คำแนะนำการหางาน | 14 September 2015

ความผิดพลาด 4 ข้อที่ทำให้คุณไม่ผ่านการสัมภาษณ์งาน!

การสัมภาษณ์งานเป็นโอกาสอันดีที่คุณจะสร้างความประทับใจให้กับนายจ้าง และพิสูจน์ให้พวกเขาเห็นว่าการรับคุณเข้ามาทำงานคือการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุด แต่บางครั้งเราก็พลาด หรือเราอาจจะเตรียมตัวมาไม่ดีพอ สุดท้ายเราก็ทำสิ่งที่ไม่ควรทำ ทำให้คะแนนเราติดลบในสายตาของบริษัท และเราก็กลายมาเป็นผู้สมัครที่ไม่น่าเลือก

Liz Wessel ซีอีโอ และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ WayUp ที่นักศึกษาอเมริกันมักจะใช้เพื่อหางานในบริษัทใหญ่ๆ อย่าง Microsoft, Uber, The New York Times, Disney หรือแม้แต่ Google กล่าวว่า เธอได้เป็นผู้สัมภาษณ์งานมามากกว่า 200 ครั้งในหนึ่งปีที่ผ่านมา และเธอพบกับเรื่องง่ายๆ ที่แม้แต่ผู้สมัครที่เก่งและมีประสบการณ์มากที่สุดก็ยังอาจจะพลาดได้ และนี่ก็คือความผิดพลาดแบบสุดๆ ที่ผู้สมัครไม่ควรจะทำอย่างยิ่ง เพราะมันจะทำให้คุณดูแย่และไม่เหมาะสมที่จะได้รับงานนั้นไปเลยล่ะ

 

 

1. คุณพูดว่าคุณตื่นเต้นแค่ไหน

คุณอาจจะคิดว่ามันดูน่ารักดีเวลาที่ยอมรับว่าคุณตื่นเต้นกับการสัมภาษณ์งานครั้งนี้ แต่จริงๆ แล้ว มันไม่ค่อยดีเท่าไหร่นะ นายจ้างคาดหวังผู้สมัครที่เป็นผู้ใหญ่ ทำงานภายใต้แรงกดดันได้ และสามารถจัดการกับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะพบเจอในที่ทำงานได้เป็นอย่างดี ดังนั้น การพูดว่าคุณตื่นเต้น มันก็เหมือนกับการขอร้องให้พวกเขาสงสารคุณนั่นแหละค่ะ ซึ่งมันก็จะเป็นสัญญาณบอกนายจ้างเหล่านั้นว่า ฉันยังไม่พร้อมจะเป็นผู้ใหญ่นะ!

 

 

2. คุณไม่ได้ทำการบ้านมาดีพอ

Liz เล่าว่า ครั้งหนึ่งเธอเคยเจอผู้สมัครที่เดินเข้ามาแล้วก็ถามว่าเธอเป็นผู้จัดการหรือเปล่า ซึ่งเธอบอกว่า นั่นไม่ใช่วิธีที่ดีในการสร้างความประทับใจแรกพบเอาซะเลย! อย่างไรก็ตาม มันเป็นเรื่องธรรมดามากถ้าคุณจะถามคำถามต่างๆ ที่อยากรู้ ตราบใดที่มันไม่ใช่คำถามโง่ๆ แบบที่คุณควรจะรู้คำตอบอยู่แล้วหรือหาได้ในกูเกิลน่ะนะ

ดังนั้น คุณควรจะเตรียมตัวก่อนมาสัมภาษณ์งาน หาข้อมูลทุกอย่างที่คุณทำได้เกี่ยวกับบริษัท ผู้ก่อตั้ง หุ้นส่วน หัวหน้าในแผนกที่คุณจะไปทำงาน และคนที่จะเป็นคนสัมภาษณ์คุณ นายจ้างต้องการเห็นว่าคุณทำการบ้านมา คุณให้ความสนใจในตัวบริษัทและเรื่องราวของพวกเขา เพราะการเตรียมตัวที่ดีจะทำให้คุณมีคำถามดีๆ ไว้ถามพวกเขา และคำถามดีๆ เหล่านั้นแหละที่จะทำให้คุณกลายเป็นผู้สมัครที่โดดเด่นขึ้นมาได้

 

 

3. คุณตอบคำถามแบบไม่ค่อยตั้งใจ

ผู้สัมภาษณ์ไม่ได้กำลังต้องการแค่ให้คุณตอบคำถาม แต่พวกเขาอยากรู้เรื่องราวเกี่ยวกับคุณ คุณได้ทำอะไรได้บ้าง ดังนั้น เมื่อผู้สัมภาษณ์ถามถึงหน้าที่ของคุณตอนที่เป็นประธานชมรม หรือสิ่งที่คุณทำตอนเป็นนักศึกษาฝึกงาน อย่าตอบแค่ว่า “อ๋อ มันก็ไม่มีอะไรมาก ทำนู่นทำนี่ สนุกดีครับ/ค่ะ” คำตอบแบบนั้นน่ะ ฆ่าตัวตายเชียวนะ เวลาเจอคำถามแบบนี้ คุณควรจะเล่าว่า คุณได้เรียนรู้อะไรจากสิ่งเหล่านั้นบ้าง คุณเคยพบเจอปัญหาอะไร และคุณแก้มันยังไง ซึ่งสิ่งเหล่านี้แหละ เป็นสิ่งที่พวกเขาอยากได้ยิน

4. คุณไม่มีคำถามที่จะถามพวกเขากลับ

แทบทุกครั้งหลังจบการสัมภาษณ์ ผู้สัมภาษณ์มักจะถามคุณว่า “มีคำถามอะไรไหมครับ/คะ” คุณอาจจะคิดว่าพวกเขาก็ถามตามมารยาทไปอย่างนั้นเอง แต่จริงๆ ไม่ใช่นะคะ การไม่ถามคำถามกลับอาจจะแสดงให้พวกเขาเห็นได้ว่า คุณไม่ได้ใส่ใจ หรือไม่สามารถแก้ปัญหาแบบปัจจุบันทันด่วนได้

ข่าวดีก็คือ การเตรียมคำถามเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้จะสามารถทำให้คุณดูโดดเด่นขึ้นมาได้เลยล่ะ ดังนั้น คุณควรจะมีคำถามในหัวประมาณ 3 ข้อ เพื่อจะได้มั่นใจว่ามันต้องมีสักข้อที่ใช้ได้ และแทนที่จะถามคำถามง่ายๆ แบบ “ปกติที่นี่ทำงานกันอย่างไรครับ/คะ” ก็ลองถามอะไรที่มันฟังดูมืออาชีพขึ้น เช่น “ส่วนที่ยากที่สุดในงานของคุณคืออะไรครับ/คะ” หรือ “มีอะไรที่คุณคิดว่าบริษัทจะควรจะแก้ไขให้ดีขึ้นบ้างครับ/คะ”

การถามคำถามเมื่อจบการสัมภาษณ์จะทำให้การสัมภาษณ์นี้ดูเป็นบทสนทนามากกว่าการถาม-ตอบแบบทั่วไป และมันยังเป็นเวลาที่คุณสามารถแสดงให้พวกเขาเห็นถึงความกระตือรือล้นของคุณได้ด้วย และการถามคำถามพวกเขากลับก็ไม่ได้ทำร้ายใคร การเตรียมตัวที่ดีเป็นเรื่องสำคัญมาก บางครั้ง การแกล้งทำเป็นว่าคุณมั่นใจ ก็อาจจะสร้างความมั่นใจขึ้นมาได้จริงๆ และบางที พอคนรอบๆ ตัวนั้นทำตัวสบายๆ ผลกระทบจากความสบายๆ นั้นก็จะทำให้คุณรู้สึกไม่เครียดได้เช่นกัน