คำแนะนำด้านอาชีพ | 4 March 2025

Work Friends Matter: 6 เทคนิคเมคเฟรนด์กับเพื่อนร่วมงานเมื่อเริ่มงานใหม่


 

ในชีวิตการทำงานเรามักได้พบเจอเพื่อนร่วมงานหลากหลายแบบ บางคนอาจกลายเป็นเพื่อนแท้ที่สนิทกันทั้งในและนอกเวลางาน ในขณะที่บางคนอาจเป็นเพียง "Work Friends" หรือเพื่อนที่ทำให้การทำงานสนุกขึ้น มีชีวิตชีวา และช่วยให้บรรยากาศการทำงานไม่น่าเบื่อ แม้ว่าจะไม่ได้ใช้เวลาร่วมกันนอกออฟฟิศเสมอไป แต่รู้หรือไม่ว่าการมี Work Friends ส่งผลดีมากกว่าที่คิด? จากงานวิจัยพบว่าคนที่มี Work Friends จะมีความกระตือรือร้นในการทำงานสูงขึ้นถึง 7 เท่า! เพราะเมื่อมี Work Friends ที่ดี ทุกวันในการทำงานก็จะเต็มไปด้วยความสุข

ลองจินตนาการว่าหากคุณต้องเริ่มงานใหม่และทุกวันต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่เงียบเหงา ไม่มีใครพูดคุยหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มันคงรู้สึกอึดอัดและทำให้วันทำงานยาวนานขึ้น แต่ถ้าคุณมี Work Friends ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปทันที ทุกวันจะเต็มไปด้วยพลังบวก การทำงานเป็นทีมจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นและที่สำคัญคุณจะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรได้เร็วขึ้น
ดังนั้นการเมคเฟรนด์กับเพื่อนร่วมงานไม่ได้หมายความว่าคุณต้องเป็นเพื่อนสนิทกับทุกคน แต่การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในที่ทำงานจะช่วยให้คุณรู้สึกสบายใจและมีความสุขมากขึ้นในทุกวันของการทำงาน

แล้วคุณล่ะ? อยากเป็นแค่คนที่ทำงานร่วมกันไปวัน ๆ หรืออยากเป็น "Work Friend" ที่ช่วยกันสร้างบรรยากาศดี ๆ ในที่ทำงาน?

 

 

ก่อนที่จะบอกถึงเทคนิคการเมคเฟรนด์กับเพื่อนร่วมงาน เรามาทำความเข้าใจถึงหลักจิตวิทยาที่คุณควรรู้กันก่อน เพื่อให้การเมคเฟรนด์กับเพื่อนร่วมงานง่ายยิ่งขึ้น การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในที่ทำงานไม่ได้ขึ้นอยู่กับโชคหรือบุคลิกของแต่ละคนเพียงอย่างเดียว แต่มีหลักจิตวิทยาที่ช่วยให้คุณเมคเฟรนด์กับเพื่อนร่วมงานได้เป็นธรรมชาติมากขึ้น ลองมาดู 2 หลักจิตวิทยาง่าย ๆ ที่อธิบายว่าทำไมบางคนถึงสามารถเข้ากับเพื่อนร่วมงานได้อย่างรวดเร็วในขณะที่บางคนต้องใช้เวลามากกว่านั้น

หลักจิตวิทยาในการสร้างสัมพันธ์

  • The Mere Exposure Effect : ยิ่งเจอ ยิ่งคุ้นเคย

เราไม่สามารถสนิทกับใครได้ภายในวันเดียว แต่รู้ไหมว่าแค่การได้เจอกันบ่อย ๆ ก็สามารถช่วยให้เรารู้สึกใกล้ชิดกันมากขึ้นได้! ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า "The Mere Exposure Effect" หรือหลักการที่ว่า “ยิ่งเราเห็นหรือมีปฏิสัมพันธ์กับใครบ่อย ๆ เราก็จะรู้สึกเชื่อมโยงกับเขามากขึ้น”

ในที่ทำงานคุณสามารถใช้หลักข้อนี้ได้ง่าย ๆ เพียงแค่เพิ่มโอกาสในการพบปะกับเพื่อนร่วมงานให้บ่อยขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมกิจกรรมของบริษัท การนั่งทานข้าวกลางวันร่วมกัน หรือแม้แต่เลือกที่นั่งใกล้ ๆ คนที่คุณอยากทำความรู้จัก สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ช่วยให้เพื่อนร่วมงานเปิดใจรับคุณได้ง่ายขึ้นและทำให้การเมคเฟรนด์กับเพื่อนร่วมงานเกิดขึ้นได้อย่างเป็นธรรมชาติ

  • The Reciprocity Principle : ให้ก่อนแล้วจะได้รับกลับมา

เคยสังเกตไหมว่าถ้าเราเริ่มต้นทำสิ่งดี ๆ ให้ใครสักคน เขามักจะอยากตอบแทนเรากลับเสมอ? นี่คือหลักจิตวิทยาที่เรียกว่า "The Reciprocity Principle" หรือแนวคิดที่ว่า “ถ้าเราให้สิ่งดี ๆ กับคนอื่นก่อน พวกเขาจะมีแนวโน้มตอบกลับในแบบเดียวกัน”

การเมคเฟรนด์ในที่ทำงานก็เช่นกัน หากคุณเป็นฝ่ายที่เริ่มต้นแสดงความเป็นมิตร ทักทาย หรือให้ความช่วยเหลือเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ช่วยถือเอกสารหรือแบ่งปันเคล็ดลับเกี่ยวกับงาน อีกฝ่ายก็มักจะรู้สึกอยากช่วยเหลือคุณกลับเช่นกัน เทคนิคง่าย ๆ คือลองเป็นฝ่ายที่ยื่นมือออกไปก่อน อาจเริ่มจากการกล่าวคำทักทายหรือให้ความช่วยเหลือเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน แล้วคุณจะพบว่าความสัมพันธ์ดี ๆ สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเป็นธรรมชาติและรวดเร็ว

 


 

6 เทคนิคเมคเฟรนด์กับเพื่อนร่วมงานเมื่อเริ่มงานใหม่

เมื่อเข้าใจหลักจิตวิทยาที่ช่วยให้การเมคเฟรนด์กับเพื่อนร่วมงานง่ายขึ้นแล้ว ก็ถึงเวลานำแนวคิดเหล่านั้นมาใช้จริงในชีวิตประจำวัน การสร้างความสัมพันธ์ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องซับซ้อนหรือกดดันเกินไป บางครั้งพฤติกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ช่วยให้คุณกลายเป็นส่วนหนึ่งของทีมได้เร็วขึ้น ลองใช้ 6 เทคนิคต่อไปนี้เพื่อทำให้การเริ่มงานใหม่ของคุณราบรื่นและเป็นธรรมชาติมากขึ้น

1. ยิ้มและทักทายอย่างเป็นมิตร

เมื่อคุณเริ่มต้นทำงานใหม่การสร้างความประทับใจแรกให้ดีเป็นสิ่งสำคัญ และหนึ่งในวิธีที่ง่ายที่สุดคือการยิ้มและทักทายอย่างเป็นกันเอง แม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่กลับช่วยสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นและเป็นมิตรในที่ทำงาน ทำให้เพื่อนร่วมงานรู้สึกสบายใจที่จะเข้าหาคุณ การเริ่มต้นด้วยรอยยิ้มและคำทักทายสั้น ๆ อย่าง “สวัสดีค่ะ/ครับ” สามารถช่วยให้คุณปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ได้ง่ายขึ้น

เทคนิคการใช้รอยยิ้ม:

  • สบตาและยิ้มเมื่อเดินผ่าน เพื่อนร่วมงาน
  • ทักทายในช่วงเช้าเพื่อเริ่มต้นวันดี ๆ
  • ใช้รอยยิ้มเพื่อลดความกดดันระหว่างทำงาน
  • ยิ้มอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องฝืน แต่ให้จริงใจ
  • ใช้ท่าทางที่เป็นมิตร เช่น พยักหน้า หรือโบกมือเบา ๆ

2. จดจำชื่อเพื่อนร่วมงาน

ชื่อของแต่ละคนมีความสำคัญและการที่คุณสามารถจดจำชื่อของเพื่อนร่วมงานได้ตั้งแต่ช่วงแรก ๆ จะแสดงถึงความใส่ใจและช่วยให้ความสัมพันธ์พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น การเรียกชื่อของใครบางคนระหว่างการพูดคุยทำให้พวกเขารู้สึกว่าคุณให้ความสำคัญกับพวกเขาซึ่งช่วยให้การสื่อสารเป็นธรรมชาติมากขึ้น

เทคนิคช่วยจำชื่อ:

  • ทวนชื่อทันทีที่ได้ยิน เช่น “คุณบีใช่ไหมคะ?”
  • เชื่อมโยงชื่อกับลักษณะเด่น เช่น งานที่เขาทำ
  • ใช้ชื่อเมื่อพูดคุย เช่น “ขอบคุณนะคุณบี”
  • จดบันทึกชื่อและข้อมูลเล็ก ๆ น้อย ๆ

3. พูดชมเชยเล็ก ๆ น้อย ๆ

คำชมเชยเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้คุณเมคเฟรนด์กับเพื่อนร่วมงานได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องพยายามมากเกินไป คำชมที่จริงใจช่วยให้คนรู้สึกดีกับตัวเองและทำให้คุณดูเป็นคนที่ใส่ใจและให้ความสำคัญกับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นการชมเรื่องงานหรือสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างสไตล์การแต่งตัวล้วนแต่ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีได้

เทคนิคการพูดชม:                                

  • ชมเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น “วันนี้แต่งตัวดีจัง”
  • ชมเรื่องการทำงาน เช่น “ชอบไอเดียของคุณมาก”
  • ชมอย่างจริงใจ ไม่ฝืนพูดเพื่อเอาใจ

4. สร้างบทสนทนาด้วย Small Talk 

Small Talk เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้คุณเริ่มต้นบทสนทนาและทำให้เพื่อนร่วมงานคุ้นเคยกับคุณมากขึ้น แม้ว่าจะเป็นการพูดคุยเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ก็เป็นสะพานเชื่อมไปสู่บทสนทนาที่ลึกซึ้งขึ้นในอนาคต การเลือกหัวข้อสนทนาที่เหมาะสมและสร้างบรรยากาศที่เป็นกันเองจะช่วยให้คุณเมคเฟรนด์กับเพื่อนร่วมงานได้ง่ายขึ้น

หัวข้อ Small Talk ที่ใช้ได้ง่าย ๆ :

  • เรื่องงาน เช่น “วันนี้ยุ่งไหม?”
  • ความสนใจส่วนตัว เช่น “ดูซีรีส์เรื่องนี้ไหม?”
  • เหตุการณ์ปัจจุบัน เช่น “ได้ข่าวเรื่อง...แล้วหรือยัง?”
  • ใช้คำถามปลายเปิด เช่น “ช่วงนี้มีอะไรสนุก ๆ ทำบ้าง?”
  • สังเกตสิ่งรอบตัว เช่น “กาแฟร้านนี้อร่อยไหม?”

5. ถามคำถามปลายเปิดเพื่อสร้าง Deep Talk 

การเมคเฟรนด์กับเพื่อนร่วมงานไม่ได้หยุดแค่ Small Talk แต่ถ้าคุณอยากสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้น จำเป็นต้องมีบทสนทนาที่ลึกซึ้งขึ้นด้วยคำถามปลายเปิดช่วยให้คุณและเพื่อนร่วมงานได้รู้จักกันมากขึ้น แลกเปลี่ยนมุมมองและสร้างความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน

ตัวอย่างคำถาม Deep Talk:

  • อะไรเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานของคุณ?
  • คุณมีเป้าหมายอะไรในอนาคต?
  • งานไหนที่คุณทำแล้วภูมิใจที่สุด?
  • มีอะไรที่คุณอยากลองทำในสายงานนี้บ้าง?
  • เวลาว่างคุณชอบทำอะไร?

6. มองหาคนที่มีความสนใจเดียวกัน 

การเมคเฟรนด์กับเพื่อนร่วมงานจะง่ายขึ้นหากคุณพบว่ามีความสนใจที่คล้ายกัน เพราะเมื่อมีหัวข้อที่ทั้งสองฝ่ายสนใจร่วมกัน บทสนทนาจะเป็นธรรมชาติและลื่นไหล ซึ่งช่วยให้คุณสามารถสร้างความสัมพันธ์ได้อย่างรวดเร็ว

เทคนิคหาเพื่อนที่มีความสนใจเดียวกัน:

  • สังเกตหัวข้อที่เพื่อนร่วมงานพูดถึงบ่อย ๆ
  • ชวนคุยเกี่ยวกับสิ่งที่คุณสนใจ
  • เข้าร่วมกิจกรรมของบริษัท เช่น งานเลี้ยง เวิร์กช็อป
  • เข้าร่วมกลุ่มแชตภายในองค์กรที่เกี่ยวข้องกับความสนใจของคุณ​


 

เราทุกคนต่างต้องการความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของบางสิ่งและที่ทำงานก็ไม่ต่างกัน การเมคเฟรนด์กับเพื่อนร่วมงานไม่เพียงแต่ทำให้คุณรู้สึกสบายใจขึ้น แต่ยังช่วยให้ทุกวันของการทำงานมีความหมายมากขึ้น ลองเปิดใจใช้หลักจิตวิทยาที่ช่วยให้คุณเข้าใกล้คนอื่นได้ง่ายขึ้นและนำ 6 เทคนิคที่เราแนะนำไปปรับใช้ คุณอาจค้นพบว่าการทำงานไม่ใช่แค่เรื่องงาน แต่มันคือการเดินทางที่มีเพื่อนร่วมทางคอยช่วยเหลือและสนับสนุนกัน ท้ายที่สุดอย่าลืมที่จะเป็น Work Friend ที่ดีให้กับคนอื่นด้วย เพราะมิตรภาพที่แท้จริงเกิดจากการให้และรับในเวลาเดียวกัน