3 นิสัยที่ HR ไม่ปลื้มตอนสัมภาษณ์ !
ก่อนการสัมภาษณ์งานนั้น เรามักจะเตรียมตัวให้ดี แต่แม้ว่าการสัมภาษณ์งานนั้นจะไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะถ้าหากดันเผลอไปทำในสิ่งที่ทำให้ “แม้แต่ HR ที่ใจเย็นที่สุด ก็หัวเสียได้” ก็คงจะชวดงานนั้นแน่ ๆ
ซึ่งเรื่องนี้ WorkVenture ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นและพูดคุยกับเหล่า HR ที่มีประสบการณ์ในการสัมภาษณ์งาน พวกเขาต่างก็เล่าถึงประสบการณ์ในการสัมภาษณ์ผู้สมัคร ซึ่งในมุมของ HR แล้ว พวกเขาก็ได้เรียนรู้ว่า อะไรคือสิ่งที่จะทำให้และเพื่อจะช่วยให้เหล่าผู้สมัครทั้งหลายไม่ทำผิดพลาดแบบที่เขาเคยทำ WorkVenture เลยสรุปให้รู้ว่านี่คือนิสัยแย่ ๆ 3 อย่างที่ HR ไม่ปลื้มเอาเสียมาก ๆ
1. พูดถึงมหาวิทยาลัยบ่อย ๆ
การที่เราจบจากมหาวิทยาลัยใด ๆ ก็ตาม เราก็ย่อมมีความภูมิใจที่สำเร็จการศึกษาออกมาจนได้ แต่ก็ควรพยายามไม่เอาเรื่องมหาวิทยาลัยมาพูดบ่อย ๆ ในการสัมภาษณ์ โดยเฉพาะ ถ้าพูดเพื่ออวดว่าตัวเองนั้นจบมาจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง มันกลายจะเป็นเรื่องน่าเบื่อทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้า HR เขาไม่ได้ถามคำถามที่เฉพาะเจาะจงว่าเราจบมาจากที่ไหน มันก็อาจจะทำให้ HR รู้สึกไม่โอเคได้ ถ้าเราพยายามจะพูดถึงมหาวิทยาลัยของตัวเองอยู่ตลอดเวลา
ตัวอย่างเช่น “ตอนเรียนที่มหาวิทยาลัย XXX ผมได้ทำกิจกรรมอาสา” หรือ “ที่มหาวิทยาลัย XXX ฉันได้เรียนรู้เรื่องพวกนี้เป็นอย่างดีแล้ว” ทั้งที่จริง ๆ เราไม่จำต้องเอ่ยชื่อมหาวิทยาลัยบ่อย ๆ ก็ได้ มันเหมือนเราต้องการ พูดเพื่อเน้นแต่ประสบการณ์อันยิ่งใหญ่ของเรากับมหาวิทยาลัยที่เราจบมาอย่างเดียวนั้น
ไม่ว่าเราจะจบจากมหาวิทยาลัยไหน ถ้า HR ที่เรียกเรามาสัมภาษณ์เขาใส่ใจกับเรื่องนี้ เขาจะวงไว้ใน Resume อยู่แล้ว เพราะในใบสมัครของเราก็มีข้อมูลนี้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องพูดย้ำ ๆ
ทางที่ดีเราควรจะดูด้วยว่า HR เขากำลังถามอะไรอยู่ ? แต่สิ่งที่ HR ต้องการอยากรู้คงเป็นประสบการณ์ที่ดี ๆ และกิจกรรมที่เราทำช่วงที่อยู่ในมหาวิทยาลัย และถ้าพวกเขาพยายามดึงบทสนทนากลับมาเรื่องของงาน ให้พยายามตอบให้ตรงคำถามที่พวกเขาถามเราดีกว่า
2. เขียนอีเมลถึง HR แบบไม่ได้เฉพาะเจาะจง
เมื่อสัมภาษณ์เสร็จ ตามมารยาทเราก็ควรที่จะส่งอีเมลเพื่อขอบคุณที่เรียกเราไปสัมภาษณ์ แต่การเขียนอีเมลขอบคุณก็เป็นเรื่องที่ควรใส่ใจ เพราะหากเราก๊อปมาทั้งหมดโดยที่ไม่แก้อะไรเลย แม้แต่ชื่อผู้รับ มันจะดูแปลก ๆ และดูเหมือนว่าเราไม่ได้เขียนจดหมายหรืออีเมลฉบับนั้นออกมาจากใจจริง ๆ
ลองคิดดูว่า HR ต้องได้รับจดหมายขอบคุณที่ได้รับเชิญไปสัมภาษณ์งานมากมาย และมันเป็นรูปแบบเดียวกันหมด เขาก็คงไม่ได้เห็นว่าอีเมลของเราจะแตกต่างจากอีเมลมากมายที่ส่งเข้ามา และทำให้ HR คิดว่าผู้สมัครคนนั้นไม่ได้อยากทำงานที่นี่จริง ๆ
ความเป็นจริงแล้วการที่ HR เรียกเรามาสัมภาษณ์ พวกเขาเห็นอะไรบางอย่างจากโปรไฟล์หรือ Resume ของเราและถูกใจมาก ดังนั้นเราก็ควรรู้สึกภูมิใจที่ HR เขาเจาะจงว่า “ฉันอยากคุยกับผู้สมัครคนนี้” และเราก็ควรจะให้เกียรติพวกเขาด้วยการสละเวลาเพียงไม่กี่นาที เขียนอีเมลเพื่อขอบคุณที่เรียกเรามาสัมภาษณ์จากใจจริง
3. โทรตามทางโทรศัพท์
บริษัทต่าง ๆ ไม่ได้บอกชัดเจนหรอกว่า “ห้ามตามเรื่อง” หลังจากสัมภาษณ์เสร็จ แต่ในความเป็นจริงเราต้องเข้าใจว่าการโทรตามเพื่อสอบถามผลสัมภาษณ์นั้น อาจจะเป็นการรบกวนการทำงานของเขา เพราะเขาก็ยุ่งกับการทำงานพอสมควรอยู่แล้ว การส่งอีเมลอย่างจริงใจไปขอบคุณเขาดูจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า
แต่จริงๆ แล้วคุณมีสิทธิ์ที่จะถามคำถามที่เกี่ยวกับการสมัครงานของคุณ ไม่จำเป็นต้องกังวลใจเลยว่าจะเป็นการรบกวน เพราะมันเป็นหน้าที่ของ HR ในการประสานงานกับผู้เข้าสมัคร โดยแจ้ง HR ว่าคุณเป็นใคร เข้ามาสัมภาษณ์งานที่บริษัทใน ตำแหน่งอะไร วันที่เท่าไหร่ พร้อมระบุช่วงเวลาสัมภาษณ์ เพื่อความง่ายต่อการตรวจสอบ สิ่งสำคัญ คือ การสื่อสารที่มีความสุภาพ ชัดถ้อย ชัดคำ และอย่าลืมปิดท้ายด้วยคำขอบคุณ เพื่อมารยาทที่ดีและสร้างความประทับใจก่อนวางสาย
ทั้ง 3 ข้อที่กล่าวมานี้ เอาจริง ๆ ก็ถือว่าเป็นมารยาทพื้นฐานที่ควรปฏิบัติเลยล่ะ ไม่ใช่แค่การสัมภาษณ์งานเท่านั้น แต่ในชีวิตประจำวันทั่ว ๆ ไปเราคงจะไม่เอาแต่พูดถึงเรื่องความภูมิที่จบมหาวิทยาลัยดัง ๆ หรือเขียนอีเมลแบบ เขียนส่ง ๆ ให้มันเสร็จไป โดยลืมแก้แม้กระทั่งชื่อผู้รับ หรือการโทรจิกโทรตามผู้อื่น ใช่ไหมล่ะ ดังนั้นจงนำมารยามพื้นฐานเหล่านี้มาใช้ในการสัมภาษณ์งานด้วยล่ะ