ไลฟ์สไตล์ | 5 April 2016

การมีความคิดอิสระไม่สำคัญในสังคมไทยจริงหรือ?

สำหรับชาวตะวันตก การมีความคิดอิสระนั้นมีผลสำคัญเป็นอย่างมาก แทบเรียกได้ว่ามีความจำเป็นต่อธุรกิจในทุกๆประเภท เนื่องจากเศรษฐกิจโลกขับเคลื่อนและขยายตัวอย่างรวดเร็ว อย่างที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ รวมถึงการแข่งขันทางด้านธุรกิจที่ห้ำหั่นกันอย่างรุนแรงชนิดที่เรียกได้ว่ากิจการของคุณจะก้าวไปสู่ระดับท็อปไหม ก็ขึ้นอยู่กับการมีความคิดนอกกรอบนี่เอง

 

ถ้าอย่างนั้น แล้วทำไมจากผลสำรวจของ WorkVentureถึงชี้ออกมาว่าคนไทยในยุคนี้ไม่จำเป็นต้องมี "ความคิดนอกกรอบ" ในการทำงานล่ะ? จากผลสำรวจล่าสุดนี้กับคำถามที่ว่าทักษะอะไรที่มีความจำเป็นที่สุดในการทำงาน กลับพบว่า "การมีความคิดสร้างสรรค์" นั้นมีความจำเป็นน้อยที่สุดเป็นอันดับ 2 แต่ก็ยังมากกว่าทักษะ "การใช้เทคโนโลยี" ซึ่งอยู่ในลำดับสุดท้าย! นี่ยังไม่รวมถึงคำถามต่อมา ที่ว่าพวกเขาอยากจะเรียนรู้หรือพัฒนาความสามารถด้านไหนมากที่สุด? และแน่นอนว่า อันดับของ "การมีความคิดนอกกรอบ" ก็อยู่ท้ายแถว อีกเช่นกัน

 

 

แล้วทำไมคนไทยรุ่นใหม่ไฟแรงอย่างเราๆถึงควรให้ความสำคัญกับการใช้ความคิดอิสระมากขึ้นล่ะ?

 

จากผลสำรวจของบริษัท IBM ที่ได้สำรวจทั้งหมด 1,500 บริษัทชั้นนำ ว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดที่เหล่าบริษัทมองหาในตัวพนักงานของพวกเขานั้น ซึ่งแน่นอน คำตอบก็เหมือนกันโดยมิได้นัดหมายว่า การมีความคิดสร้างสรรค์ มีไอเดียใหม่ๆและสามารถแก้ไขจัดการปัญหาต่างๆได้นั้น สำคัญยิ่งกว่าใบแสดงวุฒิการศึกษาเสียอีก ผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่มักมองว่าการที่คนเรามีความคิดใหม่ๆ ไอเดียใหม่ๆได้เสมอนั้น จะสามารถไต่ระดับตำแหน่งการทำงานมาอยู่ระดับที่สูงขึ้นได้ คนที่มองหาแนวทางใหม่ๆ ก้าวข้ามกรอบความรู้ของตัวเอง กล้าที่จะตั้งคำถามและหาวิธีแก้ไขปัญหาในทางอื่นที่ไม่ซ้ำรอยเดิม เพื่อเพิ่มพูนกำไรให้กับองค์กรของตนนั้น มักมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานเร็วขึ้น

 

 

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าพวกเรายังไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้?

 

ก่อนอื่นเลย ถ้าคนยุค Gen Y อย่างเรา (วัยที่เพิ่งเรียนจบและเริ่มทำงาน) ยังคงคิดว่าการมีทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ไม่มีผลต่อการทำงาน เราก็จะยังคงติดอยู่ในกรอบในตำแหน่งงานเดิมๆ ไม่มีความก้าวหน้าหรือการเติบโตใดๆในอนาคต

 

อย่างที่ทราบกันว่าชาวต่างชาติให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และในปัจจุบันเด็กชาวต่างชาติจบใหม่ก็มักแข่งกันสร้างผลงานด้วยความคิดนอกกรอบในแนวของตน ซึ่งบริษัทในไทยส่วนใหญ่ก็ต้องแข่งขันกับบริษัทต่างชาติ นั่นจึงเป็นเหตุที่ผลักดันให้บริษัทไทยเริ่มจ้างชาวต่างชาติมาทำงานตำแหน่งบริหารและตำแหน่งสูงๆ เพราะพวกเขามีทักษะในการแก้ไขปัญหา และมีความสามารถที่มากกว่า

 

แล้วเราจะพัฒนาทักษะด้านนี้ได้อย่างไรกัน?

 

เรามีวิธีที่ง่ายๆและน่าสนุกมานำเสนอ และก็มีวิธีที่ท้าทายมากกว่านี้ที่สามารถนำมาปรับใช้ได้อีกด้วยเช่นกัน ถ้าอย่างนั้นเรามาเริ่มด้วยวิธีง่ายๆกันก่อนดีกว่า

 

 

1. ฟังเพลง – เสียงเพลงจะไปช่วยกระตุ้นสมองด้านการควบคุมความรู้สึก การเคลื่อนไหว รวมถึงการสร้างสรรค์ความคิดใหม่ๆขึ้นได้ เพลงคลาสสิคจะช่วยเพิ่มศักยภาพได้ดีขึ้น อย่างที่เรารู้จักกันดี นั่นคือ “ทฤษฎีโมสาร์ท” (The Mozart Effect) ซึ่งการฟังเพลงของโมสาร์ทนั้นจะไปช่วยกระตุ้นการทำงานด้านกระบวนความคิดและการสร้างสรรค์ให้ทำงานได้ดีขึ้น

 

 

2. ออกไปดื่มสังสรรค์บ้าง –  จากการศึกษาหนึ่ง พบว่าคนที่ดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งปกติโดยเฉลี่ยประมาณ 3 แก้ว จะสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆได้ดีกว่าคนที่ไม่ดื่มเลย ใช่ครับ มันเป็นเรื่องจริง! เพราะระดับปริมาณน้อยนิดของแอลกอฮอล์ก็มีผลทำให้มีความคิดนอกกรอบได้ง่ายขึ้น สามารถประติดประต่อนำไอเดียต่างๆมาประสานกันได้ 

 

 

3. มองสิ่งที่มีสีฟ้าหรือสีเขียว – เนื่องจากสีพวกนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบความคิดของเราให้ดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งนักวิจัยได้กล่าวเอาไว้ว่า เมื่อเรามองไปยังสีฟ้านั้น มันจะให้ความรู้สึกถึงสีของน้ำในมหาสมุทร สีของท้องฟ้า หรือความรู้สึกปลอดโปร่งโล่งสบาย ในขณะที่สีเขียวให้ความรู้สึกถึงการเติบโต ธรรมชาติ เป็นต้น

 

4. การหัวเราะ – จากการค้นคว้าที่ได้ พบว่าการมีอารมณ์ร่าเริงแจ่มใส จะช่วยทำให้คิดไอเดียใหม่ๆได้ง่ายขึ้น เพราะมันจะช่วยกระตุ้นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความคิด การรับรู้ การตัดสินใจ และด้านอารมณ์ เพราะฉะนั้นมาหัวเราะกันเถอะ ฮ่าๆๆๆ

 

5. การเล่นเกม – ฟังดูอาจจะย้อนแย้งกับที่นักข่าวช่องนึงในไทยเคยบอกให้ไปเผาเกมทิ้ง แต่แน่นอนว่าการเล่นเกมนั้นจะช่วยทำให้เรามีอารมณ์สดใสขึ้น เหมือนเป็นเครื่องชาร์จพลังงานให้กับเราและทำให้เราผุดไอเดียต่างๆได้ดีมากขึ้นอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น เกมส์เทนนิสในคอนโซล Wii เป็นต้น  

 

 

6. สร้างห้องแห่งความคิดขึ้นมา – ห้องในที่นี้คือห้องจริงๆนะครับ ไม่ใช่ปราสาททางความคิดอย่างที่เข้าใจ โดยคุณอาจใช้ห้องว่างในบ้านหรือที่ทำงาน มาทำเป็นห้องที่มีสิ่งของต่างๆที่เกี่ยวข้องกับงานอดิเรกของคุณ เช่น ถ้าคุณมีความสุขที่ได้อ่านหนังสือ ก็มีหนังสือเล่มโปรดของคุณไว้ในห้อง ซึ่งมันจะช่วยทำให้ระลึกถึงความทรงจำที่เป็นความสุขของคุณ มุมมองในสิ่งต่างๆเกี่ยวกับงานก็จะเด่นชัดขึ้น และสมองก็จะช่วยคุณคิดได้ดีขึ้นเมื่อคุณเข้าไปอยู่ในห้องนั้นเวลาต้องการไอเดียใหม่ๆ

 

เอาล่ะครับ ทีนี้เรามาพูดถึงวิธีที่ท้าทายขึ้นอีกหน่อยบ้างดีกว่า

 

1. การจำกัดตัวเอง – อย่างที่หลายคนอาจจะทราบกันว่า ด.ร. ซุส (Dr. Seuss) ผู้เขียนชื่อดังเรื่อง ไข่เขียวและแฮม ได้เขียนงานชิ้นนี้ขึ้นมาหลังจากโดนปรามาศว่า เขาไม่มีทางเขียนเรื่องนี้จบได้โดยใช้คำไม่เกิน 50 คำ ซึ่งการวิจัยก็แสดงให้เห็นว่า ด.ร.ซุส นั้นสามารถทำได้ คนส่วนใหญ่มักไม่กล้าทำอะไรแตกต่างจากคนอื่น ยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ ทำอะไรในสิ่งที่ทำตามๆกันมา ทำให้ได้ไอเดียที่ไม่ค่อยแตกต่างกันมากนักเมื่อต้องมาระดมความคิดในการวางแผนงานกัน คุณอาจจะเลียนแบบงานของ ดร.ซุส และจำกัดตัวเองในการสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งมันก็จะไม่ต่างอะไรกับงานที่สำเร็จในอดีตเหมือนลอกๆกันมา ดังนั้นแล้ว ถ้าคุณเขียนผลงานชิ้นนึงใช้คำประมาณ 1,000 คำ โดยเฉลี่ยต่อเรื่อง ลองเขียนไปในแนวทางใหม่ อย่างเช่นลดคำที่ใช้ในการเขียนให้จบเรื่องภายใน 500 คำ เหมือนหนังที่ใช้ทุนเพียงน้อยนิดก็สามารถสร้างจนประสบความสำเร็จฮิตกันถล่มทลายได้

 

 

2. พกสมุดบันทึกคู่ใจไปด้วย – เมื่อใดก็ตามที่คุณเผชิญปัญหาหรือเจออะไรก็ตามแต่ หมั่นจดบันทึกเอาไว้ นั่นรวมถึงเมื่อใดก็ตามที่คุณมีความคิดใหม่ๆแล่นเข้ามาในหัวด้วยเช่นกัน และเมื่อคุณกลับมาอ่านอีกครั้งนั้น คุณก็จะสามารถต่อยอดความคิดจากสิ่งต่างๆที่คุณจดบันทึกเอาไว้ได้นั่นเอง

 

3. กลับมามองที่ปัญหาอีกครั้ง  – แทนที่คุณจะไปมองถึงเรื่องเป้าหมายในสิ่งที่คุณจะทำ มันจะดีกว่าไหมถ้าเรากลับมามองที่การตั้งโจทย์ปัญหาอีกครั้งเพื่อหาแนวทางใหม่ มุมมองใหม่ๆก่อนที่จะเริ่มทำมัน (ยกตัวอย่างเช่น คุณอยากจะวาดรูปที่เป็นที่น่าจดจำ แต่ถ้าเราตีความคำถามเป็นอีกมุมนึง เช่น จะวาดรูปยังไงที่จับใจคนดู หรือมองรูปวาดนี้แล้วให้ความรู้สึกถึงความรัก) เหมือนอย่างเช่นคำของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) ที่ได้กล่าวเอาไว้ว่า “ถ้าผมมีเวลา 1 ชั่วโมงในการแก้โจทย์ปัญหา ผมจะใช้เวลา 55 นาที ในการคิดวิเคราะห์เกี่ยวกับปัญหาของโจทย์นั้น แล้วค่อยใช้อีก 5 นาทีเพื่อหาคำตอบ”

 

 

เท่านี้ก็พอจะตระหนักถึงความสำคัญของการมีความคิดอิสระแล้วใช่ไหมครับว่า ไม่เพียงแค่ในชีวิตการทำงาน แต่รวมไปถึง การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วย ว่าเราจะสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆบนโลกนี้ได้ยังไง ถ้าคุณอยากให้ทักษะในการทำงานของพนักงานองค์กรต่างๆของไทยดีขึ้น และเติบโตไปด้วยกัน มันถึงเวลาแล้วที่คุณควรนำเอาข้อแนะนำเหล่านี้มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันของคุณ สุดท้ายแล้ว หากต้องการความช่วยเหลือหรือมีข้อสงสัยใดๆเกี่ยวกับทักษะการมีความคิดอิสระ สามารถส่งอีเมลมาหาทีมงาน WorkVenture ได้นะครับ ทางเรายินดีให้ความช่วยเหลืออยู่เสมอ