให้ยืมป่าว? จากการสำรวจคือกว่า 96% ของชาวเดนิชรายงานว่า พวกเขามีคนพร้อมจะให้ช่วยเหลือเสมอ ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานทั่วโลกที่อยู่ประมาณ 88% เชียวแหละ

นอกจากนี้ คะแนนด้านคุณภาพอากาศในเดนมาร์กก็ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกเช่นกัน จำช่วงปลายปี 2561 ที่กรุงเทพมีหมอกฝุ่นปกคลุมได้ไหม? ตอนนั้นเรามีฝุ่นละอองขนาด PM2.5 ลอยในอากาศถึง 94 ไมโครกรัม/ลูกบาสก์เมตรเลยนะ ซึ่งมันพุ่งทะลุค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 14 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรไปไกล แต่ถ้าที่เดนมาร์กจะพบฝุ่นขนาด PM2.5 เพียงแค่ 11 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรเท่านั้น หายใจเต็มปอดได้แบบไม่ต้องกลัวมะเร็งกันเลยทีเดียว

กว่า 86% ของชาวเดนิชเขาออกไปเลือกตั้งกันทุกปี ซึ่งตัวเลขผู้ออกมาใช้สิทธิใช้เสียงนี้ สูงที่สุดในทุกประเทศเลยก็ว่าได้ แถมอัตราผู้ที่ได้รับการศึกษาของประเทศนี้ก็อยู่ที 80% ของประชากรทั้งหมด แน่นอนว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกเช่นกัน นี่อาจจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ประเทศเขาเจริญก็ได้เนอะ

เขาทำได้ไง? ทำไมประเทศถึงเจริญขนาดนี้?

อ่านมาถึงตรงนี้ เราเชื่อว่าทุกคนคงสงสัยเหมือน ๆ กันว่าทำไมคุณภาพชีวิตประเทศเขาดีขนาดนี้ ซึ่งจากเสียงของชาวเดนิชส่วนใหญ่ กุญแจสำคัญมันอยู่ที่ “Work-life Balance” ไม่ว่าจะเป็นความยืดหยุ่นในการเข้างาน การทำงานจากที่บ้าน เวลาพักผ่อนที่แน่ชัด ทำให้บรรดาเพื่อนร่วมงานมีเวลาที่จะนั่งกินข้าวและทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยกัน ยังไม่นับวันหยุดพักร้อน 5 สัปดาห์ต่อปีนะ

อย่างไรก็ตาม บางคนอาจจะคิดว่าปริมาณงานจะแปรผันตรงกับชั่วโมงงาน… แต่จากผลวิจัยของ OECD พิสูจน์แล้วว่ามันแปรผกผันกัน! พูดง่าย ๆ คือ “ชั่วโมงทำงานน้อย = ได้งานคุณภาพดี” ทัศนคติเป็นอีกสิ่งที่สำคัญใช่ย่อย เพราะตอนชาวเดนิชทำผลสำรวจ พวกเขาแทบไม่สนตัวเลือกเกี่ยวกับความต้องการด้าน “การงาน การเงิน” กันเลย แต่ตัวเลือกที่อยู่ในหัวตารางกลับเป็นเรื่อง “ความพอใจในชีวิต สุขภาพ และการศึกษา” ซึ่งชี้ชัดว่าคนในประเทศนี้มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความมั่นคงให้กับตนเองและลูกหลานอย่างยั่งยืน 

ศาสตราจารย์ Christian Bjørnskov จาก Aarhus Business School ได้กล่าวไว้ว่า “เงินไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต ยกตัวอย่างเช่นการซื้อบ้านและรถของพวกเรา บ้านไม่ต้องใหญ่ รถไม่ต้องหรูก็ได้ เราเลือกที่จะใช้เงินสร้างสิ่งดี ๆ ระหว่างผู้คนด้วยกันมากกว่า” 

แต่เหรียญก็ไม่ได้มีด้านเดียว เพื่อจะให้ได้สวัสดิการดี ๆ มานั้น ชาวเดนิชต้องจ่ายภาษีในอัตราที่สูงมาก แต่เชื่อไหมว่าพวกเขาไม่แคร์ซักนิด เพราะถ้าภาษีถูกนำไปใช้เพื่อสวัสดิการต่าง ๆ มันก็คุ้มค่าที่จะจ่ายอ่ะเนอะ สวัสดิการมั่นคง ประเทศยั่งยืน เรื่องราวทั้งหมดนี้จึงทำให้เดนมาร์กติดอันดับประเทศที่มีความสุขที่สุดหลายปีซ้อน 

แล้วมีอะไรไม่เวิร์คในเดนมาร์กบ้างป่าว?

ถ้าประเทศไหนในโลกสมบูรณ์แบบไปซะทุกด้านมันก็คงจะไม่ปกติเท่าไรใช่ป่าว ชาวเดนิชเขาเป็นตัวท็อปในด้านการใช้ยาหลายตัวเลยแหละ ไม่ว่าจะเป็นยาต้านซึมเศร้า ยาลดคอเลสเตอรอล ยาลดความดันโลหิต ตลอดจนยาแก้ท้องเสีย ซึ่งทาง OECD ได้ให้ความเห็นกับประเด็นนี้ไว้ว่า เรื่องเหล่านี้เป็นผลกระทบจากความแตกต่างทางสังคมอันสูงลิบ เช่น ท็อป 20% ของประชากรในประเทศเดนมาร์ก ได้ค่าแรงโดยรวมสูงกว่าคนที่อยู่ในช่วง 20% ของท้ายตารางถึง 4 เท่า …. กลับมาที่วลีเด็ดใน แฮมเล็ต ที่ว่า “บางอย่างในเดนมาร์กกำลังเสื่อมโทรม” นั่น เชกสเปียร์เขาอาจจะพูดถึงด้านนี้ก็ได้นะ? ซึ่งถ้าต้องการแก้ปัญหานี้ เดนมาร์กอาจต้องการแรงงานที่มีความสามารถทางด้านวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศให้ดียิ่งขึ้นไป

บทความจาก: www.weforum.org