พลังของ Employee Experience คืออะไร และจะสร้างยังไงให้ปัง
ทุกวันนี้ HR ต่างหันมาให้ความสนใจกับ Employee Engagement มากขึ้น เพราะการที่พนักงานมีปฏิสัมพันธ์และความผูกพันธ์กับองค์กรนั้นจะส่งเสริมให้พนักงานมีความมุ่งมั่นทำงานเพิ่มขึ้น องค์กรเองก็มีผลผลิตที่ได้จากการทำงานเพิ่มขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ HR ต้องตั้งโจทย์ต่อไปก็คือ แล้วทำอย่างไรพนักงานถึงจะมีปฏิสัมพันธ์กับองค์กร คำตอบก็คือ Employee Experience (EX) หรือ ประสบการณ์การทำงานของพนักงานนั่นเอง
WorkVenture จะขอแนะนำให้รู้จักกับสิ่งนี้มากขึ้นว่าคืออะไร? แล้วจะสร้างมันอย่างไร?
Employee Experience (EX) คืออะไรกัน?
ประสบการณ์การทำงานของพนักงาน เป็นการสร้างประสบการณ์ที่พนักงาน ‘ต้องการ’ ในการทำงาน มากกว่าประสบการณ์ที่พนักงานรู้อยู่แล้วว่าพอมาทำงานจะต้องเจอ ซึ่งพนักงานหนึ่งคนจะทำงานได้ดีหรือไม่ดี มีปฏิสัมพันธ์อย่างไรกับองค์กรตั้งแต่วันแรกถึงวันสุดท้ายที่ทำงานนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าพนักงานรู้สึกอย่างไรกับองค์กร ยิ่งพนักงานได้รับประสบการณ์ที่ดีมากเท่าไหร่ พนักงานก็จะสามารถส่งมอบสิ่งดีๆ ผ่านการทำงานได้มากขึ้นเท่านั้น
ซึ่งการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้พนักงานนั้น เริ่มจากหลายสิ่งไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมในการทำงาน ออฟฟิศ เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน ไปจนถึงสวัสดิการ วัฒนธรรมองค์กรและความสะดวกสบายที่จะได้รับจากการทำงานเพื่อให้งานต่างๆ สำเร็จ
สิ่งที่จะได้รับจากการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้พนักงานก็คือได้รับองค์กรที่น่าอยู่ พนักงานทุกคนมีความสุขและอยากมาทำงานในทุก ๆ วัน เมื่อพนักงานมีความสุขก็จะทำงานออกมาดี ลูกค้าก็จะได้รับงานที่ดีตามไปด้วย
จะสร้าง Employee Experience นอกจากสวัสดิการต้องมองให้รอบด้าน
เดี๋ยวนี้บริษัทไหนๆ ก็เริ่มมีสวัสดิการอาหารกลางวันฟรี ห้องออกกำลังกายหรือสมาชิกฟิตเนส คลาสเต้นหลังเลิกงาน จนเมื่อได้ยินแล้วรู้สึกเป็นเรื่องปกติไปเลย ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าสวัสดิการเหล่านี้ไม่ดี แต่ที่ต้องดูต่อไปคือสิ่งเหล่านี้ตอบโจทย์ความต้องการของพนักงานด้วยหรือเปล่า
นอกเหนือจากเรื่องสวัสดิการแล้ว การเข้าใจสิ่งที่พนักงานต้องการเพื่อที่จะทำงานให้สำเร็จก็สำคัญ ยกตัวอย่างเช่น ออฟฟิศบางสถานที่ๆอาหารแพงและหาร้านอาหารได้ยาก สวัสดิการอาหารจะกลายเป็นเรื่องสำคัญขึ้นมาทันที เพราะการออกไปหาข้าวกินไกลๆ จากออฟฟิศนอกจากจะทำให้ไม่ได้รับความสะดวกสบายแล้ว อาจจะส่งผลให้กลับมาทำงานช้า หรือคลาสเต้นหลังเลิกงานก็เป็นสวัสดิการที่น่าสนใจ แต่ก็ต้องเป็นกิจกรรมที่ให้พนักงานอยากเข้ามามีส่วนร่วมเอง ไม่ได้เป็นไปในเชิงบังคับ
การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้พนักงานคือการคิดในแง่มุมมองของพนักงานว่าพนักงานจะมีกำลังใจในการทำงานจากอะไรบ้าง การมีสวัสดิการจึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เรื่องของวัฒนธรรมองค์กรอย่างการชื่นชมเมื่อทำงานเสร็จ หรือการให้คำปรึกษาเรื่องงานได้ตลอดก็เป็นเรื่องที่สำคัญ การสร้างประสบการณ์ที่ดีจึงเป็นเรื่องของการคิดให้รอบด้านนั่นเอง
สร้างช่องทางการสื่อสารก็สำคัญต่อการสร้าง Employee Experience
การเข้าใจว่าพนักงานต้องการอะไรจะช่วยทำให้ HR สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาแผนทรัพยากรบุคคลได้ง่าย เช่น เข้าใจว่าสถานการณ์แบบใดที่ทำให้พนักงานอึดอัดหรือทำงานลำบาก สภาพแวดล้อมแบบใดที่ทำให้พนักงานมีความสุข หรือสวัสดิการอะไรที่จะตอบโจทย์เรื่องการทำงานเพราะหากพนักงานไม่ต้องคิดมากเกี่ยวกับการทำงานแล้วก็จะสามารถโฟกัสไปที่งานได้อย่างเต็มที่
การสร้างประสบการณ์การทำงานที่ดีให้พนักงานจึงเป็นเรื่องของ “การสื่อสารสองฝ่าย” ทั้งฝ่ายองค์กรที่ต้องการจะสร้างสรรค์สวัสดิการให้แก่พนักงาน และพนักงานก็ควรจะมีช่องทางสำหรับสื่อสารความคิดให้องค์กรรับรู้ด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งการสำรวจความคิดเห็นของพนักงานอาจเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้ HR รู้ข้อมูลจากพนักงานได้
หากพนักงานได้มีช่องทางสื่อสารที่ทำให้พวกเขารู้สึกดีและสบายใจแล้ว ก็จะเป็นช่องทางที่ทำให้องค์กรได้ข้อมูลเพื่อนำไปปรับปรุงสวัสดิการต่างๆ ของพนักงานต่อไป ยิ่งทุกวันนี้พนักงานส่วนใหญ่สามารถใช้เทคโนโลยีช่องทางต่างๆ เพื่อแสดงความคิดเห็นได้แล้ว องค์กรจึงสามารถได้ข้อมูลแบบ Real-Time ไม่ต้องรอทำแบบสำรวจความคิดเห็นประจำปีอีกต่อไป
การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้พนักงานไม่ใช่เรื่องของการให้สวัสดิการและการเพิ่มเงินเดือนอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการคิดในแง่มุมของพนักงานว่าอะไรเป็นประโยชน์และอะไรเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของพนักงาน เพื่อนำไปปรับปรุงออฟฟิศ สวัสดิการและอื่นๆ ให้เอื้อต่อการทำงานของพนักงาน
รู้หรือไม่ Employee Experience ก็เป็นส่วนหนึ่งในการการแบรนด์นายจ้างที่สำคัญ ถ้าอยากให้พนักงานได้มีประสบการณ์ดีๆในการทำงานและผูกพันธ์กับองค์มากยิ่งขึ้น การสร้างแบรนด์นายจ้างถือเป็นหัวใจหลักเลยทีเดียว อ่านบทความเพิมเติมเกี่ยวกับการสร้างแบรนด์นายจ้างได้ที่นี้ คลิก