คำแนะนำการหางาน | 16 September 2015

6 สิ่งที่คุณต้องถาม ก่อนจะเข้าร่วมกับบริษัท Startup

ไม่นานมานี้ ในประเทศไทยก็เริ่มมีเทรนการทำธุรกิจแบบใหม่ที่เรียกว่า "Startup" ขึ้นมา แต่หลายๆ คนก็อาจจะยังไม่เข้าใจว่า Startup คืออะไร?

 

Startup ก็คือบริษัทขนาดเล็กที่พึ่งก่อตั้งได้ไม่นาน และพร้อมที่จะพุ่งเข้าไปแข่งขันกับเหล่าบริษัทตัวเป้งๆ ทั้งหลายที่ครองตลาดอยู่แล้ว บางคนอาจจะคิดว่า Startup เป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี แต่มันก็ไม่จริงเสมอไปนะ มันอาจจะจริงที่ว่า Startup มักจะริเริ่มทำอะไรใหม่ๆ ใช้โปรแกรมใหม่ๆ และมีไอเดียใหม่ และในตอนนี้ กรุงเทพฯ ก็เป็นเมืองหนึ่งในเอเชียที่ให้พื้นที่สำหรับบริษัท Startup ได้เติบโตและประสบความสำเร็จ

 

การเข้าร่วมกับ Startup มักจะเป็นตัวเลือกที่น่าดึงดูดใจสำหรับคนรุ่นใหม่ไฟแรงหลายๆ คน แน่ล่ะสิ ทั้งเท่ ทั้งยังมีโอกาสได้ทำโปรเจคใหม่ๆ กับคนใหม่ๆ และความน่าตื่นเต้นทั้งหลายทั้งปวงที่มากับงานอีกเล่า ฟังดูสุดยอดไปเลยใช่ไหมล่ะ! แต่ก่อนที่จะพุ่งตัวเข้าไปทำงานกับ Startup เจ๋งๆ ที่เรียกตัวคุณเข้าไป ลองถามคำถามเหล่านี้ดูกับตัวเองก่อนนะคะ ว่างานที่คุณจะได้ทำน่ะ มันเวิร์คแค่ไหน

 

 

1. ทำไมคุณถึงอยากทำงานกับบริษัท Startup?

90% ของ Startup มักจะจบลงด้วยความล้มเหลว บริษัท Startup ไม่ได้ประสบความสำเร็จทุกครั้ง และมันมีโอกาสน้อยมากที่คุณจะรวยจากการทำงานกับพวกเขา ถ้าคุณตั้งใจจะไปทำงานกับ Startup เพื่อเงินล่ะก็ คุณอาจจะต้องคิดใหม่นะ คุณเชื่อในวิสัยทัศน์ของบริษัทหรือเปล่า? บริษัทเป็นพวกที่ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้อย่างรวดเร็ว หรือเป็นพวกที่พร้อมจะทำอะไรใหม่ๆ ไหม? เรื่องเหล่านี้ควรจะเป็นอะไรที่ประกอบการตัดสินใจของคุณก่อนจะเริ่มตัดสินใจทำงานกับพวกเขา

 

2. เงินที่ลงทุนมาจากไหน?

คุณควรจะต้องรู้ว่าเงินที่มาลงทุนให้ Startup ใช้จ่ายเนี่ย มาจากไหน แล้วเงินตรงนี้มันจะทำให้บริษัทอยู่ได้กี่ปี ข้อมูลเหล่านี้มักจะไม่ถูกปิดเป็นความลับ ถ้า Startup นั้นได้รับการสนับสนุนเงินลงทุนจากบริษัทใดบริษัทหนึ่ง แต่ถ้าคุณหาข้อมูลตรงนี้ไม่เจอ คุณก็สามารถถามเหล่าผู้ก่อตั้งหรือผู้สัมภาษณ์ก็ได้ ข้อมูลนี้ จำเป็นที่จะต้องรู้ เพราะถ้าเงินที่เอามาใช้จ่ายเป็นเงินส่วนตัวของผู้ก่อตั้ง Startup นั้นๆ วันไหนเงินหมดขึ้นมาก็ตัวใครตัวมันนะคะ

 

3. ผู้ก่อตั้งนั้นมีประวัติในการตั้งบริษัท Startup มาแล้วหรือเปล่า?

เราไม่ได้บอกว่าผู้ก่อตั้ง Startup ที่ยังเป็นมือใหม่จะไม่ประสบความสำเร็จนะคะ แต่ผู้ก่อตั้งที่มีประสบการณ์ในการทำ Startup มาบ้าง ก็น่าจะมีโอกาสมากกว่า ในการบริหารจัดการธุรกิจให้สำเร็จได้

 

 

4. กลุ่มผู้ก่อตั้งนั้นเข้ากันได้ดีหรือเปล่า?

พวกเขาต้องทำงานร่วมกัน ลงทุนเพื่ออนาคตร่วมกัน และมันก็สำคัญมากที่พวกเขาจะมีวิสัยทัศน์ที่ตรงกัน และมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันด้วย ถ้าคนที่ร่วมงานไม่ลงรอยกัน แล้วบริษัทจะเดินไปข้างหน้าได้อย่างไรล่ะคะ จริงไหม

 

 

5. คุณสามารถปรับเปลี่ยนสไตล์การทำงานของคุณได้หรือเปล่า?

คุณชอบงานแบบที่มีแบบแผนมีระบบชัดเจนว่าใครทำอะไรในส่วนไหน หรือคุณชอบทำงานที่มันคลุมเครือและสนุกกับการทำงานหลายๆ อย่างพร้อมกัน? ถ้าเป็นแบบแรกล่ะก็ Startup อาจจะไม่ใช่ที่สำหรับคุณ

 

ในการร่วมงานกับ Startup คุณถูกคาดหวังให้ทำงานหลายๆ อย่างพร้อมกัน และลำดับขั้นในการทำงานก็ค่อนข้างจะเป็นเส้นตรง คือไม่มีตำแหน่งใครอยู่เหนือใครมากนักนั่นเอง และมันเป็นเรื่องที่ดีมากถ้าคุณจะเข้ากับคนอื่นๆ ในทีมได้เป็นอย่างดี ถ้าคุณคาดเดาอนาคตได้ว่านิสัยแบบคุณจะมีปัญหาอย่างใหญ่หลวงกับเพื่อนร่วมทีมในอนาคตแน่ๆ ล่ะก็ การทำงานที่นี่อาจจะยังไม่ใช่สำหรับคุณก็เป็นได้

 

6. คุณจะได้รับในสิ่งที่คุณคาดหวังหรือเปล่า?

ถึง Startup นั้นจะล้มเหลว คุณก็ยังจะได้ประโยชน์และประสบการณ์จากการร่วมงานกับพวกเขาอยู่ดีนะ และคุณก็สามารถเอาสิ่งที่เรียนรู้มานั้น ไปใช้กับงานต่อไปได้อีกด้วย

 

การทำงานกับ Startup อาจจะฟังดูน่าสนใจสำหรับบางคน และก็อาจจะฟังดูไม่น่าสนใจสำหรับบางคนอีกด้วย ไม่ใช่ทุกคนที่เหมาะกับการทำ Startup และถ้าคุณอ่านบทความของเราแล้วรู้สึกว่ามันไม่ใช่ก็อย่ากังวลไปเลยนะคะ มันไม่ใช่เรื่องแปลกหรอก เพราะจริตและสไตล์ในการทำงานของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน และชีวิตก็ยังมีทางเลือกอื่นเสมอ แต่ถ้าอ่านแล้วมันใช่ล่ะก็ พุ่งให้สุดตัวเลยค่ะ คุณอาจจะประสบความสำเร็จจนโด่งดังไปเลยก็ได้นะ!

 

บทความแปลมาจาก: http://www.payscale.com/career-news/2015/09/6-questions-to-ask-before-you-join-a-startup

 

close
ลงทะเบียนกับ WorkVenture เพื่อค้นหางานใหม่ล่าสุดและอ่านรีวิวบริษัทจากผู้ทำงานจริง