เปิดมุมมองการบริหารและวัฒนธรรมการทำงาน ของคุณอนุพงษ์ อัศวโภคิน จาก ‘เอพี (ไทยแลนด์)’
หากพูดถึงบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำในประเทศไทย ‘เอพี (ไทยแลนด์)’ คงเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่หลายคนนึกถึง ซึ่งนอกจากยอดขายจากอสังหาริมทรัพย์ที่ตีตลาดจนติดอันดับต้น ๆ ของประเทศแล้ว การบริหารของ CEO อย่าง คุณอนุพงษ์ อัศวโภคิน ก็เรียกได้ว่าน่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะเอพีเองมีพนักงานในองค์กรกว่า 3,000 คน แน่นอนว่าการบริหารคนนั้นต้องมีความท้าทายเป็นอย่างมาก ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจของการบริหารคนที่คุณอนุพงษ์เคยกล่าวไว้หลายครั้งคือ ‘การสร้างให้พนักงานเป็นผู้นำแบบ Independent Responsible Leaders หรือการบริหารงานแบบที่หัวหน้าไม่ใช่ศูนย์กลางจักรวาล’ ซึ่งนับว่าการบริหารรูปแบบดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่น่าสนใจและสามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตการทำงานได้
Independent Responsible Leaders : การตัดสินใจไม่ได้ขึ้นกับ CEO หรือผู้บริหารเพียงคนเดียว คนที่ตัดสินใจได้ดีควรจะเป็นคนที่ใกล้ชิดลูกค้าและอยู่หน้างานมากที่สุด
บทสัมภาษณ์หนึ่งของคุณอนุพงษ์กล่าวถึงวัฒนธรรมการทำงานของเอพีได้อย่างน่าสนใจ คือ “ที่เอพี เราเชื่อว่า การที่เราให้อำนาจในการตัดสินใจอย่างอิสระแก่คนทำงาน ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดลูกค้าโดยตรง จะตอบสนองความต้องการของลูกค้าในโลกที่เปลี่ยนไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่าอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่คนเพียงไม่กี่คนในองค์กร” จากความเชื่อดังกล่าว ทำให้เอพีมีการสร้างให้พนักงานเป็นผู้นำแบบ Independent Responsible Leaders ที่ให้ “อิสระ” ในการตัดสินใจแก่พนักงานทุกระดับ ให้สามารถตัดสินใจได้เองบนพื้นฐานกระบวนการคิดแบบ Outward Mindset
Outward Mindset : คนไม่ได้ลาออกเพราะ “งาน” แต่ลาออกเพราะ “คน” ต้องมองโลกอย่างเข้าใจ และรู้จัก ‘ฟัง’ ให้เป็น
Outward Mindset หรือการมองคนให้เป็นคนและเอาใจเขามาใส่ใจเรา นับเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมการทำงานของเอพี เพราะการทำงานที่ดีที่สุดคือ ทำแล้วต้องมีความสุข แต่สิ่งที่ทำให้เราทำงานแล้วไม่มีความสุขที่สุด ไม่ใช่ตัวงาน แต่เป็นเพราะ “คน” คนที่ทำงานร่วมกันกับเรา เพราะเราต่างก็เอาใจเราไปประเมินสิ่งที่เขาทำ ไม่มองผ่านเงื่อนไขหรือสิ่งที่เขาเจอ ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ของคนในที่ทำงาน และสิ่งนี้เองทำให้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะลาออกจากงานมากที่สุด ที่เอพีจึงใช้ Outward Mindset มาเป็นกระบวนการคิดหลักในการสร้างวัฒนธรรมองค์กร
โดยคุณอนุพงษ์ได้กล่าวว่า “ต้องมองโลกอย่างเข้าใจ ซึ่งพอเรามี Outward Mindset เราก็จะเข้าใจคนอื่น เราจะพยายามทำความเข้าใจในมุมมองที่แตกต่าง และรู้จัก ‘ฟัง’ ให้เป็น จากนั้นความรับผิดชอบก็จะตามมานั่นเอง อีกทั้งการที่องค์กรจะหยุดปัญหาเรื่อง ‘คน’ ได้ จำเป็นต้องบริหารคนให้ดี ปรับทัศนคติที่ตัวผู้นำให้ “มองโลกอย่างเข้าใจในมุมของคนอื่น” เพราะสุดท้ายแล้วหัวหน้าเองก็ไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล Outward Mindset ไม่ได้ทำให้พนักงานทำงานดีขึ้นอย่างเดียว แต่ช่วยทำให้พนักงานมีความสุขมากขึ้นด้วย และสิ่งนี้นอกจากจะใช้ได้ผลดีกับการทำงานแล้ว ยังใช้ได้กับชีวิตจริง ในความสัมพันธ์กับคนรอบข้างอีกด้วย” และนี่ก็คือสิ่งที่เอพีนำมาใช้ในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เกิดขึ้นจริงนั่นเอง
สนับสนุนลูกน้องผ่านการกระจายอำนาจ : หัวหน้าไม่ต้องเข้าไปตัดสินใจแทนหรือ Micro-Management จนทำให้คนทำงานรู้สึกถูกควบคุม เกิดความอึดอัด
โดยที่เอพีเชื่อว่าคนทำงาน คือคนที่เข้าใจงาน และเข้าใจปัญหาที่เจอตรงนั้นดีที่สุด แต่การให้อิสระในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าหัวหน้าจะปล่อยให้ลูกน้องเผชิญปัญหาแต่เพียงลำพัง แต่เป็นการสนับสนุนลูกน้องผ่านการกระจายอำนาจ และเป็นการขยายขีดความสามารถของพนักงานแต่ละคน ให้ได้มีพื้นที่แสดงศักยภาพที่มีได้อย่างเต็มที่ ต่างคนต่างทำงานบนพื้นฐานความรับผิดชอบของตนเอง โดยหัวหน้าไม่ต้องเข้าไปตัดสินใจแทนหรือ Micro-Management จนทำให้คนทำงานรู้สึกถูกควบคุม เกิดความอึดอัด และไม่กล้าแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา และวัฒนธรรมการทำงานเช่นนี้ จะช่วยให้พนักงาน กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงศักยภาพของตนได้อย่างเต็มที่ และเติบโตขึ้นอย่างแข็งแรง ทั้งในมิติของการเป็นผู้นำ การตัดสินใจ และความรับผิดชอบ
กิจกรรม ‘พี่น้อง zoom คุยกัน’ : เปิดโอกาสให้พนักงานสามารถแลกเปลี่ยนและพูดคุยได้ทุกเรื่องอย่างใกล้ชิดกับ CEO และ MD ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน หรือเรื่องส่วนตัว
คุณอนุพงษ์เคยกล่าวไว้ว่า “ในการทำงาน หน้าที่ผมคือถามน้องๆ ว่า มีอะไรที่ผมช่วยได้ อะไรที่คุณติดขัดในเรื่องการทำงานบ้าง” โดยมองว่าหน้าที่ของผู้นำไม่ใช่คนที่คอย “สั่ง” ว่าใครจะต้องทำอะไร แต่ผู้นำคือคนที่มีหน้าที่ช่วยสนับสนุนเมื่อเกิดปัญหา และ “สร้าง” ระบบหรือกติกาที่เอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี ที่จะทำให้ทีมงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นี่จึงเป็นที่มาของกิจกรรม ‘พี่น้อง zoom คุยกัน’ กิจกรรมที่ผลักดันวัฒนธรรมองค์กรไปสู่พนักงานทุกระดับอย่างทั่วถึง โดยได้จัดกิจกรรมนี้มาอย่างต่อเนื่องในทุกๆ เดือน จนเข้าสู่ปีที่ 4 และยังได้กระแสตอบรับจากพนักงานเอพีเป็นอย่างดี โดยรายละเอียดของพี่น้อง zoom คุยกัน คือ การที่ผู้บริหารอย่างคุณอนุพงษ์ และคุณพิเชษฐ วิภวศุภกร (Managing Director) ได้มาร่วมแชร์วิสัยทัศน์ พันธกิจ และวัฒนธรรมองค์กร ให้กับพนักงานที่เข้าร่วมฟัง เพื่อเข้าใจที่มาที่ไปและทิศทางในอนาคตขององค์กร รวมถึงยังได้เปิดโอกาสให้พนักงานสามารถแลกเปลี่ยนและพูดคุยได้ทุกเรื่องอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน หรือเรื่องส่วนตัว ซึ่งกิจกรรมนี้เน้นการพูดคุยอย่างเป็นกันเองแบบพี่น้องคุยกัน โดยตั้งแต่ทำกิจกรรมดังกล่าวมา ได้แลกเปลี่ยนและพูดคุยกับพนักงานมาแล้วกว่า 400 คน กิจกรรม ‘พี่น้อง zoom คุยกัน’ จึงถือเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบเอพี ที่ผู้บริหารให้ความสำคัญและลงมามีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอกย้ำวิถีการทำงานแบบเอพี ให้พนักงานทุกคนทำงานที่เอพีอย่างมีความสุข บนบรรยากาศการทำงานแบบ Outward Mindset
ชีวิตดี ๆ ที่เลือกเองได้ : ผ่านการดูแลที่เข้าใจพนักงานอย่างลึกซึ้ง ด้วยสวัสดิการที่ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลาย
จะเห็นได้ว่าเอพีนับเป็นองค์กรที่มีวิธีการบริหารงานและบริหารคน แบบเข้าใจคนทำงานยุคนี้ ที่ให้อิสระในการคิดและการตัดสินใจ เปิดโอกาสให้พนักงานได้แสดงศักยภาพออกมาอย่างเต็มที่ผ่านวิถีการทำงานแบบ Independent Responsible Leaders บนพื้นฐานกระบวนการคิดแบบ Outward Mindset
ทั้งหมดนี้คือการตอกย้ำวิสัยทัศน์ขององค์กรที่ต้องการผลักดัน ‘ชีวิตดี ๆ ที่เลือกเองได้’ โดยสร้างความสุขที่ลูกค้าสามารถเลือกเองได้ และพนักงานเอพีเองก็ต้องมีความสุขที่เลือกเองได้ด้วยเช่นกัน ผ่านการดูแลที่เข้าใจพนักงานอย่างลึกซึ้ง ด้วยสวัสดิการที่ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลาย ทั้งด้านการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง ด้านรายได้และความมั่นคง ด้านสุขภาพกายและใจ รวมถึงด้านครอบครัว เป็นต้น จึงไม่แปลกใจเลยที่เอพีได้ก้าวมาสู่การเป็นผู้นำในตลาดอสังหาริมทรัพย์อย่างเช่นทุกวันนี้ อย่ารอช้า มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเอพี (ไทยแลนด์) ได้ ที่นี่