คำแนะนำด้านอาชีพ | 3 July 2018

พิษร้ายของความสำเร็จ

ปัญหาหลักในแวดวงการทำงานที่น่าปวดหัวที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องคน

เพราะคนคือทรัพยากรที่ทุกองค์กรล้วนต้องพึ่งพา หากได้คนดีมีปัญญาและอารมณ์ที่คงที่ก็นับว่าโชคดี แต่หากเป็นตรงกันข้ามนั้นก็น่าปวดหัวไม่มากก็น้อยพอสมควร

ความน่าปวดหัวกับคนที่ต้องร่วมงานกันนั้นมีหลายรูปแบบ ทว่ารูปแบบหนึ่งที่เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยประสบพบเจอคือคนทำงานเก่งและมีฝีมือระดับจอมยุทธ์พร้อมพ่วงด้วยอีโก้ที่สูงทะลุปรอท ที่ใครก็เข้าหาและแลกเปลี่ยนด้วยยากมาก ซึ่งนี่เป็นต้นเหตุให้เกิดปัญหาการทำงานด้านอื่นๆ ตามมา ทั้งในเชิงบรรยากาศและความสัมพันธ์ในที่ทำงาน จนอาจเกิดการแบ่งก๊ก แบ่งพวก และแข่งกันเอาเป็นเอาตาย หากใครพลาดก็รอซ้ำ จนเกิดรอยร้าวจากเล็กไปสู่แผลในใจที่ยาแผนใดก็เอาไม่อยู่


คำถามคือเจ้าของบริษัทหรือผู้ถือหุ้นอาจชื่นชอบในการแข่งกันทำงานเพื่อให้ผลงานออกมาดีที่สุด แต่หากถามในแง่มุมของพนักงานที่ต้องทำงานอยู่ด้วยกันนั้น ปัญหาลักษณะนี้คงไม่มีใครอยากจะให้เกิดขึ้นแน่ๆ

พิษร้ายของความสำเร็จ-โอมศิริ-workventure

ส่วนอีโก้ต้นเหตุที่เกิดขึ้นมานั้น ส่วนใหญ่ามักเกิดจากการยึดความสำเร็จในอดีตที่สั่งสมมาทำให้เกิดความเชื่อมั่นในความคิดของตัวเอง จนนำไปสู่การเบียดเบียนความคิดและความสามารถของผู้อื่น ตรงนี้น่าจะเป็นเรื่องดีหากเราหรือเพื่อนเราที่มีอาการดังกล่าวทำงานอยู่ในบริษัทหรือองค์กรที่มีวัฒนธรรมการทำงานแบบตะวันตก


หากยังอยู่ในองค์กรแบบไทยไทยก็ถือเป็นจุดที่ต้องระมัดระวังสำหรับการทำงานมากๆ เพราะอย่างที่รู้กันสังคมทำงานแบบไทยมักจะชอบคนเก่งที่ถ่อมตัวและสามารถเปิดกว้างให้คนเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ให้มีสนามได้เกิดการแลกเปลี่ยนมากกว่าการเผด็จการเชิงความคิดแบบทื่อๆ อันนี้ก็ต้องอยู่ที่จริตและการปรับตัวของแต่ละคนไปละครับ แต่คำถามสำคัญกว่านั้นที่จะชวนคิดคือ

คนเก่งที่ยึดความสำเร็จมากๆ นั้น คือคนที่กำลังหลงกลกับดักความสำเร็จและความเก่งกาจที่สร้างขึ้นมาด้วยตัวเองหรือเปล่า?


แจ๊ค หม่า ผู้บริหารแห่งอาลีบาบา ได้แบ่งปันมุมมองและประสบการณ์ในการทำงานภายใต้ความทะเยอทะยานและความภาคภูมิใจกับความสำเร็จที่มากจนเกิดไป จนเกิดกับดักทั้งเชิงความคิดและพฤติกรรมในการทำงานต่อตนเองและองค์กรที่อาจส่งผลร้ายในระยะยาวหากไม่รีบแก้ไข

แจ๊คหม่าบอกว่าอาการหลงความสำเร็จนั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 อาการหลักคือ อาการมองไม่เห็น ไม่เคารพ และไม่เข้าใจ หากเกิดอาการเหล่านี้ครบถ้วนผลลัพธ์สุดท้ายคือบริษัทหรือองค์กรจะชิบหายแน่นอนครับ


พิษร้ายของความสำเร็จ-โอมศิริ-workventure

อาการมองไม่เห็นนั้นไม่ได้หมายถึงความพิการทางสายตา หากแต่เป็นความพิการต่อการให้ความสำคัญแก่บุคลากรตัวเล็กๆ ที่อยู่ในองค์กร ซึ่งจากมุมมองผมปัญหาลักษณะนี้ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับคนตำแหน่งคนใหญ่คนโต ซึ่งก็ไม่แปลกที่เขาอาจจะไม่สนใจ แต่ในทาตรงกันข้าม หากพวกเขามีความใส่ใจจนพนักงานตัวเล็กๆ รับรู้ได้ถึงความห่วงใยหรือใส่ใจ เชื่อเถอะว่าพนักงานเหล่านี้จะเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนทุกอย่างๆ ให้ผ่านพ้นไปได้อย่างเต็มกำลังแน่นอน

อาการที่สองคือการเคารพไม่เป็น ก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่แสดงออกถึงการแบ่งพรรคแบ่งพวก และเป็นนัยว่าไม่พึงพอใจอะไรบางอย่าง หรือมองว่าไม่มีประโยชน์ต่อกันจึงไม่ต้องแสดงออกผ่านการเคารพแต่อย่างใด

หากทั้งสองอาการดังกล่าวกำเริบหนักขึ้นจนเกิดความไม่เข้าใจอะไรทั้งสิ้นในสิ่งต่างๆ ที่อยู่ล้อมรอบตัวเรา และยังทำให้บริษัทหรือองค์กรที่เราอยู่ล่มจมได้หากทัศนคติเช่นนี้เกิดขึ้นกับคนที่มีอำนาจ ส่วนในระดับบุคคลก็น่าจะอยู่ยากและลำบากพอสมควร หากไม่มีจำนวนมิตรที่เข้าใจมากกว่าศัตรูที่ถูกสร้างขึ้นมาจากความคิดและการกระทำนั่นเอง

เรียกได้ว่าถ้ามีดีก็อย่าอวดดีเกินกว่าเหตุ แต่ควรนำความดี ความเก่ง นั้นมาช่วยส่งเสริมกัน แล้วสิ่งเหล่านั้นจะส่งเสริมเรากลับมากกว่าหลายเท่าเลยทีเดียว


ทีนี้มีคำถามที่น่าสนใจว่า แล้วเราจะจัดการกับคนทำงานที่มีอีโก้สูงๆ อย่างไร บังเอิญผมได้อ่านเจอความคิดการบริหารคนของคุณบุญเกียรติ โชควัฒนา ประธานบริหาร บริษัท ไอ ซี ซี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มหาชน ที่มีความคิดสร้างสรรค์คนในองค์กรที่มีอีโก้สูงๆ ได้เฉียบมากครับ

คุณบุญเกียรติเล่าว่า ปกติแล้วสูตรของการนำพาความสำเร็จขององค์กรก็คือการใช้คนที่มีความสามารถให้มาทำงานที่เข้าถนัดที่สุด หรือที่เรามักได้ยินประโยคที่ว่า Put the Right Man on the Right Job นั่นคือหลักการที่หลายองค์กรใช้กันแล้วประสบความสำเร็จ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ถูกต้อง ทว่าคุณบุญเกียรติมองลึกไปกว่านั้น คุณบุญเกียรติไม่ได้เน้นแค่อยากได้คนเก่งอย่างเดียว แต่ต้องเป็นคนเก่งที่ดี และคิดบวกเป็นด้วย


ดังนั้น การที่ได้คนเก่งมาพร้อมกับอีโก้สูงๆ  ทำให้เกิดบรรยากาศที่ย่ำแย่ แถมดูถูกความคิดของคนอื่นๆเป็นความเลวร้ายขององค์กรแน่นอน คุณบุญเกียรติเลยบิดประโยคดังกล่าวนั้นใหม่เป็น

"Put the Right Man on the Wrong Job"


เรียกได้ว่าเป็นแนวคิดที่สวนกระแสเอามากๆ คุณบุญเกียรติให้เหตุผลว่า คนเก่งส่วนใหญ่มักมีความหลงตัวเอง และหลงในงานที่ตัวเองทำที่เรียกว่าอีโก้ จนไม่ยอมฟังใครทั้งสิ้น ซึ่งการใช้แนวคิดนี้นำใช้กับกลุ่มคนเหล่านี้ จะทำให้เขาได้เรียนรู้ว่ายังมีงานอื่นอีกมากที่เขาไม่ถัดและไม่เก่งไปซะทุกเรื่อง พวกเขาจะได้เกิดความถ่อมตัว และหัดไปขอความรู้จากคนอื่นๆ  และวิธีนี้ยังเป็นการบ่มเพาะจิตใจให้แก่คนทำงานเพื่อรอวันเติบใหญ่ในอนาคต ให้มีทั้งความเก่ง ความดี และความคิดบวก อยู่ในตัวของพวกเขาด้วย

พิษร้ายของความสำเร็จ-โอมศิริ-workventure-2

ปัญหาเรื่องคนยังมีอีกมากมาย และยังคงมีอีกหลายบริษัท หลายองค์กร ที่กำลังเผชิญกับปัญหาเหล่านี้อยู่ เอาเป็นว่าถ้าใครได้อ่านบทความนี้และคิดว่าข้อมูลกับแนวคิดมีประโยชน์ก็ลองเอาไปปรับใช้ดู ส่วนใครที่กำลังโหยความสำเร็จ หรือเริ่มมีอาการใกล้เคียงอย่างที่แจ๊คหม่าบอก ก็ต้องระมัดระวังเอาไว้พอสมควร เพราะโรคแบบนี้ไม่มีหมอที่ไหนรักษาได้ดีเท่ากับความรู้คิดของตัวเราเองนะครับ



close
ลงทะเบียนกับ WorkVenture เพื่อค้นหางานใหม่ล่าสุดและอ่านรีวิวบริษัทจากผู้ทำงานจริง