ไลฟ์สไตล์ | 22 May 2023

Workaholic! โรคบ้างานที่คุณอาจเป็นโดยไม่รู้ตัว

 

โรคบ้างาน (Workaholic) คือ การทำงานที่มากเกินไป หรือเป็นการที่มีความต้องการทำงานอย่างต่อเนื่อง เกินความจำเป็น แม้ว่าความมุ่งมั่นและการทำงานหนักจะเป็นคุณสมบัติที่ดีในการพัฒนาตัวเอง แต่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของเราได้เลยนะ

 

Workaholic มักเกิดขึ้น กับผู้ที่มีบุคลิกเป็นคนสมบูรณ์แบบ เจ้าระเบียบ ชอบแข่งขัน มีความทะเยอทะยาน เอาจริงเอาจัง มีความสุขจากการทำงาน มีจิตใจคิดวนเวียนอยู่กับการทำงาน และอาจจะส่งผลให้กลายเป็น ออฟฟิศซินโดรม หรือภาวะหมดไฟ (burnout Syndrome) ได้เช่นกัน 

 

โดยนิสัยเสพติดการทำงานของชาว Workaholic แม้จะไม่ถูกจัดเป็นโรคหรือความผิดปกติทางจิต แต่ก็อาจนับรวมอยู่ในกลุ่ม “ย้ำคิดย้ำทำ” (Obsessive-Compulsive Disorder) ที่ไม่สามารถหยุดความคิดและพฤติกรรมได้

 


 

สัญญาณที่บ่งบอกว่าเรากำลังเป็นคนบ้างาน

  • ทำงานล่วงเวลา : คุณมักจะทำงานเกินกว่าเวลาโดยตลอด และพยายามทำให้เสร็จสิ้น โดยไม่คำนึงถึงเวลาหยุดพักผ่อน และความสมดุลในชีวิต
  • คิดถึงงานตลอดเวลา : หากไม่ได้ทำงานจะรู้สึกเครียด และหากมีเวลาว่างก็มักจะอยากทำงานเพิ่ม แม้ประสิทธิภาพหรือผลลัพธ์ของงานจะเท่าเดิมหรืออาจแย่ลง
  • ไม่พอใจเมื่อคนอื่นพูดถึงการทำงานของตัวเอง : และไม่รับฟังคำแนะนำของคนอื่นที่ให้ลดการทำงานลง
  • กลัวความผิดพลาดในการทำงาน : คุณไม่สามารถยอมรับความผิดพลาดในการทำงานได้และหากทำงานพาด คุณจะรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง หรือไม่มีคุณค่า 
  • เกิดปัญหาสุขภาพและปัญหาด้านความสัมพันธ์ : กับเพื่อน คนรัก และครอบครัวจากการทำงานหนัก

 


 

ผลข้างเคียงทางสุขภาพ

  • ปัญหาด้านความเครียด : การทำงานที่มากเกินไปอาจก่อให้เกิดความเครียดสะสม ส่งผลให้เกิดโรคตามมาเช่น ภาวะหมดไฟ ความเครียดเรื้อรังและวิตกกังวล
  • ปัญหาด้านการนอนหลับ : การทำงานต่อเนื่องและมีความกังวล อาจทำให้มีปัญหาในการนอนหลับ เช่น นอนไม่หลับ การตื่นกลางคืน และการหลับไม่สนิท
  • ปัญหาด้านสุขภาพ : เช่น ความเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร 

 

วิธีรับมือกับการเป็น Workaholic

  • ยอมรับและรับรู้ปัญหา : การยอมรับว่าคุณมีปัญหาในการทำงานมากเกินไป ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ 
  • กำหนดขอบเขตและเวลาการทำงาน : โดยกำหนดเวลาการทำงานที่เหมาะสม และไม่เกินขอบเขตที่สามารถรับได้ แบ่งเวลาให้การพักผ่อนและเรื่องส่วนตัวบ้าง
  • จัดการเวลาอย่างเป็นระบบ : อาจใช้เครื่องมือในการจัดสรรเวลาให้เป็นระบบมากขึ้น เช่น การทำตารางเวลา ตั้งเป้าหมายเวลา
  • ออกกำลังกายและพักผ่อนอย่างเพียงพอ : ให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายเพื่อสร้างพลังงาน ลดความเครียดได้ และให้ความสำคัญกับการพักผ่อน และการนอนหลับให้เพียงพอ เพื่อให้ร่ายกายและจิตใจได้ฟื้นฟูอย่างเต็มที่ อย่างน้อย 7 - 9 ชั่วโมงต่อคืน


 

สุดท้ายนี้ไม่ว่าจะทำงานหนักแค่ไหน ก็อย่าลืมว่างานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตเท่านั้น การดูแลตัวเองก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นเดียวกัน หวังว่าคุณจะสามารถรักษาสมดุลในชีวิตและสุขภาพของคุณในขณะที่ยังคงเร่งรีบในการทำงานที่คุณรักอยู่ เพราะความสมดุลในชีวิตเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความสุขและความสำเร็จร่วมกันทั้งในด้านการงาน และชีวิตส่วนตัว