ข่าวสารใหม่ๆ | 30 November 2018

บอสคะ Ego ของบอสมันมากไปมั้ยคะ?

Cees ได้ใช้เวลาร่วม 2 เดือนในการปรับตัวให้ชินกับตำแหน่งใหม่ ซึ่งเขาแทบจะไม่ได้เจอกับผู้คนเลย ลิฟท์ตัวนี้นอกจากจะไม่ได้หยุดที่ชั้นอื่น ๆ แล้ว ห้องทำงานปัจจุบันของเขาก็มีแค่คนหน้าเดิม ๆ ที่อยู่ในตำแหน่งบริหาร จนในที่สุด Cees ก็เลือกที่จะย้ายโต๊ะตัวเองลงมานั่งทำงานร่วมกับพนักงานของบริษัท คาร์ลสเบิร์กในออฟฟิศแบบเปิด (Open-plan Office) ที่ชั้นล่าง ๆ เมื่อถาม Cees เรื่องว่าทำไมเขาถึงย้ายโต๊ะ เขาได้ให้เหตุผลว่า “ถ้าผมไม่ได้เจอผู้คน ผมก็คงไม่รู้ว่าพวกเขากำลังคิดอะไร แล้วผมคงจะบริหารอย่างเต็มประสิทธิภาพไม่ได้” เรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้บริหารระดับสูงที่รับมือกับปัญหาต่าง ๆ จากการรู้ข่าวสารในแต่ละแผนกช้าไปได้อย่างตรงจุด ถ้าพูดให้ง่ายที่สุดคือ ตำแหน่งที่ใหญ่ขึ้น จะนำมาสู่อีโก้ที่มากขึ้น กลายเป็นฉนวนป้องกันเสียงจากพนักงาน และนำไปสู่ความไม่เข้าใจในสถานการณ์ต่าง ๆ ทีนี้เรามาลองดูกระบวนการที่อีโก้สร้างสภาวะ “หูดับ” ให้บรรดาหัวหน้าทีมกันดีกว่า

.

Ego เกิดขึ้นมาได้อย่างไร?

.

เมื่อใครซักคนถูกเลื่อนตำแหน่งและมีอำนาจมากขึ้น ผู้คนจะเริ่มเอาใจเขา รับฟังในทุกสิ่งที่เขาพูด เห็นด้วยในทุกสิ่งที่เขาเสนอ หรือแม้แต่หัวเราะให้กับมุกฝืด ๆ ที่เขาเล่น ทั้งหมดนี่ก่อให้เกิดอีโก้ และเมื่ออีโก้เกิดขึ้นแล้วมันก็จะขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งนักประสาทวิทยาชื่อดัง David Owen และศาสตราจารย์ Jonathan Davidson จาก Duke University ได้เรียกสิ่งนี้ว่า “Hubris Syndrome” หรือ “โรคที่เกิดจากการมีอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อำนาจที่เกิดจากความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่และต่อเนื่องนับปี”
เชื่อหรือไม่ ว่า “มุมมอง” และ “คุณค่า” ของคน ๆ หนึ่ง สามารถโดนอีโก้แทรกแซงจนบิดเบี้ยวได้ไม่ยาก ซึ่ง Jennifer Woo ผู้ดำรงตำแหน่ง CEO ของกลุ่มบริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่อย่าง The Lane Crawford Joyce Group ได้กล่าวไว้ว่า “จงรู้จักควบคุมอีโก้ที่กระหายลาภยศและการสรรเสริญ เพราะมันจะส่งต่อภาระหน้าที่ของเรา” เพราะเมื่อมีอีโก้เกิดขึ้น คนเหล่านั้นจะโหยหาอำนาจ ทำให้พวกเขาโดนแทรกแซงได้ง่าย และทำให้มุมมองต่อเรื่องต่าง ๆ แคบลง นำไปสู่พฤติกรรมและแนวคิดที่ผิดเพี้ยน
อีโก้ของเราก็เหมือนกับเป้ายิงธนูที่เราแบกไปไหนมาไหนด้วย ยิ่งอีโก้ใหญ่เป้าก็ยิ่งใหญ่ นั่นหมายถึงเราจะโดนยิงเข้าเป้าได้ง่ายเช่นกัน อีโก้ที่พองโตจึงทำให้ผู้ไม่ประสงค์ดีเข้ามามีบทบาทในชีวิตของเราได้ง่ายขึ้น เพราะมันทำให้เราอยากเป็นจุดสนใจ ทำให้เราหูเบา และทำให้พฤติกรรมของเราคาดเดาได้ง่าย เมื่อเหล่าผู้ไม่ประสงค์ดีที่ล่วงรู้จุดอ่อนข้อนี้ ก็จะมองเราเป็นเหยื่ออันโอชะ และเราก็จะจบลงด้วยการตัดสินใจอะไรแปลก ๆ จากการชี้นำของคนอื่น จนอาจนำไปสู่ปัญหาได้อย่างง่ายดาย

.

Ego ตัวโตเต็มวัย ทำอะไรได้บ้าง?.

.

อีโก้ที่เติบโตได้ที่ จะส่งผลกระทบกับพฤติกรรมของเจ้าของร่างเหมือนกับปรสิตร้าย เมื่อเราเชื่อว่าความสำเร็จทั้งหลายล้วนมีรากเหง้าจากตัวเรา เราจะมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในทางลบ ไม่ว่าจะเป็นความหยาบคายที่มาจากไหนไม่รู้ ความเห็นแก่ตัวที่ไม่เคยมีมาก่อน ตลอดจนการขัดจังหวะคนอื่นโดยไม่แคร์ว่าใครจะมองยังไง ที่สำคัญคือแม้จะโดนเตือนหรือวิจารณ์แง่ลบอย่างไรก็ตาม อีโก้มักจะสร้างอาการ “หูดับ” ในชั่วขณะนั้น และทำให้เราพลาดโอกาสที่จะเรียนรู้จากข้อผิดพลาด ซ้ำร้ายมันยังสร้างกำแพงที่ทำให้เราไม่ยอมรับบทเรียนชีวิตเหล่านี้ด้วย

อีโก้ที่โตเต็มวัย (แต่มันโตได้ไม่สิ้นสุด) จะบดบังวิสัยทัศน์ของเราให้แคบลงเรื่อย ๆ เราจะเห็นแค่สิ่งที่เราอยากเห็น เชื่อแค่ในสิ่งที่เราอยากเชื่อ แถมอีโก้จะสร้างเชื้อร้ายที่ชื่อ “ลำเอียง” แล้วลำเลียงเข้าสู่สมองเราไม่หยุดหย่อน เราอาจจะเสียสายสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่เรากำลังชี้นำ วัฒนธรรมที่เราเคยเป็นส่วนหนึ่ง จนในที่สุด เราอาจจะไม่เหลือเยื่อไยกับลูกค้าหรือแม้แต่ผู้ถือหุ้นของบริษัทอีกต่อไป

 

.

Ego กำจัดไม่ยากจริงอ่ะ?.

.

การจะทำลายโลกแห่งอัตตาที่อีโก้สร้างมาให้เรานั้น ไม่ใช่งานที่ง่ายเท่าไร เราต้องใช้ทั้งเสียงสะท้อนจากคนรอบข้าง ตลอดจนอนัตตา และความกล้าหาญ ถ้าคุณอยากจะลองท้าทายตัวเอง พวกเรามีวิธีดี ๆ มาฝาก

  • พิจารณาสิ่งต่าง ๆ ที่คุณได้รับมาพร้อมตำแหน่ง อะไรที่ส่งผลดีกับงานก็โอเค แต่อะไรที่เสริมเพียง “ฐานะทางสังคม” โดยไม่ค่อยมีผลกับงานนั้น คุณจะปล่อยมันไปบ้างก็ไม่ใช่ไอเดียที่เลวร้ายอะไร เหมือนอย่างที่คุณ Cees (CEO ที่เรากล่าวถึงในย่อหน้าแรก) เลือกย้ายที่นั่งตัวเองไปอยู่ร่วมกับเหล่าพนักงานผู้น่ารัก

  • ทำงานร่วมกับผู้ที่ไม่ทำให้อีโก้ของคุณเติบโต เช่น จ้างพนักงานหน้าใหม่ที่มาพร้อมความมั่นใจในการเสนอสิ่งที่แตกต่าง แม้มันจะขัดกับแนวคิดของคุณไปบ้างก็ตาม

  • ความถ่อมตัวและความนอบน้อม เป็นสิ่งที่ลดความถือตัวได้อย่างน่าทึ่ง ลองใช้เวลาวันละนิดในการพิจารณาผู้คนในแผนกในฐานะผู้สร้างความสำเร็จร่วมกันกับคุณ สิ่งนี้จะช่วยให้เกิดความถ่อมตัวจากการเห็นความจริงว่าความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นเพราะคน ๆ เดียว

กล่าวโดยสรุป อีโก้มาพร้อมกับความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนที่มากขึ้น โต๊ะทำงานที่เปลี่ยนไป ล้วนทำให้เราหลงไหลในอำนาจและคิดว่านั่นคือ “การเป็นผู้นำ” แต่สิ่งเหล่านั้นล้วนเป็นภาพลวงตา การเป็นผู้นำที่ดีไม่ใช่การหลงระเริงกับอำนาจ แต่เป็นการอยู่ร่วมกับผู้คนในทีมอย่างมีความสุข ดังนั้นการไม่ปล่อยให้อีโก้มาควบคุมเรา จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการสร้างความสำเร็จในอนาคตไปพร้อมกับทุก ๆ คน

บทความจาก: https://hbr.org/2018/11/ego-is-the-enemy-of-good-leadership


close
ลงทะเบียนกับ WorkVenture เพื่อค้นหางานใหม่ล่าสุดและอ่านรีวิวบริษัทจากผู้ทำงานจริง