คำแนะนำการหางาน | 12 November 2015

5 เหตุผลที่คุณเกือบจะได้ไปสัมภาษณ์งาน...แต่วืด!

HR มักจะแบ่งใบสมัครต่างๆ ไว้เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก “โห โปรไฟล์ดีมาก เรียกคนนี้แหละ” กลุ่มที่สอง “ไม่เวิร์คนะ ไม่ผ่าน” และกลุ่มสุดท้าย “อืม...อาจจะเวิร์คก็ได้มั้ง?”

 

ถ้าคุณเป็นคนกลุ่มแรก แน่นอนคุณจะรู้ตัวในทันทีค่ะ (แหงสิ ก็คุณได้ไปสัมภาษณ์งานนี่นา) แต่ถ้าคนเป็นคนกลุ่มที่ 2 หรือกลุ่มที่ 3 คุณจะไม่มีทางรู้เลยนะว่าจริงๆ แล้วตัวเองอยู่ตรงไหน เพราะจดหมายปฏิเสธที่ทางบริษัทส่งมาก็ไม่เคยพูดตรงๆ ว่า “คุณเกือบจะได้รับการคัดเลือกแล้ว ถ้าผู้สมัครเบอร์หนึ่งที่เราอยากได้ไม่โอเค แลผู้สมัครเบอร์ 2 ติดคุก เราอาจจะให้โอกาสคุณก็ได้”

 

ดังนั้น เพื่อที่จะให้คุณอ่านบทความนี้ต่อไป เราจะคิดว่าคุณอยู่ในกลุ่มที่ 3  “อืม...อาจจะเวิร์คก็ได้มั้ง?” นะคะ คุณอาจจะเป็นผู้สมัครที่เวิร์คที่สุดในกลุ่มเลยก็ได้นะ ถ้าอย่างนั้น ทำอย่างไรถึงจะกระโดดไปอยู่กลุ่มแรกได้ล่ะ? ลองมาอ่านกันเลยค่ะ

 

1. เช็คว่าไฟล์แนบในอีเมลเปิดได้จริงๆ

 

Jenni Maier บรรณาธิการของ The Daily Muse กล่าวว่า แทบทุกๆ ครั้งที่มีตำแหน่งเปิดรับ มันจะต้องมี resume ที่ส่งมาอย่างน้อยอันนึงล่ะที่เปิดไม่ได้ ซึ่ง เราคิดว่าทุกคนที่ส่ง resume มา ก็หวังว่าประวัติของตัวเองจะเปิดได้ และ HR ก็จะได้อ่านมัน...ถูกไหมคะ?

แต่โดยปกติแล้ว ถ้าเจอผู้สมัครแบบนี้ Jenni จะจัดพวกเขาไปอยู่ในกลุ่มที่ 3 ทันทีเลยค่ะ เธอจะค่อยไปตามหาโปรไฟล์ LinkedIn ของเขาวันหลัง ซึ่งบางที วันหลังก็ไม่มีอยู่จริง และผู้สมัครคนนั้นก็จะตกหล่นหายไปท่ามกลางความวุ่นวายและ resume ที่เปิดได้จริงๆ

 

ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดในการไม่ให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นก็คือ ลองส่ง resume ของคุณไปหาเพื่อนๆ สัก 4-5 คน ขอให้พวกเขาลองเปิดมันทั้งบนคอมพิวเตอร์และมือถือ ถ้าใครสักคนมีปัญหา คุณจะได้หาวิธีแก้ได้ทันเวลายังไงล่ะคะ

 

 

2. จั่วหัว cover letter ไปถึงคนที่ทำงานที่บริษัทนั้นๆ

 

Resume ของคุณนั้นยอดเยี่ยมไม่มีที่ติ Cover letter ของคุณก็ตอบปัญหาและข้อสงสัยต่างๆ ของ HR ได้ และไฟล์อื่นๆ ที่คุณแนบมามันก็พร้อมมาก...แต่ Cover letter ของคุณดันไปจั่วหัวว่า “To whom it may concern” และในปัจจุบันที่ทุกคนสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ มันจะดูไม่สวยเท่าไหร่นัก เพราะคุณสามารถหาชื่อหัวหน้าแผนกที่คุณจะสมัครหรือ HR ได้อย่างแน่นอน และถ้าคุณหาไม่ได้ บริษัทนั้นก็ต้องปรับปรุงตัวแล้วล่ะ (ทำไมไม่มีใครมีโปรไฟล์ LinkedIn??!!)

 

Jenni ให้ความเห็นว่า “ถ้าคุณไม่สามารถใช้เวลาไปกับการหาชื่อของฉันบนอินเตอร์เน็ตได้ คุณจะขี้เกียจทำงานหรือเปล่าถ้าฉันตัดสินใจจ้างคุณ”

 

 

3. ทำตามสิ่งที่พวกเขาบอก

 

ถึงแม้ว่าการหางานในหลายๆ แง่มุมมันจะให้ความรู้สึกเหมือนถูกออกแบบมาเพื่อแกล้งคุณโดยเฉพาะ แต่มันไม่ใช่หรอกนะ ขั้นตอนเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้เสียเวลาเหล่านั้นมีไว้ก็เพื่อเหตุผลบางประการ และสำหรับบางที่ HR ก็รีเควสให้มีขั้นตอนเหล่านั้นเอง

 

Jenni ยกตัวอย่างมาว่า เธอมักจะขอให้ผู้สมัครส่งลิงค์งานเขียนของตัวเอง 2 ลิงค์เกี่ยวกับเรื่องๆ หนึ่ง และสิ่งที่เธอได้รับก็มักจะเป็นลิงค์ไปยัง portfolio ของผู้สมัคร ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เธอต้องการ การมี portfolio เป็นเรื่องดี (และจริงๆ คุณก็ควรมีไว้นะ!) แต่ที่เธอถามหาลิงค์ 2 ลิงค์ก็เพราะเธออยากรู้ว่า งานไหนที่ผู้สมัครภูมิใจจะส่งให้เธอดู (และจริงๆ แล้วก็เพื่อให้มันง่ายขึ้นต่อการคัดเลือกด้วยแหละ) และการส่ง portfolio มาให้เธอ ก็ทำให้เธอเสียเวลาไปกับการกดเข้าลิงค์นั้นลิงค์นี้เพื่อหาตัวอย่างงานเขียนที่เธอต้องการ

 

บางครั้งเธอก็มีเวลาที่จะทำ แต่ส่วนใหญ่จะไม่ ดังนั้น ยอมเสียเวลานิดหน่อยกับการอ่านสิ่งที่พวกเขาบอกให้แน่ใจ การทำตามคำสั่งเหล่านั้นไม่ใช่แค่จะทำให้ชีวิต HR ง่ายขึ้นเท่านั้นนะ มันจะทำให้คุณดูเป็นคนละเอียด ใส่ใจกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ และดูว่าคุณจะสามารถทำงานตั้งแต่ต้นจนจบได้เช่นกัน

 

 

4. ทำให้ตัวตนในโลกออนไลน์ของคุณดูเป็นคนสนุกสนาน...แต่ไม่ใช่จนมากเกินไป

 

Jenni บอกว่า เมื่อเธอเจอผู้สมัครที่เธอถูกใจ สิ่งแรกที่จะทำก็คือเอาชื่อของเขาไปหาใน Facebook ว่ามี mutual friends หรือไม่ (รู้ไหมว่าจริงๆ แล้วโลกมันกลมมากเลยนะ) และต่อจากนั้นก็จะเป็น Twitter และ Instagram ซึ่งเธอก็เข้าใจว่าคนเรามันต้องมีเวลาสนุกเวลาส่วนตัวกันบ้าง และจริงๆ เธอก็ชอบทำงานกับคนที่อยู่ด้วยแล้วสนุกสนาน มีชีวิตที่นอกเหนือจากการทำงาน แต่เธอก็ไม่ค่อยอยากจะเรียกคุณมาสัมภาษณ์เท่าไหร่นักถ้าใน Facebook ของคุณมีแต่รูปปาร์ตี้ กินเหล้า เมา อะไรแบบนั้น อย่าลืมนะคะว่านี่คือความประทับใจแรกที่เหล่า HR จะมีต่อคุณ

 

 

5.ทำตัวให้ Google ได้

 

ในขณะที่คุณอยากจะลบอะไรก็ตามในโลกโซเชียลที่จะทำให้คุณอดได้งาน คุณก็ต้องทำให้ตัวเองยังอยู่ในโลกออนไลน์ด้วย อะไรก็ได้ เพราะ Jenni บอกว่าเธอจะรู้สึกเป็นกังวลมากถ้าเธอกูเกิ้ลหาชื่อผู้สมัครไม่เจอที่ไหนเลย

 

ไม่ต้องไปสนใจ portfolio ออนไลน์มากนัก (ถึงจริงๆ แล้วคุณควรจะมีไว้ก็ตาม) แต่ถ้าคุณไม่มีแม้แต่โปรไฟล์ใน LinkedIn Jenni ก็บอกว่าเธอเริ่มจะไม่แน่ใจแล้วว่าเธอเรียกคุณมาสัมภาษณ์ดีหรือเปล่า ถ้าเรียกมาแล้วคุณจจะกลายเป็นฆาตกรโรคจิตมั้ย?

 

ก่อนที่จะสมัครงานที่ไหนก็ตาม ลองเอาชื่อตัวเองไปหาใน Google ดูบ้างนะคะ ลองดูว่าโปรไฟล์ LinkedIn ของคุณขึ้นมามั้ย ถ้าชื่อคุณไปซ้ำหรือคล้ายกับใคร ก็สร้างโปรไฟล์ให้มั่นใจนะคะว่า HR เขาจะหาคุณเจอ

 

 

หลายๆ คนอาจจะเถียงว่านั้นมันของฝรั่ง HR ไทยไม่ทำแบบนั้นหรอก...อย่าวางใจไปนะคะ เรื่องราวภายในวงการพวกนี้มันมีอะไรมากกว่าที่คุณคิดค่ะ ดังนั้น เซฟตัวเองด้วยการทำทุกอย่างให้พร้อมจะดีกว่านะ!

 

close
ลงทะเบียนกับ WorkVenture เพื่อค้นหางานใหม่ล่าสุดและอ่านรีวิวบริษัทจากผู้ทำงานจริง