
Multitasking ดีจริงหรือ? ทำไมบางคนยิ่งทำยิ่งพัง?

Multitask คืออะไร
เคยรู้สึกเหมือนตัวเองเก่งที่ทำงานหลายอย่างพร้อมกันไหม? ทานอาหารกลางวันไปตอบอีเมลไป หรือนั่งพิมพ์เอกสารไปโทรหาลูกค้าไป นั่นคือตัวอย่างของ "Multitask" หรือการทำหลายอย่างพร้อมกัน ที่สังคมมักยกย่องคนที่ทำได้ เพราะดูเหมือนเป็นคนที่ใช้เวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากๆ แล้วงานเยอะ เวลาน้อย ทำงานไม่ทันขนาดนี้ ก็ยิ่งต้องรีบใช่ไหม พนักงานออฟฟิศอย่างเราก็ Multitask ปังๆไปเลยจ้า ออกจะไว งานจะได้เสร็จ ได้กลับบ้าน ได้นอนซะที
ข้อปังของ Multitask
-
ว่องไว ประหยัดเวลา:
การ Multitask เหมือนการใช้ทุกวินาทีให้คุ้มค่าที่สุด ตอนที่รอคอมพิวเตอร์ทำงาน เราก็ยังสามารถทำอย่างอื่นได้ ไม่ต้องนั่งเฉยๆ เช่น ใช้เวลาตอนนั้นทำอีเมลหรือเช็กงานอื่นๆ ทำให้การทำงานรวดเร็วขึ้นแถมประหยัดเวลาไปอีก!
-
เพิ่มความคิดสร้างสรรค์:
เคยสงสัยไหมว่า ทำไมเวลายุ่ง ๆ สมองดันแล่นขึ้นมาซะงั้น มีการศึกษา จาก Melwani และ Kapadia ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชาวฟลอริดา ที่นำเสนอโดยสำนักข่าว BBC โดยให้กลุ่มนักศึกษาประชุมไปพร้อมกับตอบอีเมล ในขณะที่อีกกลุ่มทำทีละอย่าง เสร็จแล้วให้ทุกคนคิดไอเดียสร้างสรรค์ เช่น อิฐสามารถใช้ทำอะไรได้นอกจากสร้างกำแพง และผลลัพธ์ก็น่าสนใจมาก กลุ่มที่ Multitask กลับคิดอะไรแปลกใหม่ได้เยอะกว่า เหมือนสมองที่ถูกบังคับให้รับภาระหนัก ๆ จะเปิดโหมด
"อัจฉริยะเฉพาะกิจ" ออกมาแบบไม่รู้ตัว
-
เพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงาน:
การสลับไปมาระหว่างงานทำให้รู้สึกเหมือนมีพลังพิเศษที่ทำให้เราสามารถทำหลายอย่างได้พร้อมกันอย่างคล่องแคล่ว! Multitask ได้แบบไม่มีปัญหา ไม่ว่าจะเจอสถานการณ์ไหนก็สามารถปรับตัวและจัดการทุกอย่างได้แบบไม่สะดุด
แต่!! ก็ทำงานได้ทันเวลาแหละ แค่ Multitask แล้วบางงานมันก็ออกมา “พอได้” แบบไม่ปังเหมือนเมื่อก่อน บางทีสมองมันเหมือนกำลังวิ่งวุ่นในหัว ไม่โฟกัสเหมือนที่เคย จัดการงานพอได้แต่ไม่โปร จำรายละเอียดก็ยากเหมือนสมาธิแอบลอยไปอีกโลกหนึ่ง มันเหมือนทำงานไปเรื่อยๆ จนบางครั้งก็แอบสงสัยว่า เฮ้ย ตอนสมัครงานเข้ามาเป็นพนักงานออฟฟิศใหม่ๆฉันเคยทำได้ดีกว่านี้ไม่ใช่เหรอ? หรือ Multitask ที่ทำอยู่ทำให้งานพังกันนะ
ข้อพังของ Multitask
-
ลดประสิทธิภาพการทำงาน:
เมื่อสมองต้องสลับการโฟกัสระหว่างงานหลายงาน สมองของก็มีลิมิตเหมือนแรมในคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์ Multitask สามารถทำให้รวน ทำงานช้าเพราะต้องแบ่งสมาธิไปทำหลายอย่าง ทำให้สุดท้ายก็อาจจะทำได้ไม่ดีเท่าที่เคย
-
ตัดสินใจได้แย่ลง และเสียสมาธิ :
ตัวอย่างจาก Emerging Science Journal (2020) สำรวจพนักงานออฟฟิศที่ต้องรับมือกับงานถึง 9 อย่างต่อวันบางครั้งยังโดนเพิ่มงานแบบกะทันหัน แถมต้องทำให้เสร็จภายในวันเดียว ครบสูตร Multitask สุดโหด ผลคือกว่า 70% บอกว่าการทำหลายอย่างพร้อมกันทำให้พวกเขาตัดสินใจช้าลงและเสียสมาธิไปเต็ม ๆ
-
ความคิดสร้างสรรค์ลดลง:
อย่าหลงเชื่อคำว่า Multitask จะทำให้ทำงานดี บทความจาก European Research Studies Journal 2020 โดยการพนักงานในบริษัทแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกทำงานแบบเงียบๆ ไม่มีการรบกวน กลุ่มที่สอง Multitask กับความกดดันเรื่องเวลา และกลุ่มที่สาม Multitask พร้อมกับการรบกวนเล็กน้อย ผลที่ได้คือ Multitask ทำให้ความคิดสร้างสรรค์หดหาย ครีเอตได้ไม่เต็มที่เหมือนเคย
-
งานเสร็จช้า:
Multitask ทำให้ดูเหมือนสายลับมืออาชีพ ที่กดโน้ตบุ๊กมือหนึ่ง ยิงศัตรูมือหนึ่ง แล้วคุยโทรศัพท์ไปด้วย! แต่ความจริงแล้ว... งานที่ทำกลับเละไม่เป็นท่า! Multitask ทำให้สมองต้องเปลี่ยนโหมดไปมา โฟกัสแย่ลง ใช้เวลามากขึ้นแล้วงานที่ออกมาก็อาจคุณภาพไม่ดีจนต้องทำใหม่ สุดท้ายแล้วจริงๆแล้วไม่ใช่สายลับ แต่กลายเป็นคนที่งานพังเพราะพยายามทำหลายอย่างเกินไป!
แล้ว multitask ยังไงไม่ให้งานพังล่ะ
ถ้าต้อง multitask แบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ยังอยากให้งานออกมาดี ลองใช้ 3 เทคนิคนี้ช่วยให้สมองรับมือกับความวุ่นวายได้แบบมือโปร
ทำงานหลายอย่างให้รอด ต้องใช้เทคนิค
-
เอางานคล้ายกันไว้ด้วยกัน
สมองต้องใช้พลังงานทุกครั้งที่เปลี่ยนงาน ยิ่งเปลี่ยนบ่อยก็ยิ่งเสียเวลา ลองจัดกลุ่มงานที่คล้ายกันไว้ เช่น ตอบอีเมลทั้งหมดในรอบเดียว หรือทำงานที่ต้องใช้สมาธิต่อเนื่องกันไปเลย จะช่วยให้สมองไม่ต้องสลับโหมดไปมาและทำงานได้เร็วขึ้น
-
To-Do List ช่วยได้
งานเยอะมาก แถมงานสำคัญอาจหลุดโฟกัสได้ง่าย ตั้ง To-Do List ไว้ในจุดที่เห็นได้ตลอด เช่น กระดานโน้ต แอปจดงาน หรือแม้แต่กระดาษแปะโต๊ะ จัดลำดับความสำคัญให้ชัด จะได้รู้ว่าควรโฟกัสอะไรก่อนหลัง
-
ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
Multitask อาจทำให้สมองจดจำข้อมูลได้แย่ลง อ่านอะไรผ่าน ๆ ระหว่างวันอาจจะลืมหมด ลองใช้ช่วงเวลาว่าง เช่น ระหว่างเดินทางกลับมาทบทวนสิ่งที่เรียนรู้จะช่วยให้จำได้แม่นขึ้นและลดเวลาย้อนกลับไปอ่านใหม่
จัดระบบดี ๆ แม้ต้องทำงานหลายอย่างพร้อมกันก็ยังเอาอยู่
Multitask ฟังดูเป็นสกิลเทพที่ต้องมีในยุคที่ทุกอย่างหมุนเร็วจี๋ หลายคนเลยพยายามแปลงร่างเป็นปลาหมึก หยิบจับสารพัดสิ่งพร้อมกัน แต่เดี๋ยวก่อน! วิธีนี้ไม่ได้เวิร์กกับทุกคน และก็ไม่มีสูตรสำเร็จว่าใครควรทำแบบไหน เพราะบางคนก็สามารถจัดการ Multitask ได้ดีสุดๆ อยู่ที่ว่าเราถนัดแบบไหนมากกว่า ดังนั้นแทนที่จะกดดันตัวเอง ลองเช็กดูว่าการทำงานของเราสอดคล้องกับ Multitask หรือเปล่าแล้วปรับให้เข้ากับเป้าหมายและสไตล์ของตัวเองดีกว่า
จำไว้ว่า: ไม่มีวิธีไหนที่ถูกต้องที่สุด วิธีที่ดีที่สุดคือวิธีที่เหมาะกับคุณ และเหมาะกับงาน