คำแนะนำด้านอาชีพ | 22 July 2022

ทำอย่างไร? เมื่อรู้สึก “หมดใจ” กับงานที่ทำ

ถ้าคุณกำลังตกอยู่ในอาการขาดแรงบันดาลใจในงานที่ทำ จากที่เคยสนุกกลายเป็นเหนื่อยหน่าย จากที่เคยสู้ตายกลายเป็นหมดใจ จนเกิดคำถามกับตัวเองว่า “นี่เรากำลังทำอะไรอยู่กันแน่” เอาน่า! มันไม่ได้แย่ขนาดนั้น สูดหายใจลึกๆแล้วลองอ่านคำแนะนำเหล่านี้ดู!

ภาวะ “หมดใจ” หรือ “Burnout” กับงานที่ทำคืออะไรนะ?


ภาวะหมดไฟ มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Burnout Syndrome คือภาวะการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจที่เกิดจากความเครียดเรื้อรังในที่ทำงาน และไม่ได้รับการจัดการที่เหมาะสม โดยภาวะหมดไฟนี้จะทำให้เรารู้สึกเหนื่อยล้าทางอารมณ์ ไม่มีพลังใจไปทำงาน บางคนอาจมีทัศนคติเชิงลบต่อความสามารถในการทำงานของตัวเอง ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง หรือรู้สึกห่างเหินจากเพื่อนร่วมงานและไม่รู้สึกผูกพันกับสถานที่ทำงานได้อีกด้วย

โดยอาการเหล่านี้หากไม่ได้รับการจัดการที่มีประสิทธิภาพอาจส่งผลต่อการทำงานได้ เช่น มาสาย ลางานบ่อย หรือถึงขึ้นลาออกได้เลย และหากมีอาการรุนแรงขึ้นก็อาจเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้าได้ด้วยเช่นกัน

สัญญาณเตือนของคนที่กำลังเจอกับภาวะหมดไฟ

  • ด้านอารมณ์ เราอาจรู้สึกหดหู่ ซึมเศร้า หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน หรือไม่พอใจกับงานที่ทำ

  • ด้านความคิด มองคนอื่นในแง่ร้าย หนีปัญหา สงสัยและไม่เชือในศักยภาพของตัวเอง

  • ด้านพฤติกรรม ผัดวันประกันพรุ่ง ไม่กระตือรือร้นในการทำงาน บริหารเวลาไม่ได้ ไม่อยากตื่นไปทำงาน ไม่มีความสุขในการทำงาน

 

4 ข้อที่ควรทำ เมื่อ"รู้สึกหมดใจ"กับที่ทำงาน

1. ถามตัวเองดูสิ่งที่คุณต้องการจากงานที่ทำคืออะไร?

จากงานวิจัยของ Yale โดยศาสตราจารย์ Amy Wrzesniewski แบ่งคนได้ 3 กลุ่ม บางคนเห็นงานของเขาเป็นอาชีพ บางคนเห็นว่างานเพื่อแค่หาเงิน และบางคนเห็นคิดว่าเค้าเกิดมาเพื่อทำสิ่งนี้ ไม่ต้องสงสัยว่ากลุ่มไหนจะสามารถสร้างผลงานและมีความสุขกับงานที่ทำมากที่สุด กุญแจสำคัญก็คือ คุณต้องมุ่งมั่นตั้งใจค้นหาสิ่งที่คุณอยากลงมือทำ และอะไรที่เป็น passion ของคุณ ที่สร้างแรงจูงใจของคุณจริงๆ และเริ่มสร้างมันจากตรงนั้น งานที่คุณทำและสิ่งที่คุณหลงใหลในวัย 20 ปีอาจจะเปลี่ยนไปได้เมื่อเวลาผ่าน อย่าพยายามคาดหวังว่าในวัย 40, 50 หรือ 60 ปี คุณจะต้องมีความทะเยอทะยานเหมือนวัย 20  เพราะถึงแม้ว่าถึงวัยนี้แล้วคุณจะยังไม่เจอสิ่งที่คุณชอบทำจริงๆ อย่างน้อยการหยุดมองหาสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจคุณในวัยนั้นๆก็ได้เพิ่มโอกาสหาความหมายในงานที่ทำอยู่ เพิ่มแรงใจในการทำงานได้

 

 

2. สานต่อจากสิ่งที่ตัวเองถนัด

จากการวิจัยโดยนักวิจัยพฤติกรรมองค์กร Justin Berg, Jane Dutton และ Amy Wrzesniewski ได้แสดงให้เห็นว่าคนเราสามารถจินตนาการและออกแบบงานในรูปแบบของตนเองได้ ตัวอย่างเช่น ผู้เข้าร่วมจากงานวิจัยคนหนึ่ง ได้ออกแบบใช้ความรู้ด้านการตลาดของเธอเพื่อสร้างงานอีเวนท์ ถึงแม้ว่าส่วนนั้นจะไม่ได้เป็นงานของเธอ เธอทำด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ แค่เธอชอบและทำได้ดี และด้วยการทำเช่นนี้เธอจึงสามารถสร้างสรรค์ผลงานให้กับบริษัทและประสบการณ์การทำงานของเธอเองในเวลาเดียวกันอีกด้วย  บางครั้งการปรับเปลี่ยนจุดที่เล็กที่สุด อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่มีคุณภาพในการทำงานของคุณก็ได้นะ

 

 

3. จุดประกาย passion ของคุณนอกเหนือจากงานที่ทำ

อาจจะเป็นงานอดิเรกที่ตัวคุณบอกว่าคุณไม่มีเวลาทำมัน หรืออาจจะเป็นโปรเจคท์ส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานหรืออาชีพของคุณเลย แต่ความพยายามที่สร้างแรงบันดาลใจเหล่านี้สามารถทำให้คุณมีพลังและแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานของคุณหรือเติมพลังให้กับงานที่คุณชอบได้อย่างดีเลยล่ะ

 

4. ถ้าทั้งหมดมันไม่ใช่ ก็ได้เวลาเปลี่ยนแปลงแล้วล่ะ 

การเปลี่ยนอาชีพก็เหมือนกับการเปลี่ยนบ้าน เมื่อคุณซื้อบ้านครั้งแรกคุณก็อาจจะต้องการอะไรบางอย่าง ซึ่งพอเวลาผ่านไปความต้องการนั้นอาจจะเปลี่ยนแปลงไป บางทีคุณโตขึ้นคุณก็อาจจะย้ายบ้านหรือตกแต่งอะไรใหม่ ซึ่งแนวคิดนี้สามารถปรับใช้กับงานได้ เช่น ในตอนนี้งานที่คุณทำอยู่คุณสามารถตกแต่งอะไรเพิ่มเติมได้หรือไม่ หรือคุณต้องการย้ายออกไปจากบ้านเก่าแล้วใช้ชีวิตที่บ้านหลังใหม่ แน่นอนว่าถ้าคุณผิดหวังกับงานที่ทำอยู่แล้วเลือกที่จะเปลี่ยนบ้านนั้น คุณก็จะต้องเตรียมตัวรับความเปลี่ยนแปลงต่างๆด้วยเช่นกัน แต่ก็ดีกว่าการทำงานโดยปราศจากความหวังและความสุข คุณควรหาวิธีที่จะจุดประกาย passion ของคุณอีกครั้ง หรืออย่างน้อยการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยก็อาจจะสร้างผลลัพธ์ที่น่าประหลาดใจให้กับคุณก็ได้นะ

 

 

หากคุณกำลังมองหาตำแหน่งงานใหม่ๆอยู่หละก็ ให้ WorkVenture ช่วยคุณหางานที่ใช่และตรงใจคุณ เพียงลงทะเบียนฝากรีซูเม่ไว้กับเรา จะมีการระบบแจ้งเตือนงานที่เหมาะสมกับความสามารถและไลฟ์สไตล์ของคุณให้ทันที ! คลิก