
วิธีดูแลตัวเองเมื่อป่วยในวันที่ต้องทำงาน
เคยมั้ย? วันที่งานสำคัญรออยู่ แต่กลับป่วยจนแทบลุกจากเตียงไม่ไหว บางคนอาจเลือกที่จะฝืนไปทำงานด้วยความกังวลว่างานจะล่าช้าหรือเสียหาย แต่คุณรู้หรือไม่ว่าการฝืนทำงานขณะที่ร่างกายไม่พร้อมนอกจากจะทำให้งานของคุณไม่มีประสิทธิภาพเเล้วยังอาจทำให้อาการแย่ลงเเละส่งผลเสียในระยะยาวอีกด้วย แล้วจะทำอย่างไรดีถ้าป่วยแต่ก็หยุดไม่ได้? วันนี้ WorkVenture พร้อมแชร์วิธีง่ายๆ ที่จะช่วยให้คุณดูแลสุขภาพตัวเองพร้อมจัดการงานสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ในวันที่ป่วยร่างกายไม่พร้อมที่สุด เพื่อให้คุณสามารถฟื้นตัวได้ไว และพร้อมกลับมาทำงานอย่างเต็มที่อีกครั้ง
ประเมินอาการตัวเองก่อนตัดสินใจไปทำงาน
ก่อนที่จะตัดสินใจลุกขึ้นไปทำงาน ลองถามตัวเองสักนิดว่าร่างกายของคุณพร้อมจริงๆ หรือเปล่า เพราะการฝืนไปทำงานในขณะที่ป่วยหนัก ไม่เพียงส่งผลกระทบกับทำงานที่อาจไม่ได้คุณภาพเท่านั้น แต่ยังอาจทำให้อาการป่วยของคุณแย่ลง
Checklist ง่ายๆ เพื่อช่วยให้คุณตัดสินใจ:
-
คุณมีไข้สูงหรือไม่? (เกิน 37.5 องศาเซลเซียส)
-
คุณรู้สึกอ่อนเพลียจนไม่สามารถทำงานได้นานๆ หรือไม่?
-
คุณมีอาการปวดศีรษะรุนแรงจนโฟกัสกับงานไม่ได้หรือเปล่า?
-
คุณมีอาการไอ จาม หรือน้ำมูกไหลอย่างต่อเนื่องหรือไม่?
-
คุณมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสียอย่างหนักหรือไม่?
-
คุณมีอาการปวดเมื่อยร่างกายรุนแรงจนไม่สามารถเคลื่อนไหวได้สะดวกหรือไม่?
-
คุณมีอาการเจ็บคอจนแทบไม่สามารถพูดหรือกลืนอาหารได้หรือไม่?
-
คุณนอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิทมาหลายวันติดกันหรือไม่?
ถ้าคุณตอบ "ใช่" มากกว่า 3 ข้อ ขึ้นไป การหยุดพักเพื่อพักฟื้นร่างกายที่บ้านจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับคุณ เเต่ถ้าหากคุณเช็กแล้วพบว่าร่างกายยังพอไหวและพร้อมที่จะทำงานต่อ ก็ต้องไม่ลืมว่าการดูแลสุขภาพตัวเองในขณะที่ป่วยคือสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้งานออกมาดีและสุขภาพไม่ทรุดหนักลงไปอีก ถ้าพร้อมแล้ว…ไปดูวิธีดูแลตัวเองในวันที่คุณต้องทำงานขณะป่วยกันเลย
1. ทำงานเฉพาะที่สำคัญและเร่งด่วนเท่านั้น
เมื่อคุณต้องทำงานในขณะที่ป่วย สิ่งสำคัญที่สุดคือ "การเลือกทำเฉพาะงานที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น" คุณไม่จำเป็นต้องฝืนทำทุกงานที่มีอยู่ทั้งหมด เพราะยิ่งคุณทำงานมากเท่าไหร่ สุขภาพของคุณก็ยิ่งแย่ลงไปเรื่อยๆ โดยคุณสามารถใช้เทคนิคบริหารเวลาอย่างง่ายที่เรียกว่า "กล่องไอเซนฮาวร์ (The Eisenhower Box)" ซึ่งเทคนิคนี้ถูกคิดค้นโดย ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา โดยได้แบ่งประเภทงานออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
-
สำคัญและเร่งด่วน (Important & Urgent)
เช่น งานที่มี Deadline วันนี้, การประชุมสำคัญที่จำเป็นต้องเข้าร่วม, นัดหมายสำคัญกับลูกค้า
ข้อแนะนำ: ควรโฟกัสแค่กลุ่มนี้เป็นหลักเมื่อป่วย -
สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน (Important but Not Urgent)
เช่น การวางแผนโครงการระยะยาว, การเตรียมสไลด์พรีเซนต์งานสัปดาห์หน้า
งานกลุ่มนี้สามารถเลื่อนออกไปทำภายหลัง เมื่อคุณหายป่วยหรือมีสุขภาพดีขึ้นแล้ว -
ไม่สำคัญแต่เร่งด่วน (Not Important but Urgent)
เช่น ตอบอีเมลทั่วไป, รับโทรศัพท์ทั่วไป
คุณควรมอบหมายงานประเภทนี้ให้เพื่อนร่วมงานหรือทีมของคุณช่วยจัดการแทน -
ไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน (Not Important & Not Urgent)
เช่น การเช็กอีเมลที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานหลัก, การอัปเดตโซเชียลมีเดีย
งานกลุ่มนี้ควรงดหรือเลื่อนออกไปก่อน เพราะเป็นการสิ้นเปลืองพลังงานโดยไม่จำเป็น
หากคุณจำเป็นต้องทำงานในวันที่คุณป่วย การจัดลำดับงานให้ดีจะช่วยให้คุณผ่านพ้นวันไปได้ง่ายขึ้นมาก สิ่งที่คุณควรทำคือเลือกเฉพาะงานที่ “สำคัญและเร่งด่วน” ส่วนงานอื่นที่ไม่สำคัญหรือยังรอได้ คุณควรมอบหมายหรือเลื่อนออกไปก่อน เพื่อให้คุณมีเวลาเพียงพอในการดูแลตัวเองและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
2. ทำงานให้เสร็จตั้งแต่ครึ่งเช้า
ตามกฎหมายแรงงาน คุณสามารถลาป่วยได้สูงสุดถึง 30 วันต่อปี ดังนั้นหากคุณลองประเมินตัวเองแล้วพบว่ายังพอไหวอยู่ แนะนำให้รีบเคลียร์งานสำคัญที่ค้างไว้ให้เสร็จภายในช่วงเช้า แล้วใช้สิทธิ์ลาป่วยในช่วงบ่ายเพื่อกลับไปพักผ่อนอย่างเต็มที่ เเต่อย่าลืมว่าอย่าฝืนตัวเองมากจนเกินไป เพราะจะทำให้อาการป่วยอาจหนักขึ้นได้ง่ายๆ เเละควรไปพบแพทย์เพื่อเช็กอาการให้แน่ชัดเสมอ แม้ว่าบริษัทของคุณอาจจะไม่ได้ขอใบรับรองแพทย์ในทุกครั้ง แต่ก็ขอแนะนำให้ขอใบรับรองติดตัวไว้ เผื่อจำเป็นต้องนำมายืนยันกับฝ่ายบุคคล โดยสามารถแจ้งแพทย์ให้ระบุข้อมูลสำคัญในใบรับรองตามนี้ได้เลย
-
วันที่เข้ารับการตรวจ
-
ผลการวินิจฉัยเบื้องต้น
-
ระยะเวลาที่แพทย์แนะนำให้พัก
3. พักเบรกระหว่างวันให้มากขึ้น
หากคุณตัดสินใจว่าจำเป็นต้องไปทำงานในวันที่ป่วยจริงๆ สิ่งที่คุณควรทำคือเพิ่มการพักผ่อนเล็กๆ น้อยๆ ในช่วงวันทำงานของคุณด้วย แม้จะเป็นการพักเพียง 5-10 นาทีต่อครั้ง เพื่อให้ร่างกายของคุณได้ฟื้นตัวไม่อ่อนล้าจนเกินไป และลดความเครียดที่อาจเกิดขึ้นระหว่างวันได้
คุณสามารถพักเบรกง่ายๆ ในที่ทำงานได้ เช่น:
-
พักสายตาสั้นๆ ทุกๆ ชั่วโมง
ในวันที่คุณป่วย ร่างกายและสมองของคุณจะทำงานหนักกว่าปกติ และอาจเกิดอาการล้าจากการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ต่อเนื่องนานๆ ได้ง่าย วิธีที่ช่วยได้ดีที่สุดคือการพักสายตาสั้นๆ ทุกๆ ชั่วโมง โดยคุณสามารถหลับตาเบาๆ เป็นเวลา 1-2 นาที หรือจะลุกเดินไปมองไกลๆ นอกหน้าต่างสักครู่ก็ได้ การทำแบบนี้จะช่วยลดอาการปวดตา ลดความเครียดในสมอง และยังทำให้คุณรู้สึกสดชื่นขึ้นได้ด้วย
-
ดื่มน้ำบ่อยขึ้นและลุกเดินบ้าง
แม้การจิบน้ำอาจดูเหมือนเรื่องธรรมดา แต่การดื่มน้ำเป็นระยะจะช่วยให้คุณรักษาความชุ่มชื้นในร่างกายขณะป่วยได้ดีขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น การลุกเดินไปเติมน้ำหรือเข้าห้องน้ำบ่อยๆ ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยให้คุณได้เคลื่อนไหวร่างกาย เปลี่ยนอิริยาบถ ลดความเมื่อยล้าจากการนั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน และยังช่วยให้คุณมีสมาธิและรู้สึกกระปรี้กระเปร่าได้มากขึ้นอีกด้วย
-
งีบสั้นๆ ในที่ที่เหมาะสม
บางครั้งอาการป่วยก็อาจทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยล้าจนแทบจะลืมตาไม่ไหว การฝืนหลับที่โต๊ะทำงานอาจดูไม่เหมาะสมและไม่เป็นมืออาชีพ วิธีที่ดีกว่าคือ การหาสถานที่สงบ เช่น ห้องพักพนักงาน หรือบริเวณที่เงียบๆ เพื่อหลับตาพักผ่อนสัก 5-10 นาที แม้จะเป็นเวลาเพียงสั้นๆ แต่การพักแบบนี้จะช่วยให้คุณมีแรงและรู้สึกสดชื่นมากขึ้น พร้อมที่จะกลับไปจัดการงานที่เหลือต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าเดิม
สุดท้ายนี้ ไม่ว่างานของคุณจะสำคัญหรือเร่งด่วนมากแค่ไหน สุขภาพของคุณก็ยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเสมอ การดูแลตัวเองในวันที่ป่วย ไม่ได้หมายความว่าคุณละเลยงานที่ต้องรับผิดชอบ แต่เป็นการช่วยให้คุณสามารถจัดการงานสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด โดยที่ร่างกายก็ยังได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมด้วย
อย่าลืมว่าการฝืนร่างกายขณะป่วย อาจทำให้งานไม่มีคุณภาพและอาจส่งผลให้สุขภาพแย่ลงกว่าเดิมในระยะยาว หากคุณรู้สึกว่าอาการหนักเกินไป การหยุดพักผ่อนและพบแพทย์จะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด แต่ถ้าร่างกายยังพอไหวอยู่ ก็ขอให้คุณลองนำเทคนิคง่ายๆ ที่เราแนะนำไปปรับใช้ เพื่อให้คุณผ่านพ้นวันหนักๆ นี้ได้อย่างราบรื่นทั้งในแง่ของงานและสุขภาพของตัวคุณเอง