สิ่งที่นักธุรกิจ Gen-Y ควรจะเรียนรู้จาก Kevin Systrom ผู้ก่อตั้ง Instagram
Kevin Systrom ซีอีโอและหนึ่งในผู้ก่อตั้งแอพพลิเคชั่นยอดนิยมอย่าง “อินสตาแกรม” (Instagram) ได้รับการเสนอชื่อ เป็นหนึ่งใน 30 คนที่รวยที่สุดในโลก จากนิตยสาร Forbes ปี 2012 ด้วยวัยเพียง 28 ปีในขณะนั้น และความสำเร็จที่แม้แต่ตัวเขาเองก็ไม่คาดคิดมาก่อน Systrom จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและเริ่มเรียนรู้ธุรกิจสตาร์ทอัพจากการฝึกงานที่ Odeo บริษัทต้นกำเนิดทวิตเตอร์ (Twitter) นอกจากนั้น เขายังเคยทำงานให้กับ Google ถึง 2 ปีเต็ม โดยเป็นผู้ดูแล Gmail, Google Readers และผลิตภัณฑ์หลักอื่น ในบทสัมภาษณ์นี้ เราจะได้พบกับเรื่องราวการก่อตั้งอินสตาแกรม อุปสรรคที่เขาต้องเผชิญ การสร้างแรงบันดาลใจ และข้อแนะนำดีๆสำหรับผู้ประกอบการมือใหม่ที่กำลังจะลงเล่นในวงการสตาร์ทอัพ ไปติดตามกันเลยค่ะ
อะไรเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างอินสตาแกรม และอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดตอนเริ่มต้นคืออะไร?
Mike Krieger และผมสร้างอินสตาแกรมขึ้นมา เพราะเราต้องการช่องทางการสื่อสารในแบบที่เห็นภาพ ปกติแล้ว เรามักจะถ่ายรูปด้วยกล้องโทรศัพท์มือถือแล้วเก็บไว้ใน Camera roll เฉยๆ โดยที่ไม่ได้โชว์ให้ใครดูเลย รูปพวกนั้นอาจจะไม่ใช่รูปถ่ายที่สวยมาก แต่รูปที่ไม่มีใครเห็นมันช่างน่าเสียดาย จริงๆแล้ว ทุกรูปภาพที่เราถ่ายมันมีความหมายนะ มันสื่อสารอะไรบางอย่างเกี่ยวกับช่วงเวลาเหล่านั้น ว่าเราอยู่ที่ไหน อยู่กับใคร กำลังทำอะไร
อินสตาแกรมถูกสร้างขึ้นมาก็เพราะว่า ที่ผ่านมามันไม่มีที่ไหนเลยที่คุณจะสามารถทำให้รูปถ่ายจากกล้องโทรศัพท์มือถือของคุณมีชีวิตและได้ประจักษ์แก่สายตาของคนอื่น แน่นอนว่า หนึ่งในฟีเจอร์ยอดนิยมของอินสตาแกรมคือ ฟิลเตอร์ปรับแต่งรูปภาพ ที่เปลี่ยนแปลงรูปถ่ายของคุณให้เป็นความทรงจำที่มีศิลปะ แต่จริงๆแล้ว นี่ไม่ใช่สิ่งที่เราโฟกัส มันเป็นแค่ฟีเจอร์หนึ่งที่เราลิสต์ไว้ว่าอยากให้มี พูดอีกอย่างก็คือ เราต้องการสร้างพื้นที่ในการแชร์รูปภาพ ฟิลเตอร์เป็นแค่สิ่งที่ตามมาทีหลัง เพราะเราต้องการควบคุมรูปภาพอย่างสร้างสรรค์
อุปสรรคที่ใหญ่สุดตอนเริ่มแรก ก็คงเป็นเรื่องของ การปรับตัว เราไม่คิดมาก่อนว่า โปรเจ็คเล็กๆของเราจะกลายเป็นแอพฯ ที่เติบโตเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ ผมจำได้ชัดเจนว่า วันแรกที่เปิดตัวอินสตาแกรม เราไม่สามารถรองรับปริมาณผู้ใช้งานจำนวนมากได้ด้วยซ้ำ เซิฟเวอร์ของเราแทบจะล่ม แต่ในที่สุดเราก็หาทางได้สำเร็จ และการปรับปรุงระบบเพื่อให้เทียบเท่ากับความต้องการใช้งาน ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งในดีเอ็นเอของเรา
ชีวิตนอกเหนือจากการทำงานเป็นยังไงบ้าง คุณมีวิธีการจัดการกับ work/life balance ยังไง ในฐานะนักธุรกิจมือใหม่?
“ชีวิตนอกเหนือจากการทำงาน” คุณหมายความว่ายังไงหรือครับ จริงๆ แล้ว ชีวิตผมไม่ค่อยมีอะไรอย่างอื่น นอกจากการทำงานนะ เป็นแบบนี้สักระยะหนึ่งเลย แน่นอน ผมคิดถึงงานเลี้ยงวันเกิด ดินเนอร์ วันหยุดที่ได้อยู่กับครอบครัว แต่ผมไม่มีทางเลือก มีสองสิ่งที่ผมต้องทำ อย่างแรก คือทำให้อินสตาแกรมทำงานอย่างราบรื่น กับอีกอย่างคือ แก้ไขเวลาที่มันไม่ราบรื่น ช่วงแรกๆ มันเป็นการแข่งขันกับเวลา ผ่านไปสักพัก เราถึงค้นพบวิธีที่จะทำให้สถานการณ์ไม่ร้อนเป็นไฟอยู่ตลอด โดยการจ้างคนที่รับมือกับความท้าทายได้ดี และอีกส่วนหนึ่ง คงเป็นเพราะเรารับมือกับการเติบโตอย่างรวดเร็วนี้ได้
เรื่องของ “work/life balance” สำหรับสตาร์ทอัพฟังดูเหมือนจะเป็น “เรื่องแต่ง” คำนี้มันมีนัยนะของความเป็นคู่ตรงข้าม เป็นสองสิ่งที่แยกออกกันอย่างสิ้นเชิง แต่สำหรับผม ผมกลับคิดว่า ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตเกิดขึ้นตอนที่ผมอยู่กับทีมงานอินสตาแกรม ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่ต้องอยู่ทำงานจนดึก หรือการที่ได้เดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ไม่เคยไป และได้เจอกับคนน่าสนใจแบบที่ไม่เคยเจอมาก่อน
ถ้าคุณคิดว่าการทำงานสตาร์ทอัพจะมีการคล็อกอิน คล็อกเอ้าท์ คุณคงไม่เหมาะกับแวดวงนี้ แต่ถ้าคุณสามารถผูกโยงสองสิ่งเข้าด้วยกัน ทำให้การทำงานมันจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคุณ คุณจะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องภารกิจ มากกว่าเรื่องเพย์เช็ค ผมพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อจะหาวิธีรวมทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน ทำให้มันไม่ได้เป็นคู่ตรงข้าม แต่ให้มันดำเนินไปพร้อมๆกัน ในชีวิตนี้ ก็ไม่มีอะไรอีกแล้วที่ผมอยากเปลี่ยนแปลง
แรงบันดาลใจจากผู้ประกอบการคนอื่นๆ และสิ่งที่คุณเรียนรู้จากพวกเขา
อาจจะฟังดูซ้ำซาก แต่ผมคิดว่า “สตีฟ จ็อบส์” มีอิทธิพลอย่างมากในทุกสิ่งที่เราทำ มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับ การทำสิ่งเล็กๆ แต่ทำให้ดีกว่าคนอื่นๆบนโลกใบนี้ การ “โฟกัส” เป็นกุญแจสำคัญ ผมคิดว่าคนที่สามารถสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่มีวิทยาการล้ำหน้าที่สุดในโลก โดยไม่มีพื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์เลย ควรจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการทุกคน ไม่ว่าคุณจะมีใบปริญญาด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์หรือไม่
คุณมีโครงการที่จะทำอะไรต่อไป?
ทำอินสตาแกรม อย่างเดียวเลยครับตอนนี้ เราเพิ่งเริ่มทำได้แค่ 1% ของสิ่งที่เราต้องการจะทำ ผมตื่นเต้นมากที่จะได้ทำมันต่อไปเรื่อยๆ
เคล็ดลับ 3 ข้อในการทำสตาร์ทอัพให้ประสบความสำเร็จ
1. แก้ไขปัญหาที่แท้จริง บริษัทสตาร์ทอัพทุกแห่งควรเริ่มจากการแก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของโลกใบนี้ – ถ้าคุณสร้างวิธีแก้ปัญหาให้คนจำนวนมาก มันก็เป็นเรื่องง่ายที่จะขายสินค้าของคุณไปทั่วโลก
2. หาจุดโฟกัสให้ได้ อย่าทำหลายอย่างพร้อมๆกัน ตัดทุกอย่างที่ไม่สำคัญต่อความสำเร็จของผลิตภัณฑ์ออกไป แล้วโฟกัสแค่อย่างเดียว
3. จ้างคนที่เยี่ยมที่สุด เน้นจ้างคนที่คุณภาพ ไม่ใช่ปริมาณ คุณจะพบว่าวิศวกรเก่งๆ หนึ่งคน สามารถทำงานสำหรับ 5 คนได้ ดังนั้น จงโฟกัสในการหาคนที่เก่งที่สุด คนที่รักในสิ่งที่ตัวเองทำ และรักในสิ่งที่คุณทำ
ขอขอบคุณ