คำแนะนำด้านอาชีพ | 4 June 2018

ความล้มเหลวไม่ใช่เรื่องเลวร้าย...คำตอบที่มนุษย์เงินเดือนต้องพกติดตัว

 

จากกรณีข่าวการสอบเข้ามหาวิทยาลัยระบบใหม่ที่สร้างความปวดใจให้แก่น้องๆ นักเรียน นักศึกษา หลายคน ทำให้ผมนึกถึงวงจรความล้มเหลวในชีวิตด้านการทำงาน และนำประสบการณ์เหล่านั้นมามองใหม่ในวันที่เติบโตขึ้นครับ

ก่อนหน้าที่จะได้งานผมเคยถูกหลายที่ปฏิเสธไป แต่ผมก็ยังคงพยายามและพยายามจนสุดท้ายก็ได้งานทำ

หากมองที่ปลายประโยคดังกล่าวเราจะชื่นชมต่อความสำเร็จที่ได้งานทำ แต่เมื่อไล่ไปสู่กลางและต้นประโยคจะพบว่าเราประสบความล้มเหลวมาหลายครั้งเพื่อความสำเร็จเพียงครั้งเดียวแล้วรักษามันเอาไว้ให้ได้

ความล้มเหลวจึงเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ และเป็นวงจรที่เกิดขึ้นอยู่เสมอในชีวิตของมนุษย์เงินเดือน ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครอยากล้มเหลวตลอด แต่เราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ถ้าเราอยากต้องการความสำเร็จ คำถามที่สำคัญกว่าการได้รับคำชื่นชมยามบรรลุเป้าหมาย นั้นคือ ในยามที่เราล้มเหลวเราเรียนรู้อะไรจากสิ่งเหล่านั้นบ้าง


ประโยคอมตะจากโทมัส อัลวา เอดิสันที่ได้ทดลองการประดิษฐ์หลอดไฟกว่าหมื่นครั้ง แต่ล้มเหลวไม่เป็นท่า แต่เอดิสันกลับบอกว่า “ผมไม่ได้ล้มเหลว...ผมแค่ค้นพบวิธีที่ไม่ได้ผลหมื่นวิธีที่ไม่ได้ผลแค่นั้นเอง” เมื่อฟังเช่นนั้นความล้มเหลวในการลงมือทำจึงไม่ใช่หนทางนำชีวิตสู่ความล้มเหลวอย่างที่ใครหลายคนคิดไว้ หากแต่เป็นทัศนคติต่อการมองผลลัพธ์ที่ออกมาจากการลงมือทำต่างหากครับ

workventure-ความล้มเหลว-การทำงาน-ชีวิตการททำงาน-thomas


ทัศนคติจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะพัฒนาชีวิตและหน้าที่การงานของเราให้เดินหน้าต่อไปได้

ส่วนหากมองในเชิงวิทยาศาสตร์กับความล้มเหลว จูดิท อิเกลเซอร์ นักมานุษวิทยาองค์กร อธิบายถึงเหตุผลที่คนเรากลัวความล้มเหลวผ่านการทำงานของสมองไว้ได้น่าสนใจครับ

อิเกลเซอร์บอกว่า เมื่อคนเราอยู่ในสถานการณ์ที่หรือการประชุมที่ตึงเครียด และรู้สึกว่าเริ่มเสียเปรียบที่จะได้รับความพ่ายแพ้ สมองของเราจะหลั่งสารคอร์ติซอลอันมาจากความเครียด และสมองส่วนอะมิกดาลา หรือที่เรารู้จักว่าเป็นสมองแบบสัตว์เลื้อยคลานจะทำงานอย่างฉับพลัน ทำให้ไปปิดกั้นความคิดเชิงตรรกะ และพยายามปกป้องตัวเองด้วยการเถียงไปแบบสีข้างแถบขาดเพราะกลัวตัวเองจะล้มเหลวในสายตาคนอื่นๆ

workventure-ความล้มเหลว-การทำงาน-ชีวิตการททำงาน

กรณีดังกล่าวมีสองแนวทางในการคิดต่อครับ คือถ้าการเถียงของเราเอาชนะได้ สมองก็จะหลั่งสารอะดรีนารีนกับโดปามีนมาเป็นรางวัลให้เรารู้สึกดี๊ดีว่าเราชนะพวกเขาได้แล้ว ซึ่งกลไกลักษณะนี้ก็จะถูกนำไปใช้อีกเมื่อเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น จนทำให้เรารู้สึกไม่อยากเป็นผู้พ่ายแพ้หรือล้มเหลวต่อตัวเองและสายตาคนอื่นครับ


แต่ปัญหาไม่ได้จบแค่นี้ ปัญหาที่ใหญ่กว่านี้คือเมื่อเราถกเถียงจนได้ชัยชนะมาเรื่อยๆ  เราจะกลายเป็นคนเสพติดการต้องเป็นฝ่ายถูกอยู่เสมอ โดยไม่ได้สนใจสิ่งใดทั้งสิ้น คือขอถูกไว้ก่อนก็มีความสุขแล้ว

"คำถามสำคัญเลยครับว่าถ้าเราล้มเหลวไม่เป็นแล้วชีวิตจะถูกเติมเต็มด้วยอะไร"

ความว่างเปล่าและวงจรเดิมๆ คือสิ่งที่เราจะได้รับทำให้ศักยภาพการทำงานไม่มีความหลากหลาย และเกิดการนำบทเรียนใหม่ๆ จากความล้มเหลวมาต่อยอดเพื่อเกิดนวัตกรรมการทำงานในวิชาชีพที่เราทำอยู่แน่นอนครับ ซึ่งสอดคล้องกับคำพูดของ ทัล เบนชาฮา นักเขียนและนักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด บอกไว้ว่า เหตุที่คนเรากลัวความล้มเหลว เพราะอยากทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบ คนเราจึงขาดการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์ที่สำคัญต่อการก้าวไปข้างหน้า ฉะนั้นเราควรจำไว้ว่าความผิดพลาดไม่ใช่เรื่องเลวร้าย....ถ้าเราได้ประสบการณ์จากความล้มเหลวครับ

 

เป็นกำลังใจให้คนทำงานทุกคนครับ

ที่มาข้อมูล: หนังสือ Disrupt Yourself