คำแนะนำด้านอาชีพ | 18 June 2018

หัวหน้าเป็นอย่างนั้นแล้วฉันควรเป็นอย่างไร...

หัวหน้าเป็นอย่างนั้นแล้วฉันควรเป็นอย่างไร...ไปรู้จักกับประเภทของหัวหน้าที่หลายคนอยากได้และอยากร้องไห้ไปตามๆกัน

workventure-การทำงาน-หัวหน้างาน-พนักงาน

หลังผ่านการสัมภาษณ์งานเข้ามาแล้ว อีกด่านหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับมนุษย์เงินเดือนคือ เราจะสามารถเข้ากับหัวหน้าเราได้ไหม หากถามว่าทำไมถึงเขียนประเด็นนี้ เพราะจากประสบการณ์หัวหน้าคือ

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะทำให้หน้าที่การงานเราไม่ก้าวหน้าก็ถอยหลังครับ

เอาเข้าจริงหัวหน้ามีหลายรูปแบบ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับลักษณะของระบบการทำงาน และวัฒนธรรมองค์กรด้วย แน่นอนว่าหากใครทำงานเอกชนก็จะเจอเจ้านายที่ขยัน มุ่งมั่น และมีเป้าหมายมากพอสมควร ส่วนใครที่อยู่ในแวดวงรัฐวิสาหกิจ หรือราชการ ก็อาจจะอยู่ในขั้นตรงข้ามกับลักษณะที่เพิ่งเอ่ยไปบ้าง


หัวหน้านั้นสามารถจำแนกตามข้อมูลของ Daniel Goleman ที่ได้เขียนหัวข้อเรื่อง Primal Leadership: Realizing the Power of Emotional Intelligence จาก Harvard Business School ของปี 2013 ซึ่งแบ่งประเภทของหัวหน้าออกเป็น 6 แบบดังนี้ครับ


1. หัวหน้าที่มีวิสัยทัศน์ (Visionary)

workventure-การทำงาน-หัวหน้างาน-พนักงาน-

หัวหน้าประเภทนี้มีข้อดีมากๆ คือการวางแผนเพื่ออนาคตในการทำงาน และจะมุ่งมั่นในการหาแผนการเพื่อไปให้ถึงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ครับ บุคลิกและลักษณะของหัวหน้าแบบนี้ที่คุณจะเจอคือ การเปิดกว้างและการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คุณในการทำงานครับ

วิธีปรับตัว

  • แสดงความกระตือรือร้นในการทำงาน

  • รับฟังต่อไอเดียใหม่ๆ และจดจ่ออยู่กับเป้าหมายครับ

  • แลกเปลี่ยนความคิดและความเป็นไปได้ในการทำงานเป็นทีม


2. หัวหน้าแบบโค้ช (Coach)

ถ้าหัวหน้าของคุณเป็นประเภทที่ชอบกระตุ้นคุณผ่านทั้งคำพูดหรือการยกเป้าหมายมาให้ได้ยินบ่อยๆ ละก็ขอให้รู้ไว้เลยว่าคุณกำลังเจอหัวหน้าประเภทโค้ชอยู่จ้า ข้อดีของหัวหน้าประเภทนี้คือ การสร้างแรงจูงใจในการทำงาน และการให้ความไว้เนื้อเชื่อใจนั่นเอง

วิธีปรับตัว

  • ลองเปิดรับประเด็นของปัญหาและความต้องการของโค้ช

  • นิยามความสำเร็จให้ชัดเจนและสร้างความมั่นใจให้ตัวเองเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย

  • หัดเรียนรู้จากความผิดพลาด


3. หัวหน้าที่เน้นความสัมพันธ์ (Affiliative Boss)

workventure-การทำงาน-หัวหน้างาน-พนักงาน

หัวหน้าประเภทนี้จะเน้นสร้างความรู้สึกให้ทีมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รวมถึงให้ความสำคัญกับการสร้างมิตรภาพในการทำงานเป็นอย่างยิ่ง เรียกได้ว่าถ้าทีมของคุณเกิดสปิริตในการทำงาน นั่นคือคุณกำลังเจอหัวหน้าประเภทนี้อยู่ครับ ซึ่งจุดข้อสังเกตมีอยู่สองข้อ คือ มีความไว้เนื้อเชื่อใจ และแอบมีความใจดีนั่นเองครับ

วิธีปรับตัว

  • สร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน

  • พร้อมที่จะรับฟีดแบ็กจากคนอื่นๆ


4. หัวหน้าแบบกลางๆ (Democratic Boss)

หัวหน้าประเภทนี้มักจะคอยเติมความรู้ให้ลูกน้องอยู่เสมอ เพื่อให้การทำงานเกิดความร่วมมือ แลกเปลี่ยน และไปสู่ความสำเร็จได้นั่นเอง ถ้าหัวหน้าของคุณมีลักษณะไว้เนื้อเชื่อใจในเชิงให้ปฏิบัติการ กับการมีส่วนร่วมแบบจริงจังแล้ว นั่นแสดงว่าคุณกำลังเจอหัวหน้าแบบเป็นกลางอยู่จ้า

วิธีปรับตัว

  • ลองแสดงความคิดเห็นบ้างในการประชุม

  • ตั้งใจฟังความคิดเห็นจากเพื่อนร่วมงาน

  • อย่าตัดสินใจยอมรับปัญหาถ้ายังไม่ชัดเจน


5. หัวหน้าจอมบงการ (Commander)

workventure-การทำงาน-หัวหน้างาน-พนักงาน

ใครเจอหัวหน้าประเภทนี้ก็จะเหนื่อยกายและใจแน่นอน เพราะเขาจะเอาแต่คอยสั่งให้คุณทำไปตามที่เขากำหนดเท่านั้น สิ่งที่สังเกตได้คือ มีความเผด็จการ และคอยเจ้ากี้เจ้าการต่อสิ่งที่เขาต้องการโดยไม่ค่อยฟังใครครับ

วิธีปรับตัว

  • ทำๆ ตามที่เขาสั่งไปก่อน

  • จดจ่อที่ผลลัพธ์เท่านั้น อย่าไปใส่ใจเรื่องหน้าที่มาก

  • ลองนำเสนอหนทางแก้ไขปัญหา ถ้าคุณยังไม่แน่ใจต่อความต้องการของหัวหน้า


6. หัวหน้าที่น่าเอาเยี่ยงอย่าง (Pacesetater)

หัวหน้าประเภทนี้มักจะมีเป้าหมายให้ทีมได้รับรู้พร้อมกับปริมาณความต้องการที่ชัดเจน โดยมักจะตั้งเป้าหมายที่ให้ความรู้สึกท้าทายให้แก่ทีมเพื่อได้พบผลลัพธ์อะไรใหม่ๆ เสมอ และไม่กลัวการทำงานหนัก แถมยังพร้อมที่จะช่วยเหลือลูกทีมอยู่เสมออีกด้วย

วิธีปรับตัว

  • ทำงานให้หนักและพยายามใช้ความสามารถออกมาให้ดีที่สุด

  • ถามถึงเป้าหมายที่เขาต้องการให้ชัดเจนที่สุด

  • แบ่งปันความคิดและอัปเดตกระบวนการทำงานบ่อยๆ


ทั้งหมดก็เป็นประเภทของหัวหน้าโดยรวมๆ ที่ผมเอามาฝากผู้อ่านกันครับ ไม่รู้ว่าหัวหน้าของแต่ละคนเป็นหัวหน้าประเภทไหนบ้าง แต่เชื่อว่าหัวหน้าทุกประเภทจะมีข้อดีอยู่แน่ๆ สุดท้ายไม่ว่าคุณจะอยู่กับเขายาวหรือสั้น

จงเรียนรู้ความสามารถและมุมมองที่ดีจากเขา

เผื่อว่าวันข้างหน้าถ้าเราเป็นหัวหน้าบ้าง เราจะได้นำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานและขับเคลื่อนทีมให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ครับ

อ้างอิง : https://www.entrepreneur.com/article/299176


โอมศิริ-workventure