สยามพิวรรธน์ เปิดโอกาสคนรุ่นใหม่ฉายศักยภาพร่วมทีมกับมืออาชีพพัฒนาธุรกิจสู่อนาคต
- มุ่งเสริมทัพคนรุ่นใหม่เข้าสู่ทีมพัฒนาธุรกิจ และแพลตฟอร์มแห่งอนาคตของสยามพิวรรธน์พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในโลกยุคใหม่ของประเทศไทยต่อไป
- จับมือสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างผู้นำคนรุ่นใหม่ให้ตรงตามความต้องการขององค์กรในการพัฒนาธุรกิจสร้างสรรค์เปิดโครงการฝึกงานแบบปฏิบัติงานจริง เรียนรู้โดยตรงจากทีมงานมืออาชีพของสยามพิวรรธน์
กรุงเทพฯ (18 สิงหาคม 2565) – บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ผู้นำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และค้าปลีกชั้นนำเจ้าของและผู้บริหารโครงการที่มีชื่อเสียงระดับโลก อาทิ สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ หนึ่งในพันธมิตรเจ้าของ ไอคอนสยาม และสยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ เปิดโอกาสคนรุ่นใหม่ร่วมสร้างทีมงาน Next Generation รองรับการพัฒนาธุรกิจแบบก้าวกระโดดในอนาคต พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจภาคอุตสาหกรรมรีเทลในโลกยุคใหม่ เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป จัดโปรแกรมพิเศษ “Siam Piwat x BAScii Internship Program 2022” เปิดเวทีให้นิสิตคนรุ่นใหม่ได้แสดงความสามารถและศักยภาพร่วมงานกับทีมงานสยามพิวรรธน์ผู้สร้างโกลบอลเดสนิชั่นที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน
ชนิสา แก้วเรือน Head of Corporate Strategy Group ผู้บริหารกลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวว่า “สยามพิวรรธน์ ในฐานะผู้นำความคิดสร้างสรรค์ The Visionary Icon ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาคน ทั้งบุคลากรภายในกลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ และผู้เกี่ยวข้องที่อยู่ในกระบวนการดำเนินธุรกิจ โดยการสนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการร้านค้าทุกระดับ โดยจัดมีการแลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี และประสบการณ์เพื่อพัฒนาธุรกิจในรูปแบบใหม่ อีกทั้งส่งเสริมนักออกแบบ ศิลปิน นักสร้างสรรค์ ผู้ประกอบการรายย่อย ให้มีเวทีนำเสนอสินค้าและบริการในพื้นที่ที่เป็นโกลบอลเดสติเนชั่น รวมทั้งขยายการสนับสนุนไปยังบุคคลภายนอกให้ได้รับประโยชน์จากธุรกิจของเรา อาทิ การนำผลงานของคนไทยนำเสนอสู่สายตาคนทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่องในฐานะผู้นำธุรกิจ
วิสัยทัศน์ของสยามพิวรรธน์มุ่งเน้นการเตรียมบุคลากรคนรุ่นใหม่เพื่อรองรับการพัฒนาธุรกิจแบบก้าวกระโดดในโลกยุคใหม่ จึงได้จับมือกับพันธมิตรอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีเครือข่ายในการพัฒนาความรู้ทักษะอนาคต เเละสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (School of Integrated Innovation of Chulalongkorn University, ScII) ที่ได้บูรณาการความร่วมมือด้านวิจัยและนวัตกรรมในการบ่มเพาะองค์ความรู้และสร้างผู้นำรุ่นใหม่ให้ตรงตามความต้องการขององค์กรภาคธุรกิจ นอกจากนี้ยังทำให้สยามพิวรรธน์สามารถเข้าถึง สร้างความผูกพันคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ ที่เราจะชวนมาร่วมงานกันต่อไป” สยามพิวรรธน์ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนากลุ่มคนรุ่นใหม่ เพราะเป็นกำลังสำคัญที่จะเข้ามาพัฒนาภาคธุรกิจ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในวันข้างหน้า
สยามพิวรรธน์ได้จัดโปรแกรมพิเศษ “Siam Piwat x BAScii Internship Program 2022” คัดเลือกนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากชั้นปีที่ 2 - 4 จำนวน 10
คนจากหลักสูตรศิลปกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์บัณฑิต ด้านนวัตกรรมบูรณาการ (Bachelor of Arts and Science in Integrated Innovation) เพื่อเข้าร่วมโครงการฝึกปฏิบัติงาน เป็นระยะเวลา 2 เดือนเต็ม ระหว่างเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม 2565 โดยได้เรียนรู้โดยตรงจากผู้บริหารที่เป็น Project Leaders และทีมงานมืออาชีพของบริษัทในสายงานกลยุทธ์องค์กร สายงานพัฒนาธุรกิจหลัก สายงานบริหารธุรกิจศูนย์การค้า สายงานประสบการณ์ลูกค้ากลุ่มธุรกิจค้าปลีก กลุ่มงานกลยุทธ์การลงทุนและเศรษฐกิจใหม่มีโปรเจคเมนเทอร์เป็นผู้ให้คำชี้แนะวิธีการทำงานกับทีม สอนงาน พัฒนา และให้คำปรึกษางานโครงการอย่างต่อเนื่องรวมถึงการได้มีส่วนร่วมทำงานในโปรเจคสำคัญของบริษัท และยังได้นำเสนอแผนงานโปรเจคพิเศษ โดยมีประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และคณะผู้บริหารระดับสูงร่วมรับฟัง พิจารณา และให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด
วรปรัชญ์ วัฒนสุวรรณ และ พัทธภูมิ เลิศดำริห์การ สองนิสิตที่ร่วมในโปรแกรมพิเศษ “Siam Piwat x BAScii Internship Program 2022” แสดงความรู้สึกต่อโครงการนี้ว่า “สยามพิวรรธน์ได้มอบประสบการณ์ที่ล้ำค่าให้กับผม ซึ่งทำให้ผมรู้สึกภาคภูมิใจและซาบซึ้งที่ได้มาฝึกงานที่นี่เป็นอย่างมาก สยามพิวรรธน์มีวัฒนธรรมองค์กรที่อบอุ่น ได้ทำงานด้วยความสนุกไปพร้อมกับการได้ประสบการณ์ชีวิตจริง” ด้าน นนทกร เหลี่ยมลิขิต กล่าวว่า “การตัดสินใจมาฝึกงานกับสยามพิวรรรธน์เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องมาก ผมได้เห็นภาพชีวิตจริง ๆ ของการทำงานชัดขึ้นมาก มีทั้งเหนื่อย ทั้งสนุก ทั้งท้าทาย ทั้งตื่นเต้น และทุก ๆ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นก็เป็นบทเรียนที่คุ้มค่ามาก ๆ รู้สึกว่ามุมมองของตัวเองในการทำธุรกิจพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด และนับจากนี้ การเดินห้างหรือศูนย์การค้าของผมคงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป”
สำหรับทีมสามสาว Gen Z กนกวรรณ ทิวาทิตยานุภาพ, ธัญญภรณ์ อภิลิขิตสมัย และ เบญญาภัสส์ สุขวิรัชตานนท์ ซึ่งได้สัมผัสประสบการงานด้านสื่อสารการตลาด กล่าวว่า “ประสบการณ์ที่ได้รับจากการเรียนรู้ระบบการทำงานจริงแบบ end-to-end process รวมถึงการทำงานร่วมกับทีม เป็นสิ่งที่มีค่ามาก พวกเราได้พบปะผู้คนใหม่ ๆ และเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ทุกวัน เราได้ร่วมทำงานไปพร้อมกับพี่ๆ ที่มีประสบการณ์และมีความเก่งในรูปแบบทีม ทำให้รู้สึกว่าตนเองมีประโยชน์และมีคุณค่า” ชาลิสา กิจมีรัศมีโยธิน ที่ได้ร่วมทำงานกับทีม ONESIAM SuperApp กล่าวว่า “รู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการได้ร่วมพัฒนาองค์กรและงานที่ได้รับ รู้สึกอบอุ่นที่พี่ๆ ในแผนกเราเองต้อนรับอย่างดี พร้อมช่วยเหลือทุกอย่าง สยามพิวรรธน์เป็นองค์กรใหญ่และมีหลายๆอย่างที่ไม่เคยเจอมากก่อน การที่ได้มาฝึกงานที่นี่ ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์มากๆ ขอขอบคุณสยามพิวรรธน์ที่ดูแลพวกเรามาอย่างดี”
ธนเทพ ปรีดาวิภาต กล่าวว่า “สยามพิวรรธน์ คือ The Visionary Icon ที่แท้จริง ความประทับใจแรกของผมคือ สยามพิวรรธน์แสดงให้เห็นว่าเต็มใจและกล้าที่จะเสี่ยงและก้าวไปข้างหน้าเหนือกว่าหนึ่งก้าวเสมอ ผมได้รับทักษะเชิงลงมือปฏิบัติมากมาย ได้ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด ที่สำคัญคือได้ฝึกทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณและการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์” ด้าน พีรณัฐ วุฒิอนันต์ กล่าวว่า “สยามพิวรรธน์เป็นองค์กรที่ใหญ่และมีบุคลากรเก่งๆ มากมาย ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่ทำให้ผมได้เรียนรู้ บ่มเพาะ และเข้าใจวิธีการทำงานในชีวิตจริงมากยิ่งขึ้น พี่ๆในแผนกและในองค์กรได้สอนหลายๆ อย่างที่ช่วยหล่อหลอมตัวผมให้มี mindset ที่ดีและพร้อมที่จะสร้าง impact ให้กับสังคม” และ ภูมิ ปลอดมีชัย เล่าถึงความรู้สึกหลังการทำงานร่วมกับทีมสยามพิวรรธน์ ว่า “รู้สึกประทับใจพี่เมนเทอร์ที่ดูแลเป็นอย่างดี ผมได้รับทั้งความรู้เกี่ยวกับงานที่ได้รับมอบหมาย รวมถึงประสบการณ์ที่ได้ลงมือทำจริง และแก้ปัญหาจริงๆ ผมประทับใจที่สยามพิวรรธน์ ให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่และพร้อมที่จะรับฟังความคิด ความเห็นของเด็กรุ่นใหม่เสมอ ขอบคุณสยามพิวรรธน์มากครับ”
ทั้งนี้ สยามพิวรรธน์ได้วางแนวทางการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อเข้าสู่การเป็นบุคลากรที่มีศักยภาพ ประกอบด้วย ‘Education – Innovation - Research’ ในด้าน Education สยามพิวรรธน์และจุฬาฯ ได้ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรให้ครอบคลุมการเร่งพัฒนาศักยภาพบุคลากรครบทุกมิติ โดยผู้เรียนจะได้เข้าโครงการพัฒนาทักษะ (Skill Acceleration) มุ่งสู่การเป็นผู้นำแห่งอนาคตจากคณาจารย์ชั้นนำของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและผู้เชี่ยวชาญในสายงานจริง ในด้าน Innovation สยามพิวรรธน์เปิดโอกาสให้นิสิตจากสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาฯ (ScII) ได้เข้าไปเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ผ่านการทำงานที่ได้ลงมือปฏิบัติร่วมกับบุคลากรของสยามพิวรรธน์ โดยโครงการนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จมีโอกาสสูงที่จะต่อยอดสู่ธุรกิจจริง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคนและพัฒนาเศรษฐกิจในคราวเดียว และด้าน Research คือ การทำวิจัยที่เสริมกับการพัฒนาทักษะและการทำโครงการนวัตกรรมร่วมกัน เป็นที่มาของโครงการ ‘Human Capital Acceleration’ ที่เร่งบูรณาการพัฒนาอนาคตชาติ พัฒนานวัตกรรมและเศรษฐกิจไปพร้อมกัน โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย
Global Chief Innovation Officer จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาบุคลากร เข้ามาให้คำปรึกษาและร่วมพัฒนาโครงการ “Human Capital Acceleration’ ที่เน้นทักษะที่จำเป็นในอนาคตสำหรับ Next Generation Leaders
นับเป็นบทบาทหนึ่งที่สำคัญสำหรับองค์กรใหญ่ระดับผู้นำธุรกิจ ที่เล็งเห็นคุณค่าในการมอบโอกาสให้กับบุคลากรหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ สนับสนุนและพัฒนา สร้าง ปั้น Next Generation ให้พร้อมเป็นกำลังสำคัญเพื่อพัฒนาธุรกิจ สังคม และประเทศชาติ ในอนาคต