การทำงานต้องแบบนี้สิ! พนักงานถึงอยากมาออฟฟิศทุกวัน
บริษัทที่ดีและมีบรรยากาศสงบ จะช่วยทำให้เราทำงานได้ไหลลื่น แต่ถ้าออฟฟิศที่ไหนมีแต่ความวุ่นวาย ก็จะทำให้หัวเราไม่แล่นได้เช่นกัน
แล้วแบบนี้จะทำไงให้บริษัทของเรากลายเป็นองค์กรที่พนักงานอยากจะตื่นมาทำงานด้วยทุกเช้าล่ะ?
Highlight
- ชั่วโมงงานต่อสัปดาห์ที่ไม่มากจนเกินไป จะช่วยเพิ่มทั้งคุณภาพและปริมาณผลผลิต
- ออฟฟิศแบบเปิดส่งผลด้านลบต่อคุณภาพงาน และสุขภาพจิตของพนักงาน
- การนำ “กฎห้องสมุด” มาปรับใช้กับออฟฟิศแบบเปิด สามารถบรรเทาผลในเชิงลบเหล่านี้ได้
- Deadline ที่เข้มงวดเกินไป อาจส่งผลเสียต่อคุณภาพงานเช่นกัน
- การดำเนินธุรกิจในสไตล์ Disruptor อาจส่งผลต่อความตึงเครียดของพนักงานในองค์กร
“ความสร้างสรรค์และความก้าวหน้า
ย่อมเกิดกับพนักงานที่มีความสุข”
วันนี้เราขอยกเนื้อหาเรื่องการทำบรรยากาศออฟฟิศให้น่าอยู่ จากหนังสือที่ชื่อ It Doesn’t Have to be Crazy at Work เขียนโดย Jason Fried ร่วมกับ David Heinemeier Hanson ผู้ดำเนินธุรกิจด้านซอฟท์แวร์ในนามบริษัท Basecamp แห่งเมืองชิคาโก
“ออฟฟิศที่ดีล้วนดีต่อใจ ใคร ๆ ก็ชอบ”
ผู้แต่งหนังสือได้ให้แนวคิดว่า มันเป็นไปได้ที่จะทำธุรกิจให้งอกเงยได้โดยไม่ต้องเคี่ยวเข็ญให้พนักงานทำงานหามรุ่งหามค่ำ เนื่องจากบุคลากรที่เหนื่อยล้าย่อมไม่สามารถสร้างผลงานที่เปี่ยมคุณภาพได้ “ความสร้างสรรค์และความก้าวหน้า ไม่ได้มาจากการใช้งานเยี่ยงทาส” พิสูจน์ได้จากพนักงานระดับผู้จัดการของเค้าที่นอนไม่พอ มักจะมีความอดทนต่ำและนำไปสู่คุณภาพงานที่ลดลง
พนักงานที่ Basecamp ทำงานกัน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ยกเว้นในหน้าร้อนที่จำนวนวันทำงานต่ออาทิตย์มีเพียง 4 วัน ก็จะเหลือเพียง 32 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น แถมพวกเขายังได้วันลาพักร้อนกัน 3 สัปดาห์ต่อปีพร้อมด้วยเงินสนับสนุนค่าเดินทางอีก 5,000 USD (ประมาณ 170,000 บาท) และในทุก ๆ 3 ปีพนักงานที่นี่จะได้รับวันหยุดยาวนับเดือน โดยได้เงินเดือนเต็มเม็ดเต็มหน่วย ตบท้ายด้วยบริการนวดผ่อนคลายในสปาสุดหรูเดือนละครั้ง
Messrs Fried และ Heinemeier Hansson ให้ความเห็นว่า สิ่งเหล่านี้คือตัวอย่างของสวัสดิการที่ดี ในขณะที่สวัสดิการที่ “ไม่เหมาะสม” อย่างอาหารเย็นฟรี ห้องเล่นเกม ตลอดจนบาร์เครื่องดื่มและขนมในออฟฟิศนั้นรังแต่จะรั้งตัวพนักงานให้กลับบ้านได้ช้าลง ซึ่งเหล่าคนทำงานควรตระหนักว่านโยบายของบริษัทในทำนอง “พวกเราคือครอบครัว” มีแต่จะทำให้เวลาที่พวกเขาได้ใช้กับ “คนในครอบครัว” ของพวกเขาลดลง
“ออฟฟิศแบบเปิด ที่ว่าร้าย
ก็ดูดีได้ภายใต้กฏระเบียบ”
อีกจุดหนึ่งที่มองข้ามไปไม่ได้คือ ออฟฟิศในปัจจุบันเอื้อให้เกิดการ "ขัดจังหวะ" ขึ้นมากที่สุด ส่งผลให้งานเสร็จช้ากว่ากำหนดและต้องใช้เวลาทำมากขึ้น จากการที่ผู้เขียนเองได้เข้าร่วมประชุมที่มีผู้นั่งฟังกว่า 600 คน ทางผู้เขียนได้ถามว่า “ช่วงนี้ มีใครบ้างที่ได้ทำงาน 3 – 4 ชั่วโมงโดยไม่โดนขัดจังหวะเลยซักครั้ง” ผลลัพธ์คือเพียง 30 กว่าคนเท่านั้นที่ยกมือขึ้น ซึ่งถ้าลองคิดกันจริง ๆ ออฟฟิศแบบเปิด (Open-plan Office) เป็นอะไรที่สุดแสนจะยอดแย่ในด้านบรรยากาศการทำงาน
ทาง Basecamp จึงได้นำ กฎห้องสมุด มาปรับใช้กับบริษัท ไม่ว่าจะให้กระซิบเบา ๆ เมื่อพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน หรือห้องประชุมที่แยกสัดส่วนชัดเจนจากห้องอื่น
อีกข้อที่น่าสนใจคือ เราไม่ควรจัดประชุมบ่อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งการประชุมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก เพราะมากคนก็ยิ่งมากความ ผู้แต่งได้ให้ความเห็นไว้ว่า “การประชุมที่มีคน 8 คน ไม่ได้จบใน 1 ชั่วโมง แต่สามารถลากยาวได้ถึง 8 ชั่วโมง” ผู้ปฏิบัติงานไม่จำเป็นต้องรับรู้กันไปทุกเรื่องทุกอย่าง และการปล่อยให้พวกเขาได้ใช้เวลากับงานของตัวเองย่อมเป็นเรื่องที่ดี
“Deadline ≠ เส้นตาย”
อีกสิ่งที่ลดความตึงเครียดในที่ทำงานได้ดี คือการระมัดระวังไม่ให้ Deadline กลายเป็น “เส้นตาย” สมชื่อของมัน เพราะเป้าหมายพวกนั้นไม่ใช่ของจริง ตราบใดที่สามารถได้ชิ้นงานที่ดี และทันต่อการใช้งาน นอกจากนี้ เราไม่ควรคาดหวังว่าจะได้คำตอบในทันทีที่เอ่ยถาม ยิ่งให้เวลาเยอะ คำตอบยิ่งผ่านกระบวนการคิดและเต็มไปแง่มุมด้วยประโยชน์
เป้าหมายโดยรวมขององค์กรควรจะเป็นไปตามความเป็นจริง ซึ่งในตอนนี้หลายบริษัทล้วนแต่มุ่งที่จะ “เปลี่ยนโลก” หรือมุ่งที่จะเป็น “Disruptor” ซึ่งเป้าหมายเหล่านี้แม้จะดูน่าประทับใจ แต่มันจะทำให้พนักงานอยู่ในความกดดัน ซึ่งในฐานะผู้จัดการแล้ว ถ้าคุณดูแลลูกทีมได้ดี และพวกเขาดูแลลูกค้าได้ดี ผลลัพธ์ย่อมออกมาดีเช่นกัน
“Disruptor หรือ Innovator?
แบบไหนที่ใช้สำหรับคุณ”
โดยสรุปแล้ว หนังสือเล่มนี้มุ่งที่จะโน้มน้าวให้เหล่าผู้จัดการสรรหาวิธีใหม่ ๆ ในการบริหาร เพื่อที่จะลดความตึงเครียดและพัฒนาคุณภาพชีวิตพนักงาน นอกจากนี้ ทางผู้บริหารรระดับสูงควรทิ้งแนวคิดที่ให้พนักงานมาเช้ากลับค่ำ เพราะการปรับโครงสร้างบริษัทให้น่าอยู่นั้น จะดีต่อทั้งพนักงาน และนำไปสู่ผลผลิตที่มีคุณภาพสูง
การทำงานที่ Basecamp นั้นดีจริงหรือไม่ เราไม่อาจพูดได้เต็มปากจากมุมมองของคนภายนอก อย่างไรก็ตาม Forbes ได้จัดอันดับให้ Basecamp เป็นหนึ่งในบริษัทยอดเยี่ยมของประเทศอเมริกาในปี 2017 ส่วนหนึ่งเพราะพนักงานมีจำนวนไม่มากเกินไป และไม่มีบรรดานักลงทุนที่ต้องคอยเอาใจ ซึ่งสวัสดิการที่บริษัทนี้ให้พนักงานอาจไม่สามารถใช้ได้กับองค์กรขนาดใหญ่ที่ค่อนข้างเข้มงวด อย่างไรก็ตามท่านผู้บริหารระดับสูงก็ควรนำแนวคิดเหล่านี้ไปปรับใช้ เพราะวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่เคร่งเครียดเกินไปย่อมดีกว่าการกดดันพนักงานในระยะยาว ซึ่งตอนนี้พบทั่วไปในทุกบริษัท
รู้หรือไม่การทำ Employer Branding จะช่วยทำให้บริษัทส่งมอบภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรออกไปให้คนได้รับรู้ ดึงดูดคนมีความสามารถและเล็งเห็นความสำคัญของบริษัทให้เข้ามาทำงานกับคุณ และยังทำให้พนักงานปัจจุบัน รักและภูมิใจในบริษัทของตนเองอีกด้วย
สนใจเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ Employer Branding ไหม? WorkVenture สามารถให้คำปรึกษาและช่วยเหลือคุณได้ ด้วยประสบการณ์การทำงานร่วมกับบริษัทชั้นนำของไทยและต่างประเทศ คลิก