คำแนะนำด้านอาชีพ | 27 June 2023

เช็คด่วน! สัญญาณที่บอกว่าเจ้านายไม่ปลื้มคุณอยู่

นอกจากเนื้องาน เพื่อนร่วมงาน ค่าตอบแทน และสภาพแวดล้อมโดยรวมแล้ว "หัวหน้า" เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ลูกน้องประสบความสำเร็จ และเติบโตไปพร้อมกับองค์กร พัฒนาตัวเองให้เป็นคนที่เก่งขึ้นในทุกๆ วัน จนกลายเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญขององค์กรต่อไปในอนาคต แต่ถ้าเลือกได้ใครๆก็อยากเป็นคนที่ถูกรัก มากกว่าถูกเกลียด เพราะการทำงานดูจะไม่มีความสุขไปในทันที ถ้าเจ้านายเป็นไม่ปลื้มคุณอยู่ และในบางครั้งคุณก็อาจต้องคอยสังเกตพฤติกรรมหรือสัญญาณเล็ก ๆ ที่แสดงออกว่าเขาอาจไม่ปลื้มคุณอยู่

 


 

สัญญาณว่าเจ้านายอาจไม่ปลื้มคุณอยู่

  • อยู่นอกสายตา : ต่อให้คุณเป็นผู้รับผิดชอบหรือเกี่ยวข้องกับงานนั้นโดยตรง เจ้านายก็ไม่เคยให้คุณเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจสำคัญ ๆ นั่นอาจหมายความว่าเจ้านายไม่เชื่อใจและไว้ใจคุณพอ 

  • มักไม่มองหน้าหรือสบตา : เพื่อรักษาความเป็นมืออาชีพ หัวหน้ามักจะไม่ปล่อยให้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล ต่อให้โกรธแค่ไหนก็ตาม บางครั้งด้วยตำแหน่งที่ค้ำคอ ทำให้หัวหน้างานจำต้องข่มอารมณ์โกรธไว้จนลึกสุดใจ เขาจึงมักเลี่ยงที่จะมองหน้าหรือสบตาคุณในบางครั้ง

  • จงใจจู้จี้แต่กับคุณ : คอยคุมทุกฝีก้าว ตามจิกทุกรายละเอียดโดยเฉพาะงานของคุณ นั่นคือสัญญาณชี้ชัดว่าเขากำลังไม่ไว้ใจคุณหรือจับผิดคุณอยู่

  • ทำเหมือนคุณนั้นไร้ตัวตน : เจ้านายของคุณไม่เคยแม้แต่จะทักทายคุณเลย และมักจะหลีกเลี่ยงการทำงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับคุณอีกด้วย

  • ไม่คุยแบบต่อหน้า : ถ้าเลือกได้ เขาก็มักเลือกที่จะคุยกับคุณผ่านทางเครื่องมือสื่อสารต่าง ๆ มากกว่าที่จะเจอหน้าและพูดกันแบบตัวต่อตัว 

  • ดูถูกความสามารถของคุณ : ถ้าคุณไม่ใช่พวกรักสบาย ทำงานไปวันๆ คงมองออกว่า งานที่เจ้านายมอบหมายให้ทำเป็นงานที่ตรงกับขีดความสามารถหรือประสบการณ์ของคุณหรือไม่ หากเจ้านายมอบหมายแต่งานง่ายๆ นั่นอาจเพราะเขาไม่ไว้ใจคุณ หรือบีบให้คุณหางานใหม่ทางอ้อม 

สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงสัญญาณเบื้องต้นเท่านั้น เพราะทั้งหมดล้วนแล้วแต่ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล แล้วสาเหตุอะไรละที่จะทำให้หัวหน้าไม่พอใจ? อาการที่หัวหน้าแสดงออกว่าไม่ชอบเรา หรือ ไม่ชอบใครบางคนในที่ทำงาน อาจจะมีต้นเหตุจากเราเองก็ได้ ซึ่งส่วนมากก็เป็นผลมาจากพฤติกรรมของเราเองซะส่วนใหญ่

 


 

สาเหตุที่เจ้านายอาจไม่ปลื้มเรา

  • ขาดระเบียบวินัยและความน่าเชื่อถือ : เช่น การมาสายเป็นประจำ ขาดงานแบบไม่มีเหตุผล ทั้งยังมีข้อแก้ตัวเยอะไปหมด

  • ไม่เคยยอมรับผิด : ทำงานพลาดอยู่เป็นประจำ ไม่ค่อยปรับปรุงหรือแก้ไข และมักจะโทษคนอื่นก่อนตัวเองเสมอ พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้เห็นถึงการขาดความรับผิดชอบได้อย่างดีทีเดียว

  • ทำงานข้ามหัวคนอื่น : คือการทำงานโดยไม่ให้ทีมงานหรือหัวหน้ารับรู้ หรือแอบไปคุยกับผู้บริหารแบบข้ามหน้าข้ามตาหัวหน้าตัวเองไป ทำให้อาจถูกมองไม่ดีได้

  • คิดว่าตัวเองเก่งกว่าคนอื่น : คิดว่าตัวเองเก่งกว่าเพื่อนร่วมงานทุกคน หรืออาจคิดว่าตัวเองมีความสามารถมากกว่าหัวหน้าด้วยซ้ำ

  • หลีกเลี่ยงการทำงานที่ยาก หรืองานที่ไม่ชอบ : มักชอบเกี่ยงงาน งานหนัก งานยาก ไม่ค่อยอยากจะทำ ชอบทำแต่งานง่าย ๆ และมีพฤติกรรมชอบบ่นอิดออดเสมอ เวลาที่ได้รับมอบหมายให้ทำงาน

  • ทำงานร่วมกับใครไม่ค่อยได้ : ทำงานเป็นทีมไม่ได้ ทำงานกับใครก็ไปสร้างปัญหาให้เขา ทำตัวเป็นคนโดดเดี่ยว ไม่มีใครอยากทำงานด้วย ผลก็คือ ค่อยๆ กลายเป็นตึ่งส่วนเกินในที่ทำงาน สุดท้ายก็กลายเป็นคนที่ถูกลืมในที่สุด

  • ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง : ยึดติดกับการทำงานแบบเดิม ๆ ที่เคยผ่านมาก ไม่ยอมรับสิ่งใหม่ ๆ มองการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องไม่ดีซะหมด ทำให้กลายเป็นกลุ่มคนที่ ดึงองค์กรให้ตกต่ำลง แทนที่จะช่วยผลักดันกันไปข้างหน้า

นี่อาจเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น เราไม่ได้บอกว่าต้นเหตุของเรื่องราวทั้งหมดคือตัวคุณ แต่เป็นเพียงอีกหนึ่งสาเหตุที่อาจเป็นไปได้ แน่นอนว่าในความเป็นจริงแล้วก็ยังคงมีอีกหลายสาเหตุประกอบกัน จากทั้งภายในและภายนอก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ควรที่จะมีวิธีรับมือ หรือวิธีแก้ไขเอาไว้



 

วิธีแก้ไข และรับมือกับเจ้านายที่ไม่ปลื้มเรา

  • โฟกัสงานเข้าไว้ : ตั้งใจทำงานเข้าไว้ โดยเฉพาะในช่วงที่สถานการณ์ไม่มั่นคงเช่นนี้ยิ่งต้องเร่งสร้างผลงาน รวมทั้งระมัดระวังไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการทำงานอย่างเด็ดขาด

  • ปรึกษาเพื่อนร่วมงานที่ไว้ใจ : โดยส่วนใหญ่แล้วเรามักมองไม่เห็นจุดบกพร่องของตัวเอง หรืออาจทำอะไรพลาดไปโดยไม่รู้ตัว ลองหาเพื่อนร่วมงานที่ไว้ใจได้สักคนเพื่อปรึกษาปัญหานี้ เพราะคนรอบตัวอาจมองภาพได้กว้างกว่าที่เราเห็น หรือเขาอาจรู้เรื่องอะไรที่เราไม่รู้ก็เป็นได้

  • เข้มแข็งเข้าไว้ : ไม่ว่าจะรู้สาเหตุที่แท้จริงหรือไม่ก็ตาม ความจริงที่ต้องยอมรับก็คือคุณอาจอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ค่อยสบายนัก หากเราไม่สามารถแก้ไขที่คนอื่นได้ ก็ต้องแก้ไขที่ทัศนคติของตัวเอง เมื่อคุณตัดสินใจที่จะทำงานที่นี่ต่อ ก็ต้องพร้อมที่จะสู้กับทุกสถานการณ์อย่างมีสติ เพราะนี่คือบทพิสูจน์สำคัญของคนเป็นมืออาชีพ

  • ขอคำแนะนำจากหัวหน้า : การขอคำแนะนำเป็นวิธีที่ดีที่สุด ในการเปลี่ยนมุมมองที่คุณมีต่ออีกฝ่าย วิธีการนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่า เราเคารพการตัดสินใจและวิธีคิดของอีกฝ่าย โดยวิธีขอคำแนะนำจะไม่ใช่การพูดเชิงกดดัน แต่เป็นการขอความคิดเห็นเพื่อช่วยให้คุณได้ไอเดียบางอย่างกลับไป 

  • คุยกันอย่างตรงไปตรงม : การพูดคุยกันถือเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ตรงจุดที่สุด พูดคุยเปิดอก - ให้คำแนะนำอย่างจริงใจ ทำให้เขาเห็นสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ถ้าเรายังต้องทำงานด้วยกันต่อไป คุณต้องการที่จะแก้ไขสถานการณ์ตอนนี้ เพื่อทำให้ทุกอย่างคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น อาจเป็นการถามแบบอ้อมๆ เช่น ถามถึงฟีดแบคการทำงานของคุณ ว่ามีอะไรให้แก้ไขหรือปรับปรุงบ้างหรือไม่ หากเจ้านายคุณมีอะไรในใจ เขาก็คงใช้โอกาสนี้พูดออกมาเอง ซึ่งนั่นก็หมายถึงคุณต้องกล้าหาญพอที่จะรับฟังและนำมาปรับปรุงตัวเองด้วยเช่นกัน 


 

สุดท้ายแล้วการที่ต้องอยู่ร่วมกันก็อาจจะมีการกระทบกระทั่งกันบางเป็นเรื่องธรรมดา เราเพียงต้องปรับตัวและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน แต่ถ้าหากว่าปรับยังไงก็ยังคงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ การหางานใหม่ที่มีวัฒนธรรมองค์กรที่ตอบโจทย์และตรงใจเรา อาจเป็นทางออกที่มีกว่า แต่ก็อย่าลืมอ่านรีวิวเพิ่มเติมเพื่อให้รู้ก่อนเบื้องต้นว่าองค์กรนั้น ๆ เหมาะกับเราหรือไม่