Do and Don't สร้างแบรนด์นายจ้างยังไงให้โลกจำ
ในปัจจุบันผู้สมัครต่างก็มีช่องทางที่หลากหลายในการสมัครงานมากยิ่งขึ้น เพราะมีการแย่งตัวคนเก่งขององค์กรต่างๆ ที่นับวันจะยิ่งมีการแข่งขันกันดุเดือดยิ่งขึ้น การสร้างแบรนด์บริษัท (Employer Branding) จึงกลายเป็นเรื่องที่ทุกคนในวงการ HR ต้องพูดถึง! เพราะถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ช่วยในการดึงดูด! สรรหาและรักษาบุคคลากร ทำให้การสร้างแบรนด์บริษัทไม่ได้เป็นเรื่องที่ “น่าทำ” แต่เป็นที่ “ต้องทำ” สำหรับ HR ไปโดยปริยาย ดังนั้น! มาดูกันว่าเมื่อจำทำแบรนด์บริษัทมีสิ่งใดที่ควรทำและสิ่งใดที่ห้ามทำเด็ดขาดกันบ้าง
DO!!! สิ่งที่ควรทำสำหรับ Employer Branding
1. รู้จุดยืนของบริษัท
การสร้างแบรนด์บริษัทให้ผลลัพธ์ออกมาได้ดีอย่างแรกเลยจะต้องรู้จุดยืนของบริษัท ว่าองค์กรต้องการสร้างจุดยืนอย่างไรบ้าง และคนในองค์กรมีมุมมองต่อบริษัทอย่างไร รวมไปถึงการสำรวจว่าคนส่วนใหญ่ มีการรับรู้เกี่ยวกับแบรนด์บริษัทของเราอย่างไรบ้าง ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะช่วยทำให้เราสามารถกำหนดได้ว่าจุดแข็งของแบรนด์บริษัทของเราคืออะไร และจุดอ่อนหรือสิ่งที่ไม่เป็นไปตามที่คิดไว้คืออะไรเพื่อจะได้แก้ไขได้ทันรวมถึงเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาแบรนด์ให้ดีขึ้น
2. รู้จักใช้สื่อโซเชียลมีเดีย
ปัจจุบันผู้คนใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับมือถือและสื่อออนไลน์โซเชียลมีเดีย ซึ่งโซเชียลมีเดียนี้เองถือว่าเป็นสื่อที่ทำให้ผู้คนได้รับข่าวสารไวมากยิ่งขึ้น และการทำประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียลจึงมีผลที่ดีในแง่ของการกระจายข่าวสารเพราะหน้าเว็บไซต์ของบริษัทนั้นเป็นสื่อส่วนน้อยที่คนส่วนใหญ่จะเข้ามาติดตามข่าวสาร
3. มีส่วนร่วมไปกับพนักงาน
การสร้างภาพลักษณ์ภายนอกเพื่อการสื่อสารให้คนนอกองค์กรรับทราบเกี่ยวกับวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทส่งผลดีในแง่ที่สังคมในวงกว้างจะเกิดการตระหนักรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างภายในบริษัท แต่การสร้างการรับรู้จากภายนอกอย่างเดียวนั้นไม่พอ เพราะว่ากลไกสำคัญในการมีแบรนด์ที่แข็งแกร่งคือพนักงานภายในองค์กรเอง ดังนั้นหากต้องการสร้า แบรนด์บริษัทที่แข็งแกร่งจะต้องเริ่มจากสร้างการมีส่วนร่วมกับพนักงานภายในบริษัท แล้วเมื่อพนักงานมีส่วนร่วมที่ดีแล้ว พนักงานก็จะบอกต่อเกี่ยวกับบริษัทให้คนอื่นรับทราบได้นั้นเอง
Don't !!! สิ่งต้องห้ามสำหรับ Employer Branding
1. เข้าใจ Employer Branding ผิดๆ
ความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการสร้างแบรนด์บริษัทก็คือความเชื่อที่ว่า แบรนด์บริษัทเป็นเพียงกลยุทธ์ที่จะช่วยทำให้มีผู้สมัครมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว Employer Branding เป็นเครื่องมือที่สำคัญมากที่ไม่เพียงแค่ดึงดูดผู้สมัครเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อบริษัทในระยะยาวทั้งเรื่องการสรรหาคน การรักษาคนรวมถึงสร้างกำไรให้บริษัทในระยะยาวด้วย
2. ไม่สนใจพนักงาน
พนักงานเป็นกำลังสำคัญในการสร้างแบรนด์บริษัทให้แข็งแกร่ง ฝั่งองค์กรเองจะต้องใส่ใจประสบการณ์ของพนักงานในการทำงานอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการมีช่องทางให้พนักงานได้แสดงความคิดเห็น การรับฟังและนำปัญหานั้นมาแก้ไขอย่างจริงจัง ถ้าหากพนักงานพูดถึงบริษัทในแง่ลบ ก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีในการแก้ไขเพราะเท่ากับว่าองค์กรได้รู้ถึงปัญหาก่อนที่เรื่องนี้จะออกไปนอกองค์กร
3. คิดเองว่าพนักงานคิดอย่างไร
กลยุทธ์การสร้างแบรนด์บริษัทให้ประสบความสำเร็จจะต้องเข้าใจสิ่งที่พนักงานคิดและรู้สึกเกี่ยวกับบริษัทอย่างแท้จริง โดยต้องพยายามหลีกเลี่ยงการคิดไปเองว่าพนักงานอาจจะคิดเช่นนั้น หรือคิดเช่นนี้ แต่ให้ใช้วิธีการทำแบบสำรวจหรือแบบสอบถามทุกครั้งก่อนตัดสินใจที่จะทำประชาสัมพันธ์ให้องค์กร
ทั้งนี้ต้องคิดไว้เสมอว่าการสร้างแบรนด์บริษัทให้ประสบความสำเร็จนั้นต้องใช้เวลานานพอสมควร ไม่ได้เป็นไปอย่างที่องค์กรคิดเสมอไป ดังนั้นในช่วงเวลาของการสร้างแบรนด์บริษัทจะต้องให้การสนับสนุนในทุกด้านโดยเฉพาะเรื่องประสบการณ์ที่ดีของพนักงานที่ทำงานอยู่เพราะเหตุผลที่พนักงานปัจจุบันยังทำงานอยู่คือสิ่งที่บอกว่าแบรนด์บริษัทของคุณเป็นอย่างไร