คำแนะนำการหางาน | 6 June 2023

4 วิธีพิชิตคำถาม “ทำไมถึงอยากทำงานที่นี่” ในเวลาสัมภาษณ์งาน

คุณเคยสงสัยไหมว่าทำไมทุกครั้งที่ไปสัมภาษณ์งาน HR ต้องถามคำถามสัมภาษณ์งานว่า "ทำไมถึงอยากทำงานที่นี่"  คุณรู้ว่าคำถามสัมภาษณ์งานนี้สำคัญ แต่คุณไม่แน่ใจว่าควรตอบอย่างไรให้ดูดี ควรจะตอบตามตรงเลยดีไหมหรือพูดในสิ่งที่ HR อยากได้ยิน ความจริงก็คือ HR ไม่ได้ต้องการคำตอบสัมภาษณ์งานที่สวยหรู แต่พวกเขาต้องการฟังเหตุผลที่แท้จริงว่าทำไมคุณถึงสนใจบริษัทนี้ คำตอบสัมภาษณ์งานของคุณสามารถเป็นสิ่งที่บอกได้ว่าคุณมีความเข้าใจบริษัทแค่ไหน เพราะ HR ไม่ได้มองหาคนที่แค่ต้องการงาน แต่ต้องการคนที่อยากเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทจริงๆ

ผลสำรวจจาก Glassdoor ระบุว่า 70% ของ HR เชื่อว่าผู้สมัครที่สามารถให้คำตอบสัมภาษณ์งานที่ชัดเจนเกี่ยวกับเหตุผลที่อยากร่วมงานกับบริษัท มีโอกาสได้รับการจ้างงานมากขึ้น เพราะคำตอบสัมภาษณ์งานนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่การบอกว่าอยากได้งานหรือบริษัทนี้ดูดี แต่เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงแรงจูงใจและความเข้าใจของคุณที่มีต่อองค์กร หากคุณต้องการให้ HR ประทับใจ คำตอบสัมภาษณ์งานของคุณควรเป็นมากกว่าคำพูดที่ดูดี แต่ต้องมีเนื้อหาที่ชัดเจนและเชื่อมโยงกับตัวคุณจริงๆ

คำถามสัมภาษณ์งานนี้อาจวัดว่าคุณจะ “ผ่านแบบโปร” หรือ “โดนเทแบบงงๆ” WorkVenture จะช่วยให้คุณเข้าใจว่าทำไม HR ต้องถามคำถามสัมภาษณ์งานนี้ และพวกเขาต้องการฟังอะไรจากคุณจริงๆ พร้อม 4 วิธีพิชิตคำถาม “ทำไมถึงอยากทำงานที่นี่” ในเวลาสัมภาษณ์งาน เพื่อช่วยให้คุณเตรียมตัวอย่างมั่นใจสำหรับทุกการสัมภาษณ์งาน!

Highlight

  • แสดงให้เห็นว่าคุณรู้จักบริษัทจริง ไม่ใช่แค่ “รู้จักชื่อ”
  • เชื่อมโยงความสนใจของคุณกับสิ่งที่บริษัทเป็น
  • ระวังการประจบประแจงที่มากเกินไป 
  • อย่าพูดถึงแรงบันดาลใจในการทำงานที่มันน่าเบื่อ

     


 

1.  แสดงให้เห็นว่าคุณรู้จักบริษัทจริง ไม่ใช่แค่ “รู้จักชื่อ”

การตอบคำถามสัมภาษณ์งานว่า “ทำไมถึงอยากทำงานที่นี่” ให้ปัง ไม่ได้อยู่ที่การใช้คำพูดหรูๆ หรือประโยคที่ดูดีเกินจริง แต่มันเริ่มจากสิ่งง่ายๆ อย่างการที่คุณเข้าใจว่าบริษัทนี้คือใคร กำลังทำอะไรอยู่ และมีเป้าหมายในอนาคตแบบไหน เพราะ HR ไม่ได้แค่ฟังว่าคุณพูดเก่งแค่ไหน แต่เขาฟังเพื่อดูว่าคุณใส่ใจและสนใจบริษัทจริงๆ หรือเปล่า

คนที่จะตอบคำถามสัมภาษณ์งานนี้ดูน่าสนใจได้ มักเป็นคนที่รู้อะไรบางอย่างเกี่ยวกับองค์กรมากกว่าแค่พื้นฐาน เช่น การพูดถึงโปรเจกต์ใหม่ที่บริษัทเพิ่งเปิดตัว ความสำเร็จที่กำลังเป็นกระแส หรือแม้แต่วิธีการทำงานที่คุณสังเกตว่าแตกต่างจากที่อื่น สิ่งเล็กๆ เหล่านี้แหละที่ช่วยให้คำตอบสัมภาษณ์งานของคุณดูมีน้ำหนักขึ้น และทำให้ HR รู้ว่าคุณไม่ได้แค่สมัครงานไปเรื่อยๆ แต่มีเหตุผลเฉพาะที่เลือกที่นี่

ตัวอย่างหัวข้อที่น่าสนใจและสามารถนำมาใช้ตอบคำถามสัมภาษณ์งานได้ เช่น

  • เป้าหมายและทิศทางของบริษัท: บริษัทกำลังมุ่งเน้นเรื่องอะไรอยู่ เช่น การเติบโตในตลาดต่างประเทศ การขยายกลุ่มลูกค้าหรือการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ
  • โปรเจกต์หรือแคมเปญล่าสุด: มีอะไรที่เพิ่งเปิดตัวหรือกำลังเป็นที่พูดถึงบ้าง ลองดูว่าโปรเจกต์ไหนสะท้อนค่านิยมของบริษัทได้ชัดเจน
  • วัฒนธรรมองค์กร: บริษัทให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร เช่น การทำงานเป็นทีม การเปิดกว้างทางความคิด หรือการส่งเสริมความยืดหยุ่นในการทำงาน
  • แนวทางการทำงานหรือคุณค่าที่บริษัทยึดถือ: เช่น บริษัทเน้นเรื่องความยั่งยืน นวัตกรรม หรือการพัฒนาศักยภาพของคนในทีม

ตัวอย่างการตอบคำถามสัมภาษณ์งาน เช่น

  • บริษัทเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม: คุณอยากเรียนรู้จากมืออาชีพระดับแนวหน้า และเชื่อว่าทักษะของคุณจะช่วยเสริมทีมให้แข็งแรงยิ่งขึ้น
  • บริษัทมีชื่อเสียงในด้านการดูแลพนักงาน: คุณให้ความสำคัญกับการทำงานในองค์กรที่ยั่งยืนและส่งเสริมความสมดุลในชีวิต
  • บริษัทเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่: คุณเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ และอยากเข้ามาเสนอแนวทางใหม่ๆ เพื่อร่วมพัฒนาทีม
  • บริษัทมีความมั่นคง: คุณมองหาที่ทำงานที่สามารถวางเป้าหมายระยะยาวร่วมกันได้ และเชื่อมั่นว่าองค์กรนี้เป็นที่ที่คุณสามารถเติบโตไปพร้อมกันได้จริง

ขอแนะนำเพิ่มเติมว่า ให้คุณใช้ผลงานที่ตัวเองเคยทำมานั้นเป็นตัวช่วย เพื่อเสนอให้ผู้สัมภาษณ์เข้าใจว่า ผลงานที่คุณเคยทำได้ จะช่วยให้บริษัทประสบความสำเร็จได้เช่นกัน

 


 

2. เชื่อมโยงความสนใจของคุณกับสิ่งที่บริษัทเป็น

ถ้าในหัวข้อแรกคุณแสดงให้ HR เห็นว่าคุณรู้จักบริษัทดีแค่ไหน ในหัวข้อนี้คือโอกาสที่คุณจะได้แสดงว่า “คุณเหมาะกับบริษัทนี้อย่างไร” 

HR อยากรู้จากคำตอบสัมภาษณ์งานว่าคุณมีแรงบันดาลใจอะไรอยู่เบื้องหลังการเลือกที่นี่ ไม่ใช่แค่เพราะบริษัทมีชื่อเสียง แต่เพราะในสิ่งที่บริษัทเป็นนั้นไปจุดประกายในตัวคุณอย่างไร เช่น ค่านิยมบางอย่างที่คุณเชื่อ วัฒนธรรมที่คุณรู้สึกว่าเข้ากับสไตล์การทำงานของคุณ หรือเป้าหมายองค์กรที่คุณอยากมีส่วนร่วม

พูดง่ายๆ เลยก็คือ ลองมองหาว่า “เรา” กับ “บริษัท” มีตรงไหนที่มันเชื่อมกันได้บ้าง แล้วเล่าในคำถามสัมภาษณ์งานให้ HR ฟังในมุมที่เป็นตัวเองอย่างจริงใจและตรงประเด็นก็พอแล้ว

ตัวอย่างหัวข้อที่สามารถหยิบมาใช้ในการตอบคำถามสัมภาษณ์ เช่น

  • ค่านิยมของบริษัท: ที่ตรงกับมุมมองการทำงานของคุณ เช่น การให้ความสำคัญกับ teamwork หรือความยืดหยุ่นในการทำงาน
  • สไตล์การทำงานขององค์กร: เช่น ทำงานเร็วแบบสตาร์ทอัพ เป็นระบบแบบองค์กรใหญ่ หรือเปิดโอกาสให้เสนอไอเดีย
  • โครงการที่คุณเคยเห็นหรือเคยติดตาม: แล้วรู้สึกว่าอยากมีส่วนร่วม เพราะคุณมีประสบการณ์หรือความสนใจในเรื่องนั้น
  • บรรยากาศการทำงานหรือสิ่งเล็กๆ: ที่คุณสังเกตเห็น เช่น เห็นว่าบริษัทนี้ให้ความสำคัญกับการสื่อสาร การเรียนรู้หรือสนับสนุนคนในทีม

ตัวอย่างการตอบคำถามสัมภาษณ์งาน เช่น 

  • บริษัทมีวัฒนธรรมที่เปิดรับความคิดเห็น: “ผมเป็นคนที่ชอบแลกเปลี่ยนไอเดีย และพอได้อ่านว่าที่นี่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เสนอแนวคิดใหม่ๆ ก็รู้สึกว่าเข้ากับสไตล์การทำงานของผมดีครับ”
  • บริษัททำงานเร็วและปรับตัวเก่ง: “ผมเคยทำงานกับทีมเล็กๆ ที่ต้องลองอะไรใหม่ๆ อยู่ตลอด และรู้สึกว่าแบบนั้นทำให้ผมเรียนรู้เร็วขึ้น พอเห็นว่าที่นี่ก็ทำงานลักษณะคล้ายกันเลยสนใจมากครับ”
  • บริษัทมีโครงการที่คุณสนใจ: “ก่อนหน้านี้ผมเคยทำโปรเจกต์ที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่บริษัทกำลังพัฒนา เลยรู้สึกว่าน่าจะต่อยอดกันได้ และอยากเข้ามาช่วยในมุมที่ผมถนัด”
  • บริษัทมีบรรยากาศการทำงานที่ตรงกับคุณ: “จากที่ดูรีวิวพนักงานและคอนเทนต์ต่างๆ ของบริษัท ดูแล้วเป็นทีมที่จริงจังกับงานแต่ก็ไม่ตึงเกินไป ซึ่งคล้ายกับที่ผมเคยทำงานมา เลยคิดว่าน่าจะปรับตัวได้ดีค่ะ”

 


 

3. ระวังการประจบประแจงที่มากเกินไป 

งานที่คุณเข้าสัมภาษณ์ อาจจะเป็นงานที่คุณใฝ่ฝันอยากจะทำ แต่การที่พูดโอ้อวดหรืออวยงานจนมากเกินไป อาจทำให้คุณหมดหวังเอาง่ายๆ ไม่มีงานไหนที่มันเพอร์เฟคไปเสียทุกอย่าง ฉะนั้นถึงแม้ว่างานนี้คุณจะอยากทำมากแค่ไหน ก็พูดถึงให้อยู่ในความพอเหมาะพอดี แค่ทำให้บริษัทเห็นว่าตำแหน่งนี้มันเหมาะกับคุณจริง ๆ เท่านั้นพอ

วิธีหลีกเลี่ยงการตอบแบบประจบเกินพอดี:

  • หลีกเลี่ยงคำชมกว้างๆ ที่ไม่มีรายละเอียด

ไม่ควรทำ: บริษัทนี้ดีที่สุดในอุตสาหกรรม
ควรทำ: จากที่ผมติดตามผลงานของบริษัทในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะแคมเปญ A ที่ได้รับรางวัล ผมรู้สึกว่าที่นี่มีแนวทางการทำงานที่ชัด และผมอยากมีส่วนร่วมกับทีมที่ขับเคลื่อนแนวคิดแบบนี้จริงๆ

  • อย่าใช้คำพูดที่ดูเกินความเป็นจริงเเละตอบอย่างจริงใจ

ไม่ควรทำ: นี่คือบริษัทในฝันของผม
ควรทำ: ผมสนใจบริษัทนี้เพราะมีจุดยืนที่ชัดในเรื่องความยั่งยืน ซึ่งเป็นประเด็นที่ผมให้ความสำคัญ และผมเชื่อว่าประสบการณ์ของผมในด้าน CSR จะช่วยต่อยอดสิ่งที่บริษัททำอยู่ได้

  • โฟกัสที่ความเหมาะสม ไม่ใช่ความสมบูรณ์แบบ

ไม่ควรทำ: ผมชอบทุกอย่างของบริษัทนี้
ควรทำ: จากที่ผมได้ศึกษารูปแบบการทำงานของบริษัท ผมรู้สึกว่ามีหลายจุดที่ตรงกับวิธีการทำงานของผม เช่น การทำงานแบบ cross-team และการให้ feedback อย่างสม่ำเสมอ

 

4. อย่าพูดถึงแรงบันดาลใจในการทำงานที่มันน่าเบื่อ

เข้าใจว่าคุณอาจจะอยากแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเล็กๆ น้อยๆ แต่ ผู้สัมภาษณ์ต้องการจะรู้ถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้คุณทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรจะหลีกเลี่ยงประเด็นเกี่ยวกับเรื่องเงินเดือน ช่วงเวลาพักหรือว่าความน่าเบื่อจากงานเก่าที่คุณเจอมา ซึ่งประเด็นเหล่านี้ก็จะทำให้ผู้สัมภาษณ์งานมองคุณแง่ลบทันที พยายามย้ำเตือนตัวเองอยู่เสมอถึงการเชื่อมโยงงานที่คุณเคยทำกับงานที่คุณกำลังสัมภาษณ์อย่างมีเหตุผล และให้บริษัทเห็นภาพมากที่สุด นอกจากนี้การเตรียม Resume โดยลบสิ่งที่ไม่จำเป็นออก เช่น แรงบันดาลใจในการทำงาน ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่คุณสามารถเตรียมตัวก่อนไปสัมภาษณ์ได้

วิธีตอบคำถามสัมภาษณ์งานถึงแรงบันดาลใจให้ดูดีและเข้าตา HR:

  • หลีกเลี่ยงแรงจูงใจที่ดู “รับ” มากกว่า “ให้”

ถ้าคุณพูดถึงแค่สิ่งที่อยากได้จากบริษัท เช่น เงินเดือนดี หรือสวัสดิการเยอะ คำตอบจะดูเน้นแค่เราได้อะไรมากกว่าเราเข้ามาช่วยอะไร ซึ่งอาจทำให้ HR มองว่าคุณไม่อินกับตัวงานจริงๆ ลองเปลี่ยนจากการพูดว่า “อยากได้งานที่มีสวัสดิการดี” แต่ให้พูดว่า “ผมรู้สึกมีพลังเวลาทำงานในทีมที่สนับสนุนกัน เพราะทำให้ผมกล้าคิด กล้าลงมือทำ และพัฒนาตัวเองได้เต็มที่”

  • ใช้ประสบการณ์จริงมาเล่า

เช่น ลองยกเหตุการณ์สั้นๆ ที่แสดงให้เห็นว่า “งานแบบไหนที่ทำให้คุณรู้สึกมีคุณค่า” เช่น “ตอนที่ผมเห็นลูกค้าใช้ฟีเจอร์ที่ผมออกแบบ แล้วเขายิ้มออกมา นั่นแหละคือแรงบันดาลใจของผมเลย”

  • ตัดบางประเด็นออกจาก Resume ถ้ายังไม่พร้อมอธิบายให้ชัด

เช่น หลายคนชอบใส่โปรเจกต์ใหญ่ๆ ลงในเรซูเม่เพื่อให้ดูน่าสนใจซึ่งไม่ผิดเลย แต่ถ้าคุณมีบทบาทเล็กน้อยในโปรเจกต์นั้นหรือยังอธิบายไม่ได้ชัดว่าคุณทำอะไรบ้าง เวลา HR ถามว่า “ในโปรเจกต์นี้คุณมีบทบาทยังไง?” แล้วตอบได้ไม่ตรงหรือไม่มั่นใจ ก็อาจทำให้รู้สึกว่าเราแค่เอามาใส่ให้ดูดีเฉยๆ เเละเสียคะแนนโดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นถ้ายังไม่พร้อมจะอธิบายแบบชัดเจนและเชื่อมโยงกับตำแหน่งที่สมัคร ลองพิจารณาตัดออกหรือเลือกใส่เฉพาะประสบการณ์ที่คุณรู้จริง ทำจริง และพร้อมเล่าแบบจับต้องได้จะดีกว่า



 


อ่านจนจบแบบนี้แล้ว คุณผู้อ่านชาว WorkVenture คงจะรู้แล้วล่ะ ว่าการสัมภาษณ์งานนั้นมีเคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ อยู่ ดังนั้นอย่าลืมนำไปใช้ในการสัมภาษณ์งานครั้งหน้าด้วยล่ะ เพราะอาจจะปริ่มกับผลลัพธ์ และได้งานที่ใช่ อย่างตรงใจ

close
ลงทะเบียนกับ WorkVenture เพื่อค้นหางานใหม่ล่าสุดและอ่านรีวิวบริษัทจากผู้ทำงานจริง