การรักษาพนักงานคนเก่งไว้กับองค์กรสำคัญแค่ไหน? HR ต้องรู้ไว้จะได้ไม่พลาด
การลาออกของพนักงานดูจะเป็นปัญหาทั่วไปที่ไม่ว่าองค์กรไหนก็ต้องเคยเผชิญ แต่ลองนึกภาพดูว่า หากพนักงานทยอยลาออกจากบริษัทอย่างต่อเนื่องทุกเดือนทีละคนหรือสองคน กว่า HR จะตระหนักถึงปัญหา รู้ตัวอีกทีทาเลนต์มากมายก็ย้ายเข้าไปอยู่กับคู่แข่งเสียแล้ว เพื่อไม่ให้องค์กรสูญเสียคนเก่ง ๆ ไป จึงเป็นหน้าที่ของฝ่าย HR อย่างคุณที่จะต้องเรียนรู้ วิธีรักษาพนักงาน (Employee Retention) เอาไว้ ให้พวกเขารู้สึกว่าคิดถูกที่ทำงานอยู่ในองค์กรของคุณ
การรักษาพนักงานสำคัญยังไง?
คนเก่งไม่ใช่ว่าจะเจอได้ง่าย ๆ ถ้าบริษัทของคุณมีคนเหล่านี้แต่กลับรักษาไว้ไม่ได้ก็น่าเสียดายเกินไปแล้ว ข้อมูลจาก Teamstage ที่ศึกษาเกี่ยวกับสถิติการลาออกของพนักงานปี 2023 ชี้ว่า พนักงานจำนวน 31% ตัดสินใจลาออกจากงานที่ทำภายใน 6 เดือนแรก และเกินกว่าครึ่งไม่รู้สึกผูกพันกับองค์กร ลองคิดดูหากองค์กรของคุณต้องเจอกับปัญหานี้ จะสร้างความลำบากให้ HR อย่างคุณมากแค่ไหน
ดังนั้นหลาย ๆ องค์กรจึงหันมาใช้วิธีรักษาพนักงาน (Employee Retention) โดยมุ่งเน้นไปที่การลดอัตราการลาออก และเพิ่มความรู้สึกผูกพันต่อองค์กรหรือสร้าง Engagement ผ่านการส่งเสริมสมดุลชีวิตและการทำงาน เพื่อให้พนักงานรู้สึกว่าองค์กรใส่ใจคุณภาพชีวิตของพนักงานอย่างแท้จริง
หากรักษาพนักงานไว้ไม่ได้ จะส่งผลเสียต่อองค์กรอย่างไรบ้าง?
ถ้ามองแบบผิวเผิน การที่พนักงานลาออกเพียงแค่หนึ่งคน ก็เหมือนเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปที่เกิดขึ้นได้ แต่จริง ๆ แล้วการที่บริษัทสูญเสียพนักงานที่มีความสามารถ มักส่งผลกระทบต่อต้นทุนเกินกว่าที่คาดไว้ ยกตัวอย่างเช่น
-
มูลค่าที่พนักงานคนนั้นสามารถสร้างรายได้ให้บริษัท เช่น พนักงานคนนั้นอาจจะเป็น Sale ที่มีความสามารถมากจนทำให้ยอดขายของผลิตภัณฑ์ทะลุเป้าทุกปี
-
มูลค่าการสร้างผลงานให้กับลูกค้า เช่น พนักงานที่ลาออกคือคนที่สามารถออกแบบผลงานที่มีความโดดเด่นจนลูกค้าหลาย ๆ คนให้ความไว้วางใจ และอยากร่วมงานด้วยในอีกหลายโปรเจกต์
-
เกิด Turnover rate ที่เพิ่มสูงขึ้นจนส่งผลต่อภาพลักษณ์ขององค์กร เมื่อมีพนักงานลาออกเป็นจำนวนมากย่อมกระทบทีมบริหารและภาพลักษณ์องค์กร ทำให้คนภายนอกเกิดความสงสัยในสาเหตุที่พนักงานพากันหนีจากบริษัท และไม่มั่นใจที่จะร่วมงานด้วย
-
มูลค่าที่มองไม่เห็น เช่น พนักงานคนนั้นสามารถสร้างบรรยากาศสนุกสนานในที่ทำงาน และเข้ากับเพื่อนร่วมงานได้เป็นอย่างดีทำให้ทำงานได้ราบรื่น
-
มูลค่าที่บริษัทเคยลงทุนกับพนักงานคนนี้ไป เช่น ก่อนหน้านี้บริษัทได้สนับสนุนโปรแกรมฝึกอบรมและพัฒนาเพื่อให้พนักงานนำมาปรับใช้ในการทำงาน
อ่านมาถึงตรงนี้คงจะเห็นแล้วว่า หากพนักงานเก่ง ๆ ลาออกไปสิ่งที่เกิดขึ้นคือความเสียหายจาก ต้นทุนในการสับเปลี่ยน (Switching Cost) ที่บริษัทต้องลงทุนกับพนักงานใหม่ ดังนั้นการที่คนเก่งหนึ่งคนลาออก จึงส่งผลกระทบต่อองค์กรในหลาย ๆ ด้าน และสิ่งที่ยากกว่าก็คือ การที่ HR ต้องหาพนักงานใหม่มาแทนที่ ซึ่งตามหลักแล้ว กว่าจะสามารถหาพนักงานมาแทนได้ใกล้เคียงกันนั้น ต้องใช้ต้นทุนทั้งเงินและเวลามากพอสมควรเลย
5 วิธีรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กร
1. ทำให้พนักงานรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับองค์กรด้วย Employee Empowerment
พนักงานบริษัทไม่ว่าจะทำงานในตำแหน่งเล็กหรือใหญ่ก็อยากจะมีอิสระในการตัดสินใจ และสร้างผลงานด้วยตัวเองกันทั้งนั้น ดังนั้นการให้อิสระกับพนักงานในการตัดสินใจโดยใช้ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ที่มี จะช่วยเปิดโอกาสให้พวกเขาสามารถเติบโตในหน้าที่การงานได้ ผ่านการเรียนรู้และพัฒนาด้วยตนเอง
โดยบริษัทมีส่วนในการให้ Feedback เพื่อสะท้อนประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานอย่างสม่ำเสมอ และเปิดโอกาสให้พวกเขามีส่วนร่วมกับองค์กรด้วยการสนับสนุนให้แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ เพื่อให้องค์กรนำความคิดเห็นเหล่านั้นมาปรับปรุง ก็จะสามารถทำให้พนักงานอยากมีส่วนร่วมกับองค์กรมากขึ้น
2. หัวหน้าหรือผู้บริหารควร Review และชื่นชมพนักงานอย่างสม่ำเสมอ
“คุณทำงานได้ดีมากเลย โปรเจกต์นี้ประสบความสำเร็จได้เพราะมีคุณเป็นส่วนหนึ่งในงาน” หากทำงานอย่างหนักแล้วได้ยินแบบนี้ คงจะรู้สึกภูมิใจมากเลยใช่ไหม หลาย ๆ คนก็อยากได้รับคำชมกันทั้งนั้น พนักงานของคุณเองก็เช่นกัน เพราะ “การชื่นชม” เป็นสิ่งที่จะสร้างกำลังใจและแรงผลักดันให้พนักงานทำงานได้เป็นอย่างดี
ทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้พนักงานมีความกระตือรือร้นขึ้นโดยไม่ต้องเสียเงินลงทุนเลยสักบาท เพราะพวกเขารู้สึกว่าผลงานที่ทำไปได้รับการยอมรับและผลตอบรับที่ดีกลับมา นอกจากนี้ยังช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างหัวหน้างานและพนักงานได้อีกด้วย
3. สร้าง Work - Life Balance ให้กับพนักงานในองค์กร
คงได้ยินกันมาไม่น้อยแล้วเกี่ยวกับการปรับสมดุลการทำงานและใช้ชีวิต พนักงานจะทำงานได้ดีก็ต้องแฮปปี้ที่ได้อยู่กับองค์กรด้วย ถ้าต้องทำงานหนักจนไม่มีเวลาเลยก็เป็นธรรมดาที่จะหมดไฟ ซึ่งหากองค์กรอยากรักษาพนักงานไว้ ควรมีนโยบายที่สนับสนุนให้พนักงานมี Work - Life Balance ในการทำงาน โดยสามารถทำได้จากการ
-
ให้สิทธิพนักงานกำหนดชั่วโมงการทำงานด้วยตนเอง หรือทำข้อตกลงร่วมกัน
-
มีนโยบายการทำงานหลากหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็น work from home, hybrid working หรือทำงานที่ออฟฟิศ
-
จัดสรรวันหยุดให้พนักงานได้พักผ่อนและใช้เวลากับครอบครัวอย่างเหมาะสม
4. สร้างแผนความก้าวหน้าทางอาชีพให้ Talent และพัฒนา Talent อยู่ตลอด
จะเป็นทาเลนต์ ก็ต้องหมั่นพัฒนาทั้งทักษะและประสบการณ์ในสายงานนั้น ๆ หากทำงานมาตั้งหลายปีแล้วไม่ได้พัฒนาอะไรเลยคงไม่มีใครอยากไปทำงาน ที่คนส่วนใหญ่ตัดสินใจสมัครงานกับบริษัทใหญ่ ๆ ก็เพราะ ต้องการพัฒนาทักษะและหาโอกาสเติบโต หากองค์กรของคุณมีโครงการเพื่อพัฒนาและอบรมพนักงานบ่อย ๆ หรือแผนสร้างความก้าวหน้าด้านอาชีพเพื่อปูทางให้พนักงาน ก็จะสามารถดึงดูดความสนใจของทาเลนต์ให้อยู่หมัดได้อย่างแน่นอน
5. จ่ายค่าตอบแทนและมอบสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้กับพนักงานอย่างเหมาะสม
คงไม่มีใครอยากจะใช้เงินแบบ “เดือนชนเดือน” ที่ต้องหอบงานกลับไปทำที่บ้านแทบทุกวัน แต่ได้ค่าจ้างไม่คุ้มค่า จะซื้อของแต่ละอย่างก็ต้องมานั่งคิดว่าเงินจะพอใช้จนถึงสิ้นเดือนไหม ดังนั้น “ค่าจ้าง” จึงเป็นสิ่งที่สามารถดึงดูดความสนใจคนเก่ง ๆ ให้มาเข้าร่วมกับองค์กรได้ เพราะคนเก่งก็ต้องการผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับความพยายามและความสามารถของพวกเขา
ดังนั้นองค์กรควรให้ค่าจ้างตามเหมาะสมของเนื้องานและความสามารถของพนักงานจริง ๆ เพราะหากองค์กรละเลยพนักงานที่ทุ่มเท แต่หันไปเน้นระบบอาวุโส ไม่ใส่ใจเรื่องศักยภาพในการทำงาน หรือแม้แต่แบ่งงานไม่เท่าเทียมกัน คนขยันก็จะรู้สึกว่า เราทำงานหนักไปเท่าไหร่ก็ไม่เห็นผลแล้วจะอยู่ไปทำไม
Employee Retention ควรนำมาใช้ตอนไหน?
บางบริษัทต้องรอจนพนักงานลาออกไปมากกว่าครึ่ง ถึงจะรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในองค์กร มารู้ตัวอีกทีก็แทบไม่เหลือคนเก่ง ๆ แล้ว อยากจะยื้อคนเหล่านั้นไว้ก็สายไปเสียอีก ดังนั้นการสังเกตความเปลี่ยนแปลงของพนักงานในองค์กรอยู่เสมอจะทำให้คุณสามารถรักษาคนเก่งไว้ได้ทันท่วงที จากสัญญาณเตือน เช่น
-
เมื่อพบว่าพนักงานมีการอัพเดทข้อมูลโปรไฟล์บนแพลตฟอร์มอย่าง Linkined หรือช่องทางอื่น
-
พนักงานลาหยุดบ่อยจนเกินไป รู้สึกหมดไฟในการทำงาน หรือทำงานได้มีประสิทธิภาพลดลงกว่าเดิมมาก
เมื่อมีสัญญาณเหล่านี้ ความเป็นไปได้ที่บริษัทของคุณกำลังจะสูญเสียพนักงานมาถึงแล้ว ดังนั้น HR หรือหัวหน้างานควรพูดคุยเพื่อถามถึงความพึงพอใจในการทำงานและความคาดหวังในอนาคต เพื่อที่องค์กรจะได้นำกลับมาพิจารณาและหาทางแก้ไข้ปัญหา
ซึ่งจริง ๆ แล้ว ไม่จำเป็นต้องรอให้เรื่องเกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยตามแก้ไข แต่สามารถสำรวจความเห็นของพนักงานได้อยู่เสมอ หรือหาข้อมูลเพื่อพัฒนานโยบาย สวัสดิการ และวัฒนธรรมขององค์กรจากคู่แข่งเพื่อนำมาปรับใช้ก็ได้เช่นกัน
การได้ทำงานกับองค์กรที่ใส่ใจและให้ความสำคัญกับพนักงาน เป็นสิ่งที่หลายคนกำลังมองหา หากพนักงานไม่มีความสุขก็ย่อมไม่อยากทำงานกับองค์กรต่อ แทนที่จะให้ HR อย่างคุณมาแก้ปัญหาที่ปลายเหตุด้วยการหาคนมาแทนซ้ำแล้วซ้ำเล่า จะดีกว่าไหมหากคุณสามารถรักษาพวกเขาไว้ให้อยู่กับองค์กรได้นานที่สุด เพื่อเป็นประโยชน์กับทั้งทาเลนต์และองค์กรของคุณเอง
นอกจากนี้ เราอยากแอบบอกทริคเล็ก ๆ คือ การสร้างแบรนด์นายจ้าง (Employer Branding) จะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ให้คนภายนอกได้รับรู้ และดึงดูดความสนใจจากทาเลนต์มากมายให้มาเข้าร่วมกับองค์กร ไม่ว่า HR คนไหนที่ต้องการหาทาเลนต์ใหม่ ๆ หรือรักษาคนเก่งไว้ การสร้างแบรนด์นายจ้างจะช่วยให้คุณทำงานได้ง่ายขึ้น หากคุณสนใจ วันนี้ WorkVenture สามารถให้คำแนะนำกับคุณได้ ด้วยประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับบริษัทชั้นนำมาแล้วมากมาย ติดต่อเรา คลิก