คำแนะนำด้านอาชีพ | 19 August 2022

วิธีการทำงานกับชาวต่างชาติ ที่จะทำให้คุณมีแต่ได้กับได้

 

สวัสดีผู้อ่านทุกคนครับ...เผลอเดี๋ยวเดียวก็ย่างเข้าสู่ครึ่งปีหลังแล้ว เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วจริงๆ เร็วจน New Year Solution ยังไม่ได้เริ่มทำเลยสักข้อ แต่อย่าเพิ่งท้อไปครับยังมีเวลาเหลือในการแก้ตัว พอเขียนถึง New Year Resolution ก็นึกถึงคำถามที่ได้รับจากผู้ติดตามเพจของผม ส่วนใหญ่มักทักทายมาพูดคุยเรื่องการทำงาน และปรึกษาในเชิงการพัฒนาตัวเองเพื่อให้มีศักยภาพดีขึ้นในการทำงาน ซึ่งมีคำถามมากมาย แต่มีคำถามหนึ่งที่ถามว่า มีหัวหน้าเป็นคนต่างชาติแล้วควรจะทำงานกับเขาอย่างไรดี คำถามนี้มองดีๆ ถือว่าคนถามนั้นมีกำไรกว่าผมด้วยซ้ำ เพราะ

การทำงานกับคนต่างชาติ นอกเหนือจะได้เรียนรู้ภาษาแล้ว ยังเรียนรู้วัฒนธรรมการทำงานแบบของต่างชาติด้วย

ผมเลยแนะนำวิธีคิดของผมไปแบบกว้างๆ ก่อนว่า หากเกิดคำถามในความคิดว่าจะทำงานร่วมกับหัวหน้าคนละเชื้อชาติอย่างไร เลยลองให้กลับไปพิจารณาวัตถุประสงค์ของการทำงานที่ปัจจุบันไปก่อนว่าที่เข้ามาทำนั้นเพราะเหตุใด โดยขอตัดเรื่องค่าตอบแทนและสวัสดิการออกไปก่อน

หากวัตถุประสงค์อันดับต้นๆ คือ อยากเรียนรู้ เพื่อพัฒนาตัวเอง และสร้างเครดิตประวัติการทำงาน นี่คือโอกาสทองมากกว่าการมองว่ามันคือปัญหาที่เราควรจะยื่นใบลาออกและถอยหนี เพราะการทำงานกับเพื่อนร่วมงานที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติจะทำให้เราเห็นมิติการทำงานแบบพลเมืองโลก ซึ่งเป็นต้นทุนต่อโอกาสในการทำงานในอนาคตมากกว่าใครหลายๆ คนเลยทีเดียว

 

 

อดีตที่ปรึกษาของผมเคยสอนเรื่องการขโมยวิธีการทำงานแบบลูกครึ่งให้ฟังได้อย่างน่าสนใจ เขาสอนว่าลองมองหาจุดแข็งในการทำงานของแต่ละชาติเพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ หรือสร้างความสอดคล้องต่อวัฒนธรรมขององค์กรที่ทำอยู่ เช่น วัฒนธรรมการทำงานของไทยมักมีความประนีประนอม หากใช้อย่างพอดีก็อาจทำให้ไม่มีศัตรูมากนัก แต่ถ้าใช้จนเกินความพอดี การงานก็อาจไม่เดินหน้า และทำให้งานมีปัญหาได้ในระยะยาว

 

 

ดังนั้น การหยิบโมเดลวัฒนธรรมการทำงานแบบญี่ปุ่นในแง่มุมของความเอาจริงเอาจัง และความมีวินัยมาช่วยสนับสนุนต่อกระบวนการทำงานก็จะทำให้เกิดความข้มเข้นในการทำงานมากขึ้น อย่างน้อยเมื่อเรามองย้อนตัวเองกลับไป เราจะได้ไม่พบว่าตัวเองเป็นคนทำงานสไตล์ เช้าชาม...เย็นชาม ไปวันๆ ซึ่งนอกจากไม่เกิดผลดีต่อตัวเองในระยะยาวแล้ว เรายังสูญเสียต้นทุนเรื่องเวลาที่ผ่านไปอย่างไร้คุณค่าอีกด้วย

พอเขียนถึงเรื่องเวลา ซึ่งเป็นเรื่องสุดท้ายและสำคัญมากๆ ที่มนุษย์เงินเดือนหลายคนลืมให้ความสำคัญ ที่ปรึกษาจึงอยากให้เอาเยี่ยงอย่างการรักษาเวลาแบบวัฒนธรรมของชาวตะวันตก ซึ่งถือเป็นเกณฑ์ในการวัดความเป็นมืออาชีพอันดับแรกของมนุษย์เงินเดือนเลยทีเดียว ถ้าเรารักษาเวลาในการมาประชุม หรือการนัดพบปะไม่ได้แล้ว มันก็สะท้อนว่าเราไม่สามารถดูแลหรือรักษาโปรเจกต์ที่มีมูลค่ามากกว่าค่าจ้างของเราไม่ได้หรอก

 

 

ทั้งหมดเป็นวิธีคิดจากประสบการณ์ของผมที่เคยเรียนรู้มาจากการทำงานเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งผมเชื่อว่ามีอีกหลายคนที่มีประสบการณ์ด้านนี้มากกว่าผม หากมีข้อเสนอแนะหรือเรื่องราวที่อยากจะแชร์เพื่อให้เกิดความรู้และมุมมองที่กว้างมากขึ้น ผมยินดีมากๆ ครับ แต่สุดท้ายแล้วการหยิบวัฒนธรรมแต่ละส่วนไปใช้นั้นก็ต้องหาจุดร่วมของความพอดีนะครับ เพราะถ้าสัดส่วนไหนมากเกินไปแล้วดันไปอยู่ผิดที่ผิดทาง ผลลัพธ์ที่ออกมาก็อาจไม่เวิร์กก็ได้ 


โอมศิริ