คำแนะนำด้านอาชีพ | 9 July 2023

ขอลาออกยังไงไม่ให้น่าเกลียด

กว่าจะเข้ามาทำงานได้ก็ยากแล้ว แต่อีกหนึ่งความยากลำบากที่สุดของมนุษย์เงินเดือนก็คือ “การลาออก” ที่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เมื่อตัดสินใจดีที่จะลาออกแล้ว ก็ต้องมีขั้นตอนการบอกกล่าวให้กับองค์กรรับทราบ ไม่ใช่คิดจะลาออก ก็ออกกันได้ดื้อๆ เพราะการลาออกด้วยการจากลาที่ดีย่อมเป็นสิ่งที่ทั้งหัวหน้า เพื่อนร่วมงานและองค์กรปรารถนาจากเรา วันนี้ WorkVenture มีขั้นตอนง่ายๆ ก่อนจะก้าวออกจากองค์กรแบบจากกันด้วยดีมาฝากกัน
 

1. วางแผนลาออกล่วงหน้า แล้วเก็บเป็นความลับไว้ก่อน

การวางแผนและไตร่ตรองให้ดีก่อนลาออกเป็นเรื่องสำคัญ ควรตรวจสอบสัญญาจ้าง และข้อปฏิบัติในการลาออก คุณไม่ควรบอกใครต่อใครว่าจะลาออก เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนถ้ารู้ถึงหูพนักงานคนอื่นแล้ว คุณจะตกเป็นประเด็นในวงสนทนาในแง่ต่างๆ ที่สำคัญอย่าพึ่งบอกเรื่องนี้กับหัวหน้าของคุณ จนกว่าจะแน่ใจแล้วว่าคุณพร้อมกับการลาออกแล้วจริงๆ

 


 

2. ขอเข้าพบ แล้วแจ้งกับหัวหน้าโดยตรง

ไหนๆ คุณก็ตัดสินใจลาออกแล้ว คุณก็ควรบอกเจ้านายด้วยตัวเอง บอกถึงเหตุผลที่ทำให้คุณตัดสินใจลาออก หากเข้าหาในตอนที่เขายุ่งมากเกินไป มันอาจจะทำให้เกิดความขุ่นเคืองใจกันได้ ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ คุณควรรอจนกว่าหัวหน้าจะมีเวลามากพอรับฟังการแจ้งหรือยื่นใบลาออกของคุณ และทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรโดยแจ้งล่วงหน้าไปยังบริษัทอย่างน้อย 1 เดือนด้วย

ตัวอย่างเหตุผลในการลาออก

  • ต้องการความก้าวหน้าในสายอาชีพ : โดยปกติแล้ว คนทำงานทุกคนย่อมต้องการความก้ามหน้าในสายอาชีพ หากงานเก่ามาถึงทางตันและไม่สามารถขยับให้สูงขึ้นได้
  • สไตล์การทำงานไม่ตรงกับหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมทีม : เหตุผลนี้ค่อนข้างต้องระมัดระวังและใช้เหตุผลที่เหมาะสมมากพอเพื่อไม่ให้เกิดผิดใจกัน ดังนั้นหากจะแจ้งเรื่องลาออกกับหัวหน้าด้วยเหตุผลนี้ ก็อาจต้องหาเหตุผลอื่นมาสนับสนุนด้วยเช่นกัน
  • อยากเปลี่ยนสายงาน : คนเราย่อมมีความถนัดหลายด้าน บางครั้งเมื่อทำสิ่งเดิมๆ ซ้ำๆ ทุกวันเป็นเวลานาน ก็อาจเกิดอาการ Burn Out หรือรู้สึกอิ่มตัวได้ ดังนั้นการแจ้งเหตุผลในการออกว่าอยากเปลี่ยนสายงาน จึงถือเป็นเหตุผลที่ฟังขึ้น
  • เป้าหมายของเรากับองค์กรไม่ตรงกัน : อาจส่งผลเกิดความขัดแย้งในใจไม่รู้จะทำงานไปเพื่ออะไร และขาดแรงจูงใจในการทำงาน รู้สึกว่าไม่สามารถแสดงศักยภาพในการทำงานได้เต็มที่ และเสียโอกาสในการพัฒนาตัวเองตามเป้าหมายอาชีพที่เราวางไว้
  • งานที่ทำไม่ตรงกับทักษะความสามารถ : ถ้าคุณทำงานแล้วรู้สึกว่างานที่ทำไม่ตรงกับทักษะความสามารถ และหากไม่สามารถขอย้ายแผนกหรือปรับหน้าที่รับผิดชอบได้ อาจถึงเวลาที่คุณต้องมองหาอาชีพหรือองค์กรที่เหมาะกับความสามารถและสไตล์การทำงานของคุณแล้ว



 

3. เตรียมการส่งงานต่อ

พยายามทำงานที่ค้างอยู่ให้เรียบร้อย เพื่อส่งต่อให้ใครก็ตามที่อาจจะมาแทนตำแหน่งคุณ รวมถึงการจัดทำไฟล์งานเพื่อระบุตำแหน่งที่คุณเก็บข้อมูลต่างๆ ไว้ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณทำงานแบบเป็นทีม หลังจากการแจ้งหรือยื่นใบลาออกล่วงหน้าแล้ว คุณควรนัดแนะกับทีมงานของคุณเกี่ยวกับการหาคนมาสืบทอดหรือมอบหมายหน้าที่การงานด้วย

 

 

4. คิดให้ดี เพื่อแน่ใจว่าการลาออกเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดแล้ว

บางครั้งทางบริษัทอาจเสนอเงื่อนไขเพื่อให้คุณอยู่ต่อ ดังนั้น หากคุณต้องการลาออกจริงๆ ก็จงหนักแน่นเข้าไว้ และ แสดงความรู้สึกว่าคุณซาบซึ้งใจในการทำงานที่นี่ แม้ว่าคุณจะเบื่องานของคุณแล้ว แต่ให้ลองมองข้อดีอื่นๆ มาพูด เช่น คุณดีใจมากที่ได้ร่วมงานกับบริษัทนี้ และคุณรู้สึกดีกับหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานทุกคน แต่ก็อาจจะมีเหตุผลบางประการที่ทำให้ต้องย้ายงานหรือลาออก


5. เลือกออกช่วงที่สถานการณ์ยังราบรื่น

หลายคนอยากลาออกเพราะรู้สึกไม่สนุก เบื่อ ไม่มีความสุขกับงานที่ทำอยู่ หรือมีปัญหากับนายจ้าง ในช่วงที่คุณรู้สึกรับภาระในหน้าที่ของตนเองต่อไปไม่ไหวแล้ว คุณก็ไม่ควรนำเหตุผลเหล่านี้มาใช้กับการลาออกจากงาน แน่นอนว่า เรื่องแบบนี้ก็น่าเห็นใจอยู่ แต่หากคิดจะลาออก คุณควรเก็บเรี่ยวแรงไว้ทำงานชิ้นสุดท้ายให้ดีที่สุด เพราะในอนาคตคุณอาจจะต้องใช้จดหมายอ้างอิงการทำงานจากเจ้านาย หรือบังเอิญต้องร่วมงานกับคนในบริษัทเดิมของคุณ ดังนั้น มันจะดีที่สุด หากทุกคนจดจำคุณในฐานะพนักงานที่ดีและทุ่มเทให้กับการทำงาน



 

สำหรับใครที่มีความรู้สึก อยากเปลี่ยนไปหางานใหม่ หรืออยากลาออกเพราะเหตุผลอื่นๆ การย้ายงานหรือการลาออกนั้นสำหรับใครหลายๆคน ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย สำหรับคนที่ยังมีความลังเล ให้ลองถามตัวเอง และลองฟังคำแนะนำจากผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่า หรือลองอ่านคำแนะนำเหล่านี้ดูนะ สุดท้ายนี้ถ้าเป็นไปได้คุณควรมองหางานใหม่ก่อนที่คุณจะตัดสินใจลาออกนะ จะได้ไม่พลาด