เช็คด่วน! 9 อาการ โรคซึมเศร้า ที่เราหรือคนรอบข้างอาจกำลังเป็นโดยไม่รู้ตัว
คนที่เศร้าที่สุด อาจเป็นคนที่คุณไม่เคยคิดถึงก็ได้…
และคุณจะรู้ได้อย่างไร ว่าคุณหรือคนรอบข้าง เป็นโรคซึมเศร้า ?
แพทย์ได้วินิจฉัยว่าหากมีอาการดังต่อไปนี้ 5 อาการหรือมากกว่าแปลว่าคุณมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า
-
มีอารมณ์ซึมเศร้า (ในเด็กและวัยรุ่นอาจเป็นอารมณ์หงุดหงิดก็ได้)
-
ความสนใจในกิจกรรมต่างๆ แทบทั้งหมดลดลงอย่างมาก
-
น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นมาก (น้ำหนักเปลี่ยนแปลงมากกว่าร้อยละ 5 ต่อเดือน) หรือมีการเบื่ออาหารหรือเจริญอาหารมาก
-
นอนไม่หลับ หรือหลับมากไป
-
กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข หรือเชื่องช้าลง
-
อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง
-
รู้สึกตนเองไร้ค่า
-
สมาธิลดลง ใจลอย หรือลังเลใจไปหมด
-
คิดเรื่องการตาย คิดอยากตาย
ทั้งนี้ต้องมีอาการข้อ 1 หรือ 2 อย่างน้อย 1 ข้อ และอาการต้องอยู่นาน 2 สัปดาห์ขึ้นไป และเป็นอยู่ตลอดเวลาทุกวัน ไม่ใช่เป็นๆหายๆ
และเมื่อมีอาการเหล่านี้ สิ่งที่คุณจะสังเกตต่อไปได้ก็คือ
1. อารมณ์เปลี่ยนแปลงไป
สะเทือนใจง่าย ร้องไห้บ่อย แม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ และในบางคนจะรู้สึกเบื่อหน่ายจากสิ่งเดิมที่เคยทำแล้วรู้สึกสบายใจ เช่น ฟังเพลง ดูหนัง พบปะเพื่อน ก็จะรู้สึกไม่อยากทำ ไม่อยากพบเจอผู้คน และในบางคนอาจมีอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียวง่ายขึ้น กลายเป็นคนอารมณ์ร้ายได้
2. ความคิดเปลี่ยนไป
มองอะไรก็รู้สึกว่าแย่ไปหมด เห็นแต่ความล้มเหลวของตนเองไม่มีใครช่วยอะไรได้ ไม่เห็นทางออก มองอนาคตไม่เห็น รู้สึกท้อแท้หมดหวังกับชีวิต
3. สมาธิความจำแย่ลง
รู้สึกหลงลืมง่าย และทำอะไรก็รู้สึกไม่มีสมาธิจดจ่อ คุณเคยมีอาการแบบนี้หรือไม่ ลืมโทรศัพท์ ลืมกุญแจ ลืมปิดบ้าน ลืมล็อครถ จะเดินไปซื้อของพอถึงร้านนึกไม่ออกว่าจะมาซื้ออะไร ทั้งๆที่ก็ยังไม่แก่ แต่ทำไมเป็นคนขี้ลืมแบบนี้
4. มีอาการทางร่างกายต่างๆ ที่ผิดปกติไป
รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง หลับยากขึ้น และรู้สึกนอนไม่เต็มอิ่ม และมักจะรู้สึกเบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก อาจมีอาการท้องผูก อืดแน่นท้อง ปากคอแห้ง บางคนอาจมีอาการปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว
5. ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างเปลี่ยนไป
อาจกลายเป็นคนที่เก็บตัวมากขึ้น ไม่ค่อยอยากพูดจากับใคร ไม่อยากพบปะใคร แม้กระทั่งคนใกล้ที่สนิท คนในครอบครัวก็อาจจะไม่อยากเจอ
6. การงานแย่ลง
ความรับผิดชอบต่อการทำงานก็ลดลง อาจฝืนตัวเองในช่วงแรกๆ ให้ทำงานต่อไปได้ แต่เมื่อมีอาการมาก ขึ้น ก็จะรู้สึกไม่อยากฝืนทำต่อ
7. อาการโรคจิต
พบในรายที่เป็นรุนแรง ซึ่งนอกจากผู้ที่เป็นจะมีอาการซึมเศร้าแล้ว อาจมีอาการหลงผิดหรือประสาทหลอนร่วมด้วย ที่พบบ่อยคือ จะเชื่อว่ามีคนคอยกลั่นแกล้ง หรือประสงค์ร้ายต่อตนเอง
สำหรับการรักษา แพทย์จะทำการรักษาด้วยยาแก้เศร้า โดยเฉพาะในรายที่อาการมาก ส่วนในรายที่มีอาการไม่มาก แพทย์อาจรักษาด้วยการช่วยเหลือชี้แนะการมองปัญหาต่างๆ ในมุมมองใหม่ แนวทางในการปรับตัว หรือการหาสิ่งที่ช่วยทำให้จิตใจผ่อนคลายความทุกข์ใจลง ร่วมกับการให้ยาแก้เศร้าหรือยาคลายกังวลเสริมในช่วงที่เห็นว่าจำเป็น
สำหรับโรคซึมเศร้านั้น สามารถหายเองได้ แต่ใช้เวลานาน ซึ่งระยะเวลาก่อนที่ผู้ป่วยจะอาการดีขึ้นนั้น อาจสร้างความทุกข์ทรมาน จนเกินเยียวยาได้ แพทย์จึงแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ามารับการรักษา และ 8-9 ในผู้ป่วย 10 คน อาการจะดีขึ้นหรือหายขาด เมื่อได้รับยาแก้เศร้า