Career advice | 19 May 2016

ยิ่งทำเยอะยิ่งได้น้อย: การ Multitasking ทำให้เราทำงานได้เยอะขึ้นจริงหรือ?

ยิ่งทำเยอะยิ่งได้น้อย: การ Multitasking ทำให้เราทำงานได้เยอะขึ้นจริงหรือ?

คนเราเกิดมามีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน เราทุกคนต่างถูกสอนมาเหมือนกันว่าให้ใช้เวลาของเราให้คุ้มค่าที่สุด แต่คำว่า ‘คุ้มค่า’ ในที่นี้เราให้ค่ามันในเชิง ‘ปริมาณ’ หรือ ‘คุณภาพ’ กันล่ะ?

 

หลายคนมักเขียนในเรซูเม่ของตัวเองว่าหนึ่งในความสามารถพิเศษก็คือการ ‘Multitasking’ หรือ ‘ความสามารถในการทำหลายๆ สิ่งไปพร้อมกันได้ในเวลาเดียวกัน’ บริษัทก็มองว่าสิ่งนี้เป็นข้อดีเพราะเป็นการได้คนที่ทำงานได้เยอะขึ้นในเวลาที่น้อยลง แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับไม่เป็นเช่นนั้นเลย

 

ศาสตราจารย์คาร์ล นิวพอร์ต แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์กล่าวไว้ในหนังสือ ‘Deep Work: Rules For Focused Success In A Distracted World’ ว่าการข้ามจากงานไปสู่อีกงานทำให้กล้ามเนื้อในสมองของเราเสื่อมลง ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานของเราลดลง แต่หารู้ไม่ว่าเรากำลังหลอกตัวเองด้วยจำนวนงานเล็กๆน้อยๆที่เราทำสำเร็จ ในขณะที่ความเป็นจริงนั้นคุณภาพของงานแต่ละชิ้นนั้นด้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

 

นอกจากคุณภาพของงานที่ออกมาจะลดลงแล้ว คุณภาพในการใช้ชีวิตก็ลดลงตามด้วย จากผลการวิจัยสมองด้วยเครื่อง MRI ทำให้เราค้นพบอีกว่าการ Multitasking นั้นทำให้ความหนาแน่นในส่วนที่ควบคุมเรื่องอารมณ์และความรู้สึกในสมองของเราน้อยลงอีกด้วย

 

ทุกวันนี้เราหลอกตัวเองด้วยความรู้สึกดีเพียงชั่วครู่จากการทำสิ่งเล็กๆน้อยๆสำเร็จเช่นการส่งอีเมล ความรู้สึกนี้จะทำให้เรารู้สึกว่าเรากำลังมีประสิทธิผลในการทำงานอย่างยิ่งยวดซึ่งในความเป็นจริงแล้วตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง

 

เนื่องจากสมองของเราไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เปลี่ยนจากงานหนึ่งไปสู่อีกงานหนึ่งได้อย่างทันท่วงที ทำให้ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนงานที่ทำนั้นจะก่อให้เกิด ‘ตะกอนของความสนใจ’ (Attention Residue) เปรียบเสมือนสารตกค้างอยู่ในสมองของเราจากงานก่อนหน้า

 

ยิ่งเรามีตะกอนนี้มากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งทำงานออกมาได้แย่ลงมากยิ่งขึ้นเพราะสมองของเรายังไม่หยุดคิดกับงานที่ยังค้างหรืองานก่อนหน้าที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดี ผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยลอนดอนชี้ให้เห็นว่าเพียงรู้ว่ามีอีเมลที่ยังไม่ได้อ่านตกค้างอยู่ใน Inbox ก็ทำให้ IQ ของผู้เข้าทดสอบลดลงไป 10-15 จุดเลยทีเดียว

 

 

แล้วเราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร? ศาสตราจารย์คาร์ล นิวพอร์ต แนะนำว่าเราควรที่จะเข้าสู่สถานะของ ‘Deep Work’ หรือพูดง่ายๆก็คือจุดที่เราโฟกัสกับงานที่ทำอยู่อย่างแน่วแน่และไม่มีสนใจสิ่งเร้าจากรอบข้างใดๆทั้งสิ้น เขากล่าวว่า ‘งานที่มีคุณภาพที่ดีนั้นเกิดจากสองสิ่งก็คือเวลาที่เราใช้ไปกับมันและระดับความโฟกัสที่เรามีกับมัน ยิ่งเราโฟกัสมากเราก็จะใช้เวลาน้อยลงในการทำให้มันเสร็จได้’

 

ในท้ายที่สุดแล้วไม่ว่างานจะยากแค่ไหนก็ตาม ทุกอย่างก็สำเร็จได้เพียงแค่เราให้เวลาและความตั้งใจกับมันให้เต็มที่ ซึ่งเราสามารถนำทฤษฎี Pomodoro หรือ 33-Minute-Rule มาใช้ร่วมกันก็จะทำให้เราสร้างสมาธิได้มากขึ้นและจะทำให้งานของเราออกมาดีขึ้นได้ด้วยครับ